Skip to main content

เผยข้อมูลเชิงลึกของสารพิษจากเชื้อราในอาหารกุ้งปี 2023

ในปี ค.ศ.2020 กุ้งขาวแปซิฟิกหรือที่เรียกว่า Litopenaeus vannamei กลายเป็นอาหารทะเลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดโดยมีปริมาณการผลิต 5.8 ล้านตัน คิดเป็น 12% ของผลผลิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งหมด ตามรายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในปีค.ศ.2022 อุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งทั่วโลกส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงในละตินอเมริกา ซึ่งป้อนผลิตผลให้แก่ตลาดในอเมริกาเหนือ ยุโรป และญี่ปุ่น

การเปลี่ยนแปลงของส่วนผสมในอาหารกุ้ง

กุ้งมีความต้องการอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน โดยในอดีตส่วนใหญ่มาจากปลาป่นที่ได้จากปลาที่อยู่ในระดับล่างของการกินอาหาร (low-trophic) ซึ่งจับได้ตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตามด้วยราคาที่สูงขึ้นและปลาป่นที่หาได้มีจํากัดมากขึ้น ได้มีการวิจัยอย่างกว้างขวางที่ได้ทุ่มเทให้กับการหาสิ่งที่จะนำมาเป็นอาหารให้กุ้ง ซึ่งหมายถึงการสํารวจแหล่งโปรตีนทางเลือกรวมถึงแหล่งโปรตีนจาก พืช สัตว์ และแหล่งโปรตีนเซลล์เดียว (Chen et al. 2023)

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาแหล่งโปรตีนจากพืชได้รับความนิยมในสูตรอาหารกุ้งเชิงพาณิชย์เพื่อทดแทนปลาป่น สารทดแทนจากพืชเหล่านี้ครอบคลุมแหล่งอาหารทางเลือกที่หลากหลาย เช่น กากถั่วเหลือง, กากเมล็ดฝ้าย, กากเรพซีด, กากถั่วลิสง และ กากเมล็ดทานตะวัน นอกจากนี้ ธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ และผลพลอยได้ของธัญพืชเหล่านี้ เช่น กลูเตนข้าวโพด และรําข้าวสาลี รวมถึงกากดีดีจีเอส (DDGs) ก็ได้ถูกนำมาใช้ในสูตรอาหารกุ้ง

การใช้วัตถุดิบจากพืชที่เพิ่มขึ้นในอาหารสัตว์น้ำซึ่งรวมถึงอาหารกุ้ง มาพร้อมกับปัญหาทางโภชนาการบางอย่าง ปัญหาเหล่านี้ ได้แก่ การขาดกรดอะมิโน ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความน่ากินของอาหาร การย่อยได้ที่ลดลง และการพบสารที่ลดหรือต่อต้านโภชนาการ นอกจากนี้การใช้ส่วนผสมจากพืชที่เพิ่มขึ้นทําให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการนําสารพิษจากเชื้อราเข้าสู่อาหารสัตว์ ซึ่งจะเป็นปัญหาสําคัญสําหรับความปลอดภัยของอาหารสัตว์ในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

สารพิษจากเชื้อราเป็นสารพิษที่ผลิตโดยเชื้อรา พวกมันสามารถปนเปื้อนในพืชทั้งก่อนหรือหลังการเก็บเกี่ยว ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและระดับความชื้นที่มีอยู่ สารพิษจากเชื้อราเหล่านี้มีเส้นทางที่จะเข้าไปปนเปื้อนในส่วนผสมอาหารและอาหารสัตว์ที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ในที่สุด

การศึกษาในปี ค.ศ. 2021 (Koletsi et al.) ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับความชุกของสารพิษจากเชื้อราในวัตถุดิบและตัวอย่างอาหารสัตว์น้ำในช่วงปี 2012–2019 โดยใช้การวิเคราะห์ด้วยวิธี Liquid Chromatography - Mass Spectrometry (LCMS, LC-MS) ที่ห้องปฏิบัติการ Alltech 37+ ® จากตัวอย่างข้าวสาลีที่ได้ทดสอบ พบว่า 80% ของตัวอย่างทั้งหมด ตรวจพบสารพิษจากเชื้อราอย่างน้อยหนึ่งชนิด โดย 63% มีสารพิษจากเชื้อราหลายชนิด ในทํานองเดียวกัน 93% ของตัวอย่างข้าวโพดที่ถูกตรวจวิเคราะห์ มีสารพิษจากเชื้อราอย่างน้อยหนึ่งชนิด โดย 88% ตรวจพบสารพิษจากเชื้อราหลายชนิด กากถั่วเหลืองก็เช่นเดียวกัน จาก 87% ของตัวอย่างที่ทดสอบ ตรวจพบสารพิษจากเชื้อราอย่างน้อยหนึ่งชนิด โดย 75% มีสารพิษจากเชื้อราหลายชนิด

 

การตรวจพบสารพิษจากเชื้อราหลายชนิดในส่วนผสมอาหารกุ้ง

นอกจากนี้ เรายังมีข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการปรากฏของสารพิษจากเชื้อราในปี 2023 ที่ตรวจพบในวัตถุดิบจากพืชที่ใช้กันทั่วไปในอาหารกุ้ง ได้แก่ กากถั่วเหลือง (n=85), DDGs (n=63), ข้าวสาลี (n=109), ข้าวโพด (n=247) และผลพลอยได้ เช่น รําข้าวสาลีและกลูเตนข้าวโพด (n=23) ตัวอย่างจากทั่วโลกเหล่านี้ถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการ Alltech 37+ เพื่อวิเคราะห์ ในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2023 ด้วยวิธี LC-MS/MS ทําให้ห้องปฏิบัติการสามารถตรวจจับสารพิษจากเชื้อราได้มากถึง 54 ชนิด ผลการวิเคราะห์ซึ่งมีรายละเอียดในตารางที่ 1 เปิดเผยว่าไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบใดก็ตาม ตัวอย่างทั้งหมดถูกตรวจพบสารพิษจากเชื้อราอย่างน้อยหนึ่งชนิด โดยส่วนใหญ่ตรวจพบสารพิษจากเชื้อราหลายชนิดในตัวอย่างเดียวกัน กลุ่มสารพิษจากเชื้อราที่มีอัตราการตรวจพบสูงกว่า 10% จะแสดงในตารางด้านล่างนี้ เพื่ออ้างอิงข้อมูลดังกล่าว


ตารางที่ 1: กลุ่มสารพิษจากเชื้อราที่พบบ่อยที่สุด (เกิดขึ้น > 10%) ในวัตถุดิบจากพืชที่ใช้กันทั่วไปในอาหารกุ้ง และระดับปริมาณของสารพิษฯ โดยเฉลี่ยและสูงสุด (ppb)

สิ่งที่เห็นได้ชัดในตารางที่ 1 คือ การปรากฎของ "สารพิษจากเชื้อราอุบัติใหม่" ในระดับสูง ในวัตถุดิบที่ผ่านการทดสอบทั้งหมด โดยมีความถี่ตั้งแต่ 94% ถึง 100% สารพิษจากเชื้อราเหล่านี้ซึ่งตรวจไม่พบเป็นประจําในฟาร์มหรือถูกควบคุมโดยกฎหมายกําลังเพิ่มสูงขึ้น ข้าวโพดซึ่งมักเป็นส่วนประกอบสําคัญในอาหารกุ้ง ตรวจพบว่ามีระดับความเข้มข้นเฉลี่ยและสูงสุดของสารพิษจากเชื้อราอุบัติใหม่ในระดับสูงที่สุด (254.4 ppb และ 4,751 ppb ตามลําดับ)

นอกจากนี้กลุ่มสารพิษจากเชื้อราอื่น ๆ เช่น กรดฟูซาริก, สารพิษกลุ่มฟูโมนิซิน, ไตรโคทีซีน ชนิด B, ไตรโคทีซีน ชนิด A และ ซีราลีโนน ก็ตรวจพบได้มากในวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ถูกวิเคราะห์ ตัวอย่างเช่น ในข้าวโพด พบไตรโคทีซีน ชนิด A และ ชนิด b ในระดับเกินขีดจํากัดที่แนะนําของธัญพืชสําหรับอาหารสัตว์

การหาปริมาณความเสี่ยงในอาหารกุ้ง

เพื่อประเมินความเสี่ยงทั้งหมดของการปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อราในอาหารกุ้ง เราใช้เครื่องมือ Alltech® DIET™ Estimator ซึ่งจะมีการนำอัตราการใช้ของส่วนผสมจากพืชและข้อมูลการปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อราเข้าไปคำนวณ ความเสี่ยงจะถูกประเมินโดยใช้สูตรอาหารกุ้งจาก Practical Aquaculture Feed Formulation Database (PAFF) และผลการตรวจสอบสารพิษจากเชื้อราในครึ่งแรกของปี 2566 ปริมาณเทียบเท่าความเสี่ยง หรือ Alltech REQ ถูกวัดได้ที่ 10.4 ppb ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงระดับปานกลางสําหรับกุ้ง

อัตราการใช้ของวัตถุดิบมีความสําคัญอย่างมากในการคํานวณหาความเสี่ยงในการปนเปื้อนโดยรวม สูตรอาหารกุ้งจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และละตินอเมริกามีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน โดยอาหารจากละตินอเมริกามีความเสี่ยงสูงขึ้นเนื่องจากมีการใช้ข้าวโพดในสูตร

รูปที่ 1 การประมาณค่า REQ ตามระดับอัตราการใช้วัตถุดิบจากพืชที่ใช้ในอาหารกุ้ง

ผลกระทบของสารพิษจากเชื้อราต่อผลผลิตและสุขภาพ

ฟาร์มกุ้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตร้อน มีสภาวะที่เหมาะสมสําหรับเชื้อรา Aspergillus ทําให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการปนเปื้อนอะฟลาทอกซิน B1 การวิจัยระบุว่าระดับอะฟลาทอกซิน B1 ที่สูงกว่า 1 มก./กก. ส่งผลเสียต่ออัตราการรอดชีวิต การเจริญเติบโต และสุขภาพของเนื้อเยื่อของกุ้ง

สารพิษจากเชื้อราอื่น ๆ เช่น deoxynivalenol (DON), สารพิษ T-2 และ ฟูโมนิซิน B1 อาจมีผลกระทบรุนแรงเช่นกัน สารพิษ DON ในระดับสูง บั่นทอนการเจริญเติบโตและทําให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของกุ้งอ่อนแอลง ในขณะที่สารพิษ T-2 ทําให้เกิดความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันและทําลายสรีรวิทยาในด้านต่างๆ ฟูโมนิซิน B1 ส่งผลให้การเจริญเติบโต ความเข้มข้นของโปรตีนในกล้ามเนื้อ และการตอบสนองของภูมิคุ้มกันลดลง ซึ่งส่งผลต่อทั้งเนื้อสัมผัสของกุ้งและการยอมรับของผู้บริโภค

การปรากฎร่วมกันของสารพิษจากเชื้อราหลายชนิดในวัตถุดิบจากพืชเป็นเรื่องที่น่ากังวล ในขณะที่การศึกษาในหลอดทดลองแสดงสัญญาณของผลกระทบจากการเสริมฤทธิ์กันของสารพิษจากเชื้อรา แต่ผลกระทบเต็มรูปแบบของการเกิดสารพิษจากเชื้อราต่อกุ้งยังไม่ทราบแน่ชัด แม้ว่าสารพิษจากเชื้อราอุบัติใหม่และกรดฟูซาริกจะถูกตรวจพบได้อย่างแพร่หลาย แต่ก็ยังไม่มีข้อกำหนดและการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบต่อกุ้งอย่างชัดเจน

ผลการวิจัยเน้นยํ้าถึงความจําเป็นเร่งด่วนที่จะต้องหาแนวทางการจัดการสารพิษจากเชื้อราแบบองค์รวมในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง หากไม่มีกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงดังกล่าว ทั้งสุขภาพกุ้งและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมก็ตกอยู่ในความเสี่ยง

หากต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องมือและเทคโนโลยีจาก Alltech Mycotoxin Management สามารถเข้าชมได้ที่ knowmycotoxins.com

Loading...