Skip to main content

ทำอย่างไรเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก

ทั่วโลกขณะนี้กำลังมีข่าวการกลับมาของโรคไข้หวัดนก มีการยืนยันว่ามีการติดเชื้อ H7N3 หลายเคสในสหัรัฐอเมริกา และยังมีรายงานการติดเชื้อ H5N8 ในโปแลนด์ ฮังการี บัลแกเรีย เชครีพลับบลิค ยูเครน และเยอรมันนี ในขณะที่มีการตรวจพบ H5N6 และ H5N1 ในเวียดนามและฟิลิปปินส์ ประเทศเหล่านี้มีการกำจัดนกจำนวนหลายพันตัวตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เพื่อยับยั้งการระบาดของไข้หวัดนก บทความนี้จะบอกสัญญาณและอาการของไข้หวัดนก รวมถึงวิธีป้องกันและการรักษาโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก

 

สัญญาณและอาการของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก

ไข้หวัดนกเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด A ซึ่งสามารถติดเชื้อทั้งนกป่าและนกเลี้ยง

ไวรัสไข้หวัดใหญ่ในนกแบ่งได้เป็นสองชนิดคือ ชนิดที่ก่อให้เกิดโรครุนแรง (HP) และชนิดไม่รุนแรง (LP) ไข้หวัดนกสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรครุนแรง (HP) สามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในนกและอาจทําให้อวัยวะภายในล้มเหลวเฉียบพลันและมีอัตราการตายสูง ส่วนสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคชนิดไม่รุนแรง (LP) นั้น จะทำให้มีการติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ, โรคระบบทางเดินหายใจหรืออาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการผลิตไข่ลดลง

 

อาการบ่งชี้ของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก:

  • การเสียชีวิตอย่างฉับพลันโดยไม่มีสัญญาณใดๆ

  • หงอน เหนียง และขามีสีม่วงคล้ำ

  • มีอาการบวมที่หัว เปลือกตา เหนียง หงอนและขา

  • เปลือกไข่นิ่มหรือไข่ผิดรูป

  • การผลิตไข่ลดลง

  • ความอยากอาหารลดลง ไม่มีแรง การตอบสนองลดลง

  • ท้องเสีย

  • มีน้ำมูก

  • ไอหรือจาม

  • ขนยุ่ง

 

วิธีการป้องกันไข้หวัดนกในสัตว์ปีก

ไวรัสไข้หวัดนกแพร่กระจายผ่านการสัมผัสโดยตรงกับนกที่ติดเชื้อหรือผ่านอาหารที่ปนเปื้อน, น้ำ, อุปกรณ์และเสื้อผ้า ดังนั้นความปลอดภัยทางชีวภาพเป็นวิธีการป้องกันด่านแรกที่สําคัญที่สุดสำหรับฟาร์ม

ต่อไปนี้คือข้อแนะนำเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสำหรับฟาร์มสัตว์ปีก:

1. ลดสิ่งที่ดึงดูดสัตว์ป่าให้เข้ามาในบริเวณฟาร์ม:

  • กำจัดแหล่งน้ำขัง: ปรับพื้นที่โดยรอบไม่ให้มีแอ่งน้ำขังที่สัตว์ตามธรรมชาติจะเข้ามาดื่มกิน และหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้หรือการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ใกล้แหล่งน้ำที่สัตว์ตามธรรมชาติใช้

  • ลดแหล่งอาหาร: อย่าให้อาหารสัตว์ป่า, ทําความสะอาดพื้นที่เก็บอาหาร, กำจัดหญ้าและผลไม้ที่ร่วงจากต้นไม้อย่างสม่ำเสมอ

  • ปิดคลุมของเสียหรือขยะให้มิดชิด: อย่ากองวัสดุรองพื้นที่ใช้แล้วใกล้โรงเก็บอาหาร, ปิดฝาถังขยะให้มิดชิด, คลุมปิดซากสัตว์ให้เรียบร้อย

2. ป้องกันการสัตว์ป่าไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ฟาร์ม: ติดตั้งตาข่ายกันหรือใช้อุปกรณ์ป้องกันนกมาเกาะ เช่นเจลไล่นกหรือหนามกันฝนกเกาะ

3. ไม่ให้สัตว์ที่เลี้ยงเข้าใกล้บริเวณที่นกป่ามักจะมาอยู่: เก็บสัตว์ของคุณเข้าเล้าหรือโรงเลี้ยงในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงสูงที่จะสัมผัสกับนกป่า หากไม่สามารถทำได้ โปรดแน่ใจว่านกป่าไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารและแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ในฟาร์ม

4. ปิดคลุมกรงเลี้ยงกลางแจ้ง: ป้องกันสัตว์ที่คุณเลี้ยงนอกอาคารไม่ให้มีการสัมผัสกับนกป่า เช่นนกที่เลี้ยงในกรงกลางแจ้ง

5. ควบคุมการเข้าออกของคนและการขนย้ายอุปกรณ์เข้าไปในบริเวณโรงเลี้ยง: หากทราบว่ามีนกป่าที่ติดเชื้ออยู่ในพื้นที่ ให้ลดการเข้าออกของคน ยานพาหนะ และการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์เข้าไปในบริเวณโรงเลี้ยง เปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนและหลังเข้าไปในโรงเลี้ยง ทั้งผู้ที่ทำงานในฟาร์มและผู้มาติดต่อ

6. รักษาสุขอนามัยในบริเวณฟาร์ม กรงหรือโรงเลี้ยง อุปกรณ์ ยานพาหนะและรองเท้า: มีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ สําหรับฟาร์มเอกชนควรทําความสะอาดและฆ่าเชื้อที่กรงหรือโรงเลี้ยงหลังจบรอบการผลิตทุกครั้ง ล้างมือของคุณก่อนและหลังการสัมผัสกับสัตว์

7. หลีกเลี่ยงการนําสัตว์ที่ไม่ทราบสถานะสุขภาพเข้าร่วมกลุ่ม: ควรรับสัตว์จากแหล่งที่สามารถตรวจสอบได้ว่าปราศจากโรค จากนั้นกักตัวสัตว์ใหม่เป็นเวลาสองสัปดาห์เพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์แข็งแรงดี ก่อนนำไปรวมในฝูง

8. รายงานการเจ็บป่วยและการตายของนก: ติดต่อสัตวแพทย์หากสงสัยว่ามีการเกิดโรคในฟาร์ม หากสังเกตเห็นความผิดปกติได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยปกป้องสัตว์ในฟาร์มจากการติดเชื้อได้ทันท่วงทีมากขึ้น

9. กําจัดมูลสัตว์และซากสัตว์ที่ตายอย่างเหมาะสม

10. เฝ้าระวังอยู่เสมอ: ปฏิบัติตามกฎระเบียบในพื้นที่เกี่ยวกับการเฝ้าระวังการเกิดโรคและวิธีปฏิบัติขั้นพื้นฐาน

 

การรักษาไข้หวัดนกในสัตว์ปีก

การรักษาด้วยยาต้านไวรัสยังไม่ได้รับการอนุมัติหรือแนะนํา ระบบการตรวจสอบในฟาร์มและมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพจึงเป็นการป้องกันที่ดีที่สุดในขณะนี้

ในกรณีที่ตรวจพบโรค มาตรการการแยกและทำลายสัตว์จะถูกนํามาใช้เพื่อยับยั้งการระบาดของโรค เมื่อมีการใช้มาตรการนี้องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) แนะนําให้:

  • ทําลายสัตว์ที่ป่วยหรือสัมผัสเชื้ออย่างมีมนุษยธรรม

  • กําจัดซากสัตว์ที่ตายและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์อย่างเหมาะสม

  • เฝ้าระวังและการติดตามนกเลี้ยงที่อาจติดเชื้อหรือสัมผัสเชื้อ

  • กักกันและการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์และยานพาหนะที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ

  • ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อสถานที่ที่อาจมีการปนเปื้อนเชื้อโรค

  • เว้นระยะเวลาอย่างน้อย 21 วันก่อนการนำสัตว์กลุ่มใหม่เข้ามาเลี้ยง

การฉีดวัคซีนสามารถช่วยให้การกำจัดโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับวิธีการควบคุมอื่น ๆ การฉีดวัคซีนอาจช่วยป้องกันสัตว์ที่แข็งแรงไม่ให้ติดเชื้อและจำกัดการส่งผ่านเชื้อโรคระหว่างสัตว์ได้

คุณรู้หรือไม่?

  • คุณควรจัดเตรียมเนื้อสัตว์ปีกดิบเพื่อประกอบอาหารอย่างถูกสุขลักษณะและปรุงเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์ปีก (รวมทั้งไข่) ให้สุกอย่างทั่วถึงก่อนรับประทาน

  • แม้ว่าไวรัสไข้หวัดนกมักไม่ติดต่อสู่คน แต่ก็มีรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก หลังจากสัมผัสนกที่ติดเชื้อโดยไม่มีการป้องกันหรือสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนไวรัสไข้หวัดนก (CDC, 2017).

  • H5N1 เป็นไวรัสไข้หวัดนกชนิดรุนแรง (HPAI) ซึ่งอันตรายถึงชีวิตสําหรับทั้งสัตว์ปีกและมนุษย์ พบว่ามีมนุษย์ติดเชื้อไวรัสนี้ครั้งแรกในปี 1997 ตั้งแต่พฤศจิกายนปี 2003 เป็นต้นมา ไวรัส H5N1 ทำให้ 50% ของผู้ที่ติดเชื้อเสียชีวิต (WHO, 2020).

  • H1N1 เป็นไข้หวัดหมู แม้ว่าจะเป็นอันตรายถึงตายเหมือนกัน แต่ก็เป็นเชื้อที่แตกต่างจากเชื้อ H5N1 ซึ่งเป็นไข้หวัดนก

  • ไข้หวัดนก H7N9 ได้รับการจัดอันดับโดย Influenza Risk Assessment Tool ว่าเป็นไวรัสที่มีศักยภาพมากที่สุดที่จะทำให้เกิดการระบาดในวงกว้าง และเป็นความเสี่ยงสูงสุดต่อสุขภาพของประชาชน หากมันสามารถแพร่จากมนุษย์สู่มนุษย์ได้อย่างถาวร

  • มนุษย์มักติดเชื้อผ่านการสัมผัสใกล้ชิดกับนกที่ติดเชื้อ ในขณะที่นกจะหลั่งไวรัสนี้จะออกมาในมูลของมันด้วย ดังนั้นการสัมผัสกับมูลนกก็ทำให้ติดเชื้อได้เช่นกัน

 

อ้างอิง

World Health Organization (2020), Cumulative number of confirmed human cases for avian influenza A(H5N1) reported to WHO, 2003-2020, 28 February 2020 table Centers for Disease Control and Prevention (2017), Avian Influenza A Virus Infections in Humans

 

Loading...