Skip to main content

นิค ลิเคียโดพูโล - ความยากลำบากในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ: การเพาะเลี้ยงปลาในช่วงวิกฤต

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับห่วงโซ่อุปทานอาหารทั่วโลกอาจทำให้ธุรกิจในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีการกระจายตัวน้อยลงและเน้นความปลอดภัยของอาหารมากยิ่งขึ้น

ในขณะที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานอาหารและอุปสงค์จากผู้บริโภค ธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้อย่างไร คุณนิค ลิเคียโดพูโล (Nick Lykiardopulo) จากบริษัท Philosofish ในประเทศกรีซ จะมาร่วมพูดคุยถึงความท้าทายที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสัตว์น้ำในปัจจุบัน และความคาดหวังของเขาต่อธุรกิจการเพาะเลี้ยงปลาในอนาคต

การสัมภาษณ์ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายการ AgFuture ตอนพิเศษว่าด้วยผลกระทบจากโรคโควิด-19 ที่มีต่อห่วงโซ่อุปทานอาหาร มาร่วมรับฟังไปพร้อมกันว่าเหล่าผู้ที่ต้องเผชิญกับโรคระบาดระดับโลกในครั้งนี้โดยตรงกำลังพยายามเอาชนะความยากลำบากเพื่อผลิตอาหารให้แก่โลกอย่างไรบ้าง

ด้านล่างนี้เป็นบทสัมภาษณ์ระหว่างมิเชล ไมเคิล (Michelle Michael)พิธีกร กับคุณนิค ลิเคียโดพูโล คลิกที่นี่เพื่อรับฟังเสียงการสัมภาษณ์ฉบับเต็ม

มิเชล:    สวัสดีค่ะ! ดิฉัน มิเชล ไมเคิล นะคะ ในรายการ AgFuture ตอนพิเศษในครั้งนี้ เราจะมาพูดคุยถึงผลกระทบจากโรคโควิด-19 กับผู้ที่ทำงานในห่วงโซ่อุปทานอาหารค่ะ แขกรับเชิญของดิฉันในวันนี้ก็คือคุณนิค ลิเคียโดพูโลค่ะ ซึ่งบริษัท Philosofish ของคุณนิค ดำเนินธุรกิจเพาะเลี้ยงปลากะพง (sea bass) และ ปลา bream (ปลาในวงศ์ปลาจาน เช่นปลากระพงสีน้ำเงิน)  ในประเทศกรีซ ขอบคุณมากนะคะที่มาร่วมพูดคุยกับเราในวันนี้

นิค:       สวัสดีครับ! ขอบคุณที่เชิญมาสัมภาษณ์นะครับ

 

มิเชล:    วันนี้เราจะมาพูดถึงการเพาะเลี้ยงปลากันนะคะ ฟาร์มของคุณตั้งอยู่ที่ไหน และคุณมีบทบาทอะไรบ้างคะในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

นิค:       ตอนนี้ผมอยู่ที่กรีซครับ แต่ที่จริงผมอาศัยอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ที่ผมเลือกล็อคดาวน์อยู่ที่กรีซ ส่วนหนึ่งก็เพื่อจะได้อยู่ใกล้ๆ ญาติบางคนที่อายุมากแล้ว และอีกส่วนหนึ่งก็เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ โดยเฉพาะด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกรีซซึ่งกำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากระหว่างเกิดวิกฤตในครั้งนี้ จึงอยากมาดูแลอย่างใกล้ชิดมากกว่า เพราะผมลงทุนในธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขนาดใหญ่ในกรีซน่ะครับ

 

มิเชล:    เดี๋ยวเราจะมาพูดคุยกันถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนะคะ แต่จากความเห็นส่วนตัวแล้ว ตอนนี้เกิดอะไรขึ้นกับคุณบ้างคะ ชีวิตคุณเป็นอย่างไรบ้างคะ

นิค:       เฉพาะในกรีซนะครับ กรีซเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมในแง่ของการควบคุมเชื้อไวรัสโคโรนา รัฐบาลดำเนินการควบคุมการติดต่อสัมผัสในสังคมอย่างเข้มงวดมากตั้งแต่แรกๆ ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่ากรีซจะมีจำนวนประชากรใกล้เคียงกับรัฐนิวยอร์ก แต่ที่นี่มีจำนวนผู้เสียชีวิตไม่เกิน 150 ราย และมีจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันไม่เกิน 2,500 ราย

ในแง่ของสังคมท้องถิ่น ทุกคนก็ต้องล็อคดาวน์เหมือนกับคนอื่นๆ ทั่วโลก แต่พาดหัวข่าวเศร้าๆ ที่เราเห็นกันที่อื่น ไม่มีที่กรีซครับ จากมุมมองของผม ผมเป็นคนที่ต้องนั่งเครื่องบินยาว 10 ชั่วโมงทุกสัปดาห์ เรื่องนี้จึงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผมมากเลยครับ แต่ที่จริงผมก็ค่อนข้างรู้สึกสนุกนะที่ได้อยู่กับที่ตั้งเดือนครึ่ง

 

มิเชล:       เรามาพูดถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อธุรกิจของคุณกันหน่อยนะคะ เมื่อสักครู่คุณพูดถึงว่าการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบอย่างมาก ช่วยอธิบายคร่าวๆ หน่อยได้ไหมคะว่าเป็นอย่างไรบ้าง

นิค:       ผมคิดว่าผลกระทบที่สำคัญมีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน อย่างแรกคือกระทบต่อความต้องการ ต่อยอดขายของเรา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะร้านอาหาร โรงแรม อุตสาหกรรมเรือสำราญต้องหยุดดำเนินการ คนที่เดินทางมาท่องเที่ยวพักร้อนหรือทำธุรกิจก็หายไปหมด ตอนนี้อุปสงค์ส่วนใหญ่ของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต้องปิดตัวกันหมด ทำให้กระทบต่อยอดขายของธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจำนวนมากที่เน้นจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านทางช่องทางเหล่านี้ครับ ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าผู้ผลิตหันมาจำหน่ายผลผลิตล็อตใหญ่ให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตกันเพิ่มขึ้น

            ผลกระทบเรื่องที่ 2 ซึ่งเกิดขึ้นทันทีในทุกระดับ คือเกิดกับห่วงโซ่โลจิสติกส์ครับ การเคลื่อนย้ายสินค้าทำได้ยากและซับซ้อนวุ่นวาย กระทบไปถึงการขนส่งทางบกและทางเรือ พนักงานขับรถและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เกิดความล่าช้าขึ้นมากในการข้ามแดน หรือบางครั้งอาจต้องมีการกักตัวหรือกักกันสินค้าเป็นเวลานาน ซึ่งทำให้การกระจายสินค้ายากลำบากยิ่งขึ้นไปอีก ยิ่งไปกว่านั้น ปริมาณการขนส่งทางอากาศก็ลดลงอย่างชัดเจน  เนื่องจากมีเที่ยวบินโดยสารน้อยลงมาก เพราะเที่ยวบินโดยสารเหล่านั้นมีการขนส่งสินค้าไปพร้อมกันด้วยน่ะครับ

 

มิเชล:       จากมุมมอง ไปเลยนะคะ ถ้าเราพูดถึงอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การเพาะเลี้ยงปลาประเภทที่คุณกำลังพูดถึงอยู่นี้ เราเน้นพูดถึงปลาชนิดไหนเป็นพิเศษไหมคะ

นิค:       ใช่ครับ ตลาดปลาแถบเมดิเตอร์เรเนียนส่วนมากจะประกอบด้วยปลากะพงกับปลาจาน ซึ่งในสหรัฐฯ มักจะเรียกว่า แบรนซิโน (branzino) หมายถึงปลากะพง และโดอาเดอะ (dorade) หมายถึง sea bream แบรนซิโนจะเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ มากกว่า แต่ก็ยังมีปลาที่เพาะเลี้ยงและพัฒนาพันธุ์ขึ้นในแถบเมดิเตอร์เรเนียนอีกหลายชนิดเลยครับ

ปลาชนิดนี้เป็นปลาเนื้อขาว ซึ่งมีการเพาะเลี้ยงค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับแซลมอน โดยปริมาณที่ผลิตได้ในแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 300,000 ตัน เทียบกับแซลมอนที่เกิน 2 ล้านตันไปเล็กน้อย

 

มิเชล:       แต่โดยรวมแล้ว ตอนนี้ปลาทุกชนิดก็ได้รับผลกระทบกันหมดสินะคะ

นิค:       ใช่ครับ จากที่ผมได้อ่านและทราบมาจากการเข้าร่วมสัมมนาออนไลน์ต่างๆ อุตสาหกรรมแซลมอนเองก็ประสบปัญหาคล้ายกันมาก ซึ่งผมเชื่อว่าสัตว์น้ำเปลือกแข็งและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในรูปแบบอื่นๆ ก็ไม่ต่างกัน

 

มิเชล:       ในเมื่อขณะนี้ไม่สามารถเคลื่อนย้ายปลาได้ เรามาพูดถึงความตึงเครียดที่เกิดขึ้นทั่วโลก หรือปัญหาที่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ได้ไหมคะ

นิค:       สำหรับในระยะสั้น ปัญหาคือถ้าคุณไม่จำหน่ายปลาออกไป ก็จะเกิดผลกระทบต่อเนื่องมากมายต่อธุรกิจของเรา ต่อโมเดลธุรกิจของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยครับ การเพาะเลี้ยงปลาเมดิเตอร์เรเนียนมีวงจรการเติบโต 2 ปี ดังนั้น ถ้าในบางช่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงใกล้ๆ ช่วงที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงในแต่ละปี ซึ่งก็คือในช่วงหน้าร้อน ถ้าไม่ขายปลาให้หมด เราจะเจอปัญหาใหญ่ตามมาหลายอย่างแน่ครับ ประการแรกคือเรายังต้องเลี้ยงปลาต่อไปอีก หมายความว่าต้นทุนค่าอาหารปลาจะเพิ่มสูงขึ้น (ซึ่งจะ) เป็นภาระหนักต่อกระแสเงินสดในธุรกิจของเราค่อนข้างมากครับ ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่จึงอาจจะลดระดับการให้อาหารลงมาอยู่ในระดับที่ไม่ใช่ระดับที่เหมาะสมที่สุด เท่ากับว่าไม่ได้ใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในขณะเดียวกัน ปลาที่เลี้ยงไว้ก็จะโตขึ้น ซึ่งบ่อยครั้งก็คือโตเกินขนาดที่ตลาดต้องการมากที่สุด รวมไปถึงกระชังที่มีปริมาณปลาหนาแน่นมากขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมากขึ้นครับ บ่อยครั้ง การออกใบอนุญาต ข้อจำกัดควบคุมตามระเบียบ หรือข้อจำกัดทางกายภาพ ทำให้เราไม่สามารถเลี้ยงปลาให้กระจายตัวห่างกันมากขึ้นเพื่อลดปัญหาเหล่านี้ได้เลย

ผลกระทบข้อถัดมาคือ เมื่อไม่สามารถจำหน่ายปลาที่โตเต็มวัยแล้วได้ ก็จะไม่มีการเติมลูกปลาชุดใหม่ เป็นการลดทอนความสามารถในการเพาะเลี้ยงปลาของเราในช่วง 2 ปีถัดจากนี้ ซึ่งก็คือปี พ.ศ. 2564 และ 2565 ต่อจากนั้นก็จะทำให้เกิดความแออัดในโรงเพาะฟักของเรา เพราะลูกปลาที่รอเติมเข้าสต็อกจะเริ่มโตขึ้นจนมีขนาดใหญ่เกินควรและอยู่กันอย่างแออัดเกินกว่าจะอยู่ในโรงเพาะฟักได้ เรื่องนี้จึงส่งผลกระทบต่อโมเดลธุรกิจของเราค่อนข้างมากเลยทีเดียว

 

มิเชล:       ฟังดูเหมือนผลกระทบจะขยายวงกว้างขึ้นไปเรื่อยๆ เลยนะคะ จากมุมมองของผู้บริโภคแล้ว เราควรกังวลไหมคะว่าต่อไปอาจเกิดเหตุการณ์ปลาขาดแคลนในซูเปอร์มาร์เก็ต

นิค:       ผมคิดว่าปีหน้าน่าจะมีผลผลิตน้อยลงนะครับ แต่จากความจำเป็นแล้ว เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาจะสต็อกปลาในกระชังน้อยลงครับ ในตอนนี้ เกษตรกรเหล่านี้จะพยายามหาทางขายปลาที่มีในราคาถูกๆ อย่างสุดความสามารถ แต่การลงทุนกับชีวมวล (biomass)ในอนาคตจะลดลงครับ ผมไม่รู้ว่าในตลาดจะเกิดภาวะขาดแคลนหรือไม่ แต่มันค่อนข้างยากที่จะนิยามว่าในตลาดโปรตีนจะเกิดภาวะขาดแคลนอย่างไร เพราะปลาที่เพาะเลี้ยงขึ้นมาไม่มีตัวไหนถูกทิ้งขว้างเลย ทุกตัวถูกนำไปบริโภคหมด ดังนั้นอุปสงค์จึงค่อนข้างเท่ากับอุปทาน ก็แค่ผู้บริโภคอาจจะต้องกินผลิตภัณฑ์ที่ต่างไปจากแบบที่อยากกินเพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วนตามที่ต้องการเท่านั้นเองครับ

 

มิเชล:       เวลาที่เราพูดถึงความพลิกผันต่างๆ อย่างนี้ เรื่องเหล่านี้จะส่งผลต่อการกำหนดราคาขายปลาในอนาคตไหมคะ

นิค:       กระทบครับ ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าจะทำให้ราคาปลาลดลงในระยะสั้น แต่ราคาจะเพิ่มขึ้นในระยะยาวด้วยหลายๆ สาเหตุ ข้อแรกคือเพราะอุปทานน้อยลง ข้อที่สองคือเพราะต้นทุนการดำเนินธุรกิจทุกประเภทสูงขึ้น ไม่ใช่แค่ธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างเดียวเท่านั้น ทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร โรงแรม เรือสำราญ ธุรกิจขนส่ง ทุกอย่างต้องทนอยู่กับการเว้นระยะห่างทางสังคมในระดับหนึ่งไปอีกหลายปีเลยครับ เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ไขได้ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ดังนั้น โครงสร้างต้นทุนทุกด้าน ทั้งด้านสังคม ขนส่งสาธารณะ วิธีการดำเนินธุรกิจในสำนักงาน ทุกอย่างจะราคาสูงขึ้นหมดครับ

            ซึ่งปัญหานี้จะค่อยๆ เกิดขึ้นกับราคาผลผลิตใดๆ ก็ตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในกรณีนี้ก็คือปลานั่นเองครับ แต่ข้อดีก็คือ ดูเหมือนว่าราคาพลังงานจะประสบภาวะที่อุปทานด้านพลังงานลดลงมากพอสมควร ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบบางอย่างที่อธิบายไว้ได้ครับ

 

มิเชล:       ความเป็นไปได้ในเชิงบวกอีกประการหนึ่ง (ก็คือ) น่าจะพอพูดได้ใช่ไหมคะว่าปลาถือเป็นตัวเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ คุณคิดว่าในระยะยาวแล้ว วิกฤตในครั้งนี้จะทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงประโยชน์ของอาหารทะเลมากขึ้นไหมคะ

นิค:       น่าจะตระหนักกันมากขึ้นครับ เรามองว่าเรื่องนี้เป็นพัฒนาการที่ดีมากสำหรับอุตสาหกรรมนี้ครับ ประการแรกก็คือ ฝ่ายวิชาการและฝ่ายรัฐบาลจำนวนมากมีการแนะนำว่าอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดีและโอเมก้า-3 จะช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ และการทานอาหารประเภทนี้เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยเตรียมร่างกายให้สามารถป้องกันอันตรายจากไวรัสใดๆ ที่จะเข้ามาได้ดียิ่งขึ้น ผมเองก็เชื่อว่าตอนนี้คนทั่วไปให้ความสนใจกับการทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะวิถีชีวิตที่บังคับให้ต้องนั่งอยู่กับที่มากขึ้น แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพราะเห็นได้ชัดว่าโรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจทำให้เสียชีวิตและได้รับผลกระทบร้ายแรงจากไวรัสดังกล่าวที่เกิดขึ้นตามมาในภายหลังครับ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาที่สามารถแก้ได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงอาหารการกินในช่วงเวลาเพียง 1 หรือ 2 เดือน แต่ที่จริงแล้ว ปฏิกิริยาจากระบบภูมิคุ้มกันของคนเราสามารถพัฒนาได้ในระยะเวลาที่สั้นมากทีเดียว

ความเป็นอยู่ที่ดีโดยทั่วไปและคุณภาพอาหารของคนคนหนึ่งต้องใช้เวลาปรับปรุงพัฒนานานกว่านั้น แต่เราเชื่อว่ายิ่งเวลาผ่านไป คนจะยิ่งหันมาใส่ใจกับเรื่องนี้มากขึ้น รวมถึงเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับและประเด็นด้านสุขภาพของสัตว์ที่นำมาผลิตเป็นอาหารด้วยครับ ผมคิดว่าตอนนี้ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับกันในวงกว้างแล้วว่า ไม่ว่าสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดโรคระบาดในครั้งนี้คืออะไร แต่องค์ประกอบต่างๆ ที่ทำให้สุขภาพสัตว์ย่ำแย่ลงก็มีส่วนทำให้เกิดไวรัส และผมเชื่อว่าทั้งรัฐบาลและผู้บริโภคก็จะเริ่มให้ความสนใจในจุดนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

 

มิเชล:       แน่นอนว่าโรคระบาดในครั้งนี้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย ดิฉันอยากทราบว่า จากมุมมองของคุณแล้ว คุณคิดว่าอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเคยประสบปัญหาที่ร้ายแรงพอๆ กับเชื้อไวรัสโคโรนาไหมคะ หรือเหตุการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่นเดียวกับการระบาดในครั้งนี้คะ

นิค:       ผมไม่แน่ใจว่าการระบาดในครั้งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนะครับ มันอาจจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงชีวิตของเราก็จริง แต่ผมคิดว่าถ้าเรามองย้อนกลับไป ในประวัติศาสตร์ก็เคยเกิดภาวะระบาดต่างๆ มาแล้วมากมาย อย่างเช่นไข้หวัดสเปนซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 100 ปีที่แล้วเท่านั้น ในตอนนั้นก็มีการประเมินกันว่ามีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดสเปนประมาณ 3% ถึง 6% จากประชากรทั้งหมด ส่วนผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจก็สัมผัสได้อย่างชัดเจนมากครับ แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาซึ่งในแต่ละเมืองก็ได้รับผลกระทบแตกต่างกันไปอีก ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละที่มีการตอบสนองกับโรคระบาดที่เกิดขึ้นอย่างไร ถ้าย้อนกลับไปไกลกว่านั้น ในศตวรรษที่ 14 ก็เคยเกิดภาวะอดอยากครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตประชากรในทวีปยุโรปไปประมาณ 30% ถึง 50% ส่วนกาฬโรคก็คาดการณ์กันว่าคร่าชีวิตไปถึงประมาณ 25% ของประชากรโลกเลยทีเดียว ดังนั้น ไม่ใช่ว่าการระบาดไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ แต่แค่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเราเท่านั้นเองครับ

            ผมคิดว่า ถ้าเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อุตสาหกรรมนี้ประสบปัญหาใหญ่มากๆ จากโรคที่เกิดขึ้นกับสัตว์ ตั้งแต่การระบาดของโรคในสัตว์ที่เพาะเลี้ยงไว้ และปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่มีผลกระทบต่อต้นทุนอาหารสัตว์และความพร้อมในการจำหน่ายอาหารสัตว์ก็ด้วยนะครับ แต่ตามความเข้าใจของผมแล้ว แน่นอนว่านี่คือวิกฤตร้ายแรงที่สุดที่เราเคยเผชิญมาในแง่ของอุปสงค์ที่ลดลง เนื่องจาก นอกเหนือจากการปิดให้บริการร้านอาหารช่วงใหญ่ อย่างที่ผมบอกไว้แล้วก็คือ เราคาดการณ์ได้เลยว่าจีดีพีของโลกจะลดลงอย่างมากในแง่ของกำลังการใช้จ่ายของผู้บริโภคและความสามารถของรัฐบาลประเทศต่างๆ ในการออกเงินทุนสนับสนุนโครงการทั้งหลาย เพราะจัดเก็บภาษีได้น้อยลง

            ผมจึงเชื่อว่า ผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจโลกต่อเนื่องมาถึงกำลังการซื้อของลูกค้า ไม่เคยเกิดขึ้นในลักษณะนี้มาก่อนครับ

 

มิเชล:       ตอนนี้ร้านอาหารก็ต้องปิด เกษตรกรก็ต้องเก็บปลาไว้นานกว่าเดิม เรื่องพวกนี้จะทำให้วิธีดำเนินการต่างๆ เปลี่ยนไปไหมคะ อย่างเช่นเรื่องการให้อาหาร การสต็อกอะไรอย่างนี้

นิค:       เปลี่ยนครับ เพราะมันหมายความว่าอัตราการให้อาหารลดลง อัตราการสต็อกก็ลดลง แสดงว่าคนให้ความสำคัญกับการจำหน่ายในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้นครับ อย่างในปัจจุบันนี้ก็มีการจัดส่งถึงบ้านค่อนข้างมากเลยทีเดียว ซูเปอร์มาร์เก็ตก็มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในตลาดอาหารเมื่อร้านอาหารต่างๆ ไม่เปิดให้บริการ ตอนนี้ผู้บริโภคชอบผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการจัดเก็บยาวนานยิ่งขึ้นและจัดการได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่อาหารกระป๋องหรืออาหารแช่แข็งเพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุผลที่ว่าทำให้สามารถทำอาหารแบบง่ายๆ ได้ที่บ้าน รวมถึงเหตุผลที่ว่าอยากหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่เกิดจากการจัดการกับอาหารประเภทเนื้อสด ปลาสด หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในโซนจำหน่ายปลาหรือเนื้อในซูเปอร์มาร์เก็ตด้วยครับ

            ลักษณะการซื้อของคนเรากำลังเปลี่ยนแปลงไป และอุตสาหกรรมก็จะเน้นหนักไปทางผลิตภัณฑ์ที่ปรุงง่าย ทานง่าย รวมถึงองค์ประกอบในด้านความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น แม้ว่าในระยะสั้นมากๆ คนทั่วไปมีแนวโน้มที่จะเลือกบริโภคสินค้าหลักที่มีราคาถูก อย่างเช่นอาหารแห้ง ข้าว พาสต้า หรือมะเขือเทศกระป๋อง  ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายหมดเป็นอย่างแรกๆ ในซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ในระยะยาวแล้ว ผมคิดว่าคนทั่วไปน่าจะต้องการอาหารให้โปรตีนที่ที่ทานง่ายและเก็บง่ายครับ

 

มิเชล:       มีคำกล่าวว่าในหลายๆ ครั้ง ภาวะวิกฤตก็ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ คุณเห็นข้อดีจากสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกอยู่ในขณะนี้บ้างไหมคะ

 นิค:      ก็มีนะครับ ผมคิดว่า สำหรับในอุตสาหกรรมของเรา เราจะได้เห็นอุตสาหกรรมที่มีการกระจายตัวน้อยลงครับ เพราะโดยทั่วไปแล้ว ธุรกิจขนาดใหญ่กว่าและเงินทุนหนากว่าก็จะเอาตัวรอดได้ง่ายกว่า ผมคิดว่าเราจะได้เห็นการเน้นหนักในการผลิตที่มีความใกล้ชิดกับผู้บริโภคในตลาดมากขึ้น และไม่พึ่งพาห่วงโซ่อุปทานที่มีสายยาวมากๆ ซึ่งอาจเกิดการหยุดชะงักขึ้นได้ด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง

            ผมคิดว่าการเน้นย้ำความปลอดภัยของอาหารจะเป็นโอกาสอันดีเยี่ยมสำหรับอุตสาหกรรมนี้ครับ ซึ่งประเทศต่างๆ ก็หันมาเน้นเรื่องความปลอดภัยของอาหารเช่นกัน ในหลายๆ ครั้งที่การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นไปได้ยาก ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม เราได้เห็นกันแล้วว่า ตัวอย่างเช่นประเทศจีนที่ได้นำอาหารสำรองมาใช้เป็นจำนวนมากเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารในช่วงก่อนหน้านี้ และตอนนี้ก็กำลังหาอาหารมาทดแทนส่วนที่ขาดหายไปดังกล่าวอย่างจริงจัง แต่ผมคิดว่าประเทศอื่นก็น่าจะได้บทเรียนเรื่องความเป็นไปได้ในการขาดแคลนอาหารเมื่อห่วงโซ่อาหารหยุดชะงักนะครับ ผมคิดว่าเรื่องทั้งหมดนี้เป็นโอกาสอันดีที่อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะควบคุมจัดการการลงทุนโดยขอความร่วมมือจากภาครัฐทั่วโลกที่เหมาะสมและพัฒนาตลาดใหม่ๆ ครับ

 

มิเชล:       คุณนิคคะ คุณเพิ่งเริ่มลงทุนในอุตสาหกรรมแถบเมดิเตอร์เรเนียนมาได้ไม่นานนัก ถูกต้องไหมคะ

นิค:       ใช่ครับ ถูกต้องแล้ว เพิ่งลงทุนมา 5 ปีเองครับ

 

มิเชล:       คุณคิดว่าธุรกิจของคุณจะพัฒนาไปอย่างไรในอีก 5 ปีข้างหน้าคะ

นิค:       ผมคิดว่าเรามองเห็นโอกาสในการเติบโตมากพอสมควรเลยทีเดียว เรามีกลุ่มนักลงทุนอันแข็งแกร่งที่ทุ่มเทให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารโดยทั่วไป และเน้นด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยเฉพาะ

            เราเชื่อว่าผู้ผลิตสายการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะผู้ผลิตในแถบเมดิเตอร์เรเนียน ยังมีโอกาสที่จะดำเนินการตามโมเดลธุรกิจที่ใช้กันในกลุ่มแซลมอน กุ้ง และภาคส่วนอื่นๆ ในอุตสาหกรรมของเรา ด้วยการผลิตปลาแบบจำหน่ายทั้งตัวให้น้อยลงและสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูปและพร้อมทานจากปลาให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จำเป็นต้องมีการลงทุนเป็นเม็ดเงินก้อนใหญ่พอสมควร รวมถึงว่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นอีกมากเพื่อการผลิตสินค้าที่จะเป็นที่ต้องการอย่างมากในยุโรป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรีซ ในช่วงเวลาอีกไม่กี่ปีนับจากนี้

 

มิเชล:       ในแต่ละวันไม่มีใครรู้ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อไหร่ โรคระบาดในครั้งนี้เป็นตัวกำหนดเวลาจริงๆ นะคะ แต่ผลกระทบจากโรคระบาดไวรัสโคโรนาที่มีต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคาดว่าจะยาวนานไปอีกสักเท่าใดคะ

นิค:       ผมคิดว่า เนื่องจากปลาต้องใช้ระยะเวลาเติบโตที่ยาวนาน จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าต้องยาวต่อไปอีก 2 ถึง 3 ปีถัดจากนี้นะครับ แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ เช่น จีดีพี รายได้สุทธิส่วนบุคคล รูปแบบการเดินทางที่ต่างไป ลักษณะการลาพักร้อน ผมคิดว่าเราน่าจะได้รับผลกระทบยาวอย่างน้อย 5 ปีเลยนะครับ ร้านอาหารต่างๆ ไม่สามารถเปิดให้บริการได้เป็นเวลานานๆ แบบที่เคยเป็นมาก่อนในอดีต ต้องลดความหนาแน่นในการจัดโต๊ะ และมีข้อกำหนดเกี่ยวกับสุขอนามัยเพิ่มขึ้นมากมาย ส่วนธุรกิจโรงแรมก็ต้องดำเนินการในลักษณะที่แตกต่างออกไปจากปัจจุบันโดยสิ้นเชิง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น จำนวนห้องพักที่เปิดให้บริการได้ก็ลดลง รวมถึงจำนวนแขกที่มาทานอาหารด้วย หรืออย่างเรือสำราญ หากจะให้บริการก็ต้องดำเนินการในรูปแบบที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิงด้วยเช่นกัน ธุรกิจทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเราในระยะยาวมากครับ ผมมองว่าระยะเวลา 5 ปีเป็นระยะเวลาขั้นต่ำที่เราจะต้องเผชิญกับผลกระทบเหล่านี้ครับ

 

มิเชล:       ดิฉันอยากทราบว่า ในมุมมองของคุณแล้ว คุณคิดว่าโรคระบาดครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อมุมมองที่ผู้บริโภคมีต่อเกษตรกรไหมคะ เกษตรกรเหล่านี้ได้รับการยกย่องชื่นชมในคุณค่ามากขึ้นไหมคะเมื่ออุปสงค์อาหารของโลกต้องเผชิญกับภัยคุกคามอยู่ในขณะนี้

นิค:         ครับ ผมคิดว่ามีคนเห็นคุณค่ามากขึ้นนะครับ ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าผู้บริโภคจะจดจำเรื่องนี้ไปอีกนานเท่าใด แต่แน่นอนว่าในตอนนี้ การที่แรงงานราคาถูก แรงงานเก็บผลผลิต แรงงานตามฤดูกาลในพื้นที่หลายแห่งบนโลกไม่สามารถเดินทางไปมาได้ ทั้งในประเทศหรือข้ามเขตแดน จึงเกิดความต้องการเกษตรกรในท้องถิ่นที่มีความยั่งยืนครับ ผมคิดว่าคนทั่วไปจะตระหนักถึงคุณค่าของผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานอาหาร ไปจนถึงพนักงานเติมชั้นวางสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต ในฐานะแรงงานผู้มีบทบาทสำคัญ ผมคิดว่ามีนักการเมืองหลายคนที่พูดได้ถูกต้องว่า เราทุกคนจะมองพนักงานที่เก็บขยะให้เราและพนักงานเติมสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตให้เรา ในแบบที่ต่างออกไปหลังจากเกิดวิกฤตในครั้งนี้

            ผมแค่คิดว่าสังคมเราค่อนข้างจะลืมง่ายเท่านั้นเอง อีก 10 ปีนับจากนี้ คนเราก็จะระมัดระวังการแพร่เชื้อโรคให้กันและกันน้อยลงเรื่อยๆ แต่ในระยะสั้น ผมคิดว่าวิกฤตครั้งนี้จะขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตและมุมมองความคิดต่อชีวิตของเราอย่างมหาศาลครับ อย่างผมเองอายุ 60 กว่าปีแล้ว ผมเป็นหนึ่งในคนรุ่นแรกๆ ที่ไม่เคยต้องเผชิญกับภาวะที่ฉิวเฉียดต่อความตายเลยตลอดชีวิตการทำงานที่ผ่านมา แต่รุ่นพ่อแม่และรุ่นปู่ย่าตายายของผมเคยมีชีวิตผ่านช่วงสงครามครั้งสำคัญ การระบาดของโรคต่างๆ หรือการเข่นฆ่าระดับโลกมาแล้วทั้งนั้น ชีวิตของเราจึงค่อนข้างโชคดีมีความสุขเพราะไม่เคยได้พบเจอความเสี่ยงเหล่านั้นเลย แน่นอนว่าเราก็รู้สึกเศร้าเสียใจมากๆ กับคนที่เสียชีวิตไปตั้งแต่อายุยังน้อยหรือด้วยอุบัติเหตุในโลกที่พัฒนาแล้ว แต่ทว่าถึงเวลาจะผ่านมาแล้วหลายศตวรรษ จวบจนถึงในปัจจุบัน ผู้คนในบางพื้นที่ของโลกยังคงต้องกังวลกับการเอาชีวิตรอดอยู่ในทุกๆ วันครับ ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเปลี่ยนแปลงจิตใจของคนเราได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าครับ

 

มิเชล:     แน่นอนว่าไวรัสชนิดนี้ทำให้ชีวิตของพวกเราทุกคนเปลี่ยนแปลงไป คุณลิเคียโดพูโลคะ ขอให้สุขภาพแข็งแรงปลอดภัยนะคะ ขอบคุณมากค่ะที่มาร่วมพูดคุยกับเราในวันนี้

นิค:       ขอบคุณที่เชิญผมมาครับ ขอบคุณมากๆ

 

มิเชล:       สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคโควิด-19 กรุณาเข้าไปที่เว็บไซต์ alltech.com

Loading...