Skip to main content

ดร. แฟรงค์ มิตโลฮ์เนอร์ - ผลกระทบจากปศุสัตว์ต่อสิ่งแวดล้อม: ข้อมูลที่ผิดพลาดเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจก

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาได้ลดจำนวนโคนมในประเทศจาก 25 ล้านตัวเหลือเพียง 9 ล้านตัว แต่ปัจจุบันสามารถผลิตน้ำนมได้มากขึ้นถึง 60% เลยทีเดียว

 

ยิ่งบริษัทต่างๆ ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์มากขึ้นเท่าไร ยิ่งทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างปศุสัตว์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดร. แฟรงค์ มิตโลฮ์เนอร์ (Frank Mitloehner) ศาสตราจารย์คณะสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเดวิส จะมาร่วมพูดคุยกับเราถึงเสียงลือเกี่ยวกับผลกระทบจากปศุสัตว์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และสาเหตุที่เราไม่ควรกล่าวหาว่าเกษตรกรรมเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่นี่คือกุญแจสู่อนาคตที่ยั่งยืนยิ่งกว่าเดิม

ด้านล่างนี้เป็นบทสัมภาษณ์ ดร.แฟรงค์ มิตโลฮ์เนอร์ ทางพ็อดคาสต์รายการ Ag Future ดำเนินรายการโดยทอม มาร์ติน (Tom Martin) คลิกที่นี่เพื่อรับฟังเสียงการสัมภาษณ์ฉบับเต็ม

 

ทอม:                       ขอต้อนรับเข้าสู่รายการ Ag Future โดย Alltech นะครับ เชิญทุกท่านมาร่วมค้นหาความท้าทายและโอกาสจากห่วงโซ่อุปทานอาหารของโลก และพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายท่านที่ให้การสนับสนุนแพลนเน็ตออฟเพลนตี (Planet of Plenty)TM ไปกับเรา

 

ซึ่งในสภาวะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบในระดับที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ เนื้อสัตว์คือเป้าหมายยอดนิยมที่ถูกเลือกขึ้นมาดำเนินการ นักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศจำนวนมากกระตุ้นให้สาธารณชนหันมาทานเนื้อสัตว์ให้น้อยลงเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งบางรายถึงขั้นเรียกร้องให้มีการเก็บภาษีเนื้อสัตว์เพื่อลดการบริโภคดังกล่าว คำกล่าวอ้างสำคัญของกลุ่มคนเหล่านี้ก็คือ “การผลิตเนื้อทั่วโลกทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากกว่าภาคส่วนคมนาคมทั้งระบบเสียอีก” อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้สามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่ถูกต้อง และยังทำให้คนทั่วไปเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างเนื้อสัตว์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผิดเพี้ยนไปอีกด้วย ข้อความเหล่านี้คือบทเกริ่นนำในบทความของ ดร. แฟรงค์ มิตโลฮ์เนอร์ ศาสตราจารย์คณะสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเดวิส ดร. แฟรงค์มีความเชี่ยวชาญในด้านการวัดค่าและการบรรเทาภาวะมลพิษในอากาศจากการผลิตปศุสัตว์ รวมถึงก๊าซเรือนกระจก เช่น ก๊าซมีเทนที่ผลิตจากโคกระบือ ขอบคุณที่มาร่วมพูดคุยกับเรานะครับ ดร. แฟรงค์

 

ดร. แฟรงค์:            ขอบคุณที่เชิญมาครับ

 

ทอม:                       เราเชิญคุณมาเพื่อพูดคุยกันถึงความสับสนของผู้บริโภคในเรื่องผลกระทบต่อสภาพอากาศที่เกิดขึ้นจากก๊าซมีเทนที่โคกระบือผลิตขึ้นมา ซึ่งส่วนมากก็มาจากกลยุทธ์และยุทธวิธีการตลาดของบริษัทต่างๆ อย่างเช่น เบอร์เกอร์คิงที่อ้างว่าได้พยายามลดการปล่อยก๊าซมีเทนด้วยการเพิ่มตะไคร้เข้าไปในอาหารวัว หรือสตาร์บัคส์ที่ตัดสินใจหยุดใช้ผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น ผมขอเริ่มโดยให้คุณเล่าถึงประเด็นที่เป็นผลมาจากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างปศุสัตว์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสักหน่อยได้ไหมครับ

 

ดร. แฟรงค์:            แนวคิดพวกนี้ส่วนมากมีต้นตอมาจากผลงานตีพิมพ์ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เมื่อปี 2549 ที่อ้างว่าปศุสัตว์ผลิตก๊าซเรือนกระจกมากกว่าภาคคมนาคมน่ะครับ ซึ่งเป็นเรื่องลำบากมากเลยครับ เพราะคำกล่าวอ้างขององค์กรระดับนั้นได้รับความเชื่อถืออย่างมากอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ผมเองได้พิสูจน์แล้วว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวไม่ถูกต้อง และวิธีที่ใช้ในการมองถึงผลกระทบที่ปศุสัตว์มีต่อสภาพอากาศเทียบกับภาคคมนาคมก็เป็นวิธีที่แตกต่างกันด้วยครับ ทางองค์การฯ ก็ได้แก้ไขข้อมูลตรงนี้แล้วและกล่าวว่า “โอ๊ะ ใช่ เราผิดจริงๆ แหละ เราได้กลับไปลองคิดดูใหม่ตั้งแต่ต้นและตอนนี้ก็ใช้วิธีเปรียบเทียบเดียวกันแล้วนะ” แต่ปัญหาคือบทความนั้นเผยแพร่ออกไปแล้ว และนักวิจารณ์ที่คอยโจมตีการเกษตรปศุสัตว์ก็เอาแต่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาอ้าง เอามากดดัน ความเสียหายมันเกิดขึ้นไปแล้วครับ ตอนนี้ องค์กรจำนวนมากก็หยิบยกแง่มุมเรื่องผลกระทบต่อสภาพอากาศขึ้นมาพูด ทั้งเพื่อโปรโมตสินค้าของตัวเองหรือวิพากษ์วิจารณ์อาหารที่ใช้แหล่งวัตถุดิบจากสัตว์

 

ทอม:                       การโฆษณาและการตลาดนี่ทั้งแพร่หลายและโน้มน้าวใจคนได้มากเลยนะครับ คำพูดเหล่านี้สร้างความเสียหายให้แก่การเกษตรอย่างไรบ้างครับ

 

ดร. แฟรงค์:            เวลาที่คุณย้ำข้อมูลผิดๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า สักพักหนึ่งข้อมูลนั้นก็จะกลายเป็นความจริงขึ้นมา อย่างน้อยก็ในสายตาของผู้บริโภคน่ะครับ ซึ่งตรงจุดนั้นล่ะที่แย่ และเหตุผลหนึ่ง องค์ประกอบหนึ่งในความวิบัติครั้งนี้ก็คือภาคการเกษตรตอบสนองช้าเกินไป หรือตอบสนองด้วยแคมเปญประชาสัมพันธ์ที่ตรงกันข้ามกับเจตนาที่อยากจะให้ความจริงปรากฏในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครั้งนี้ เพราะนี่เป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้นเลยครับ

 

ทอม:                       ขอย้อนความกลับไปพูดถึงผู้บริโภคกันสักนิดนะครับ คนกลุ่มนี้น่าจะเคยได้ยินกันแล้วว่าวัวสร้างก๊าซมีเทน มีเทนเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ และการผลิตเนื้อวัวมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อนอื่นเลย ดร. แฟรงค์ครับ ช่วยอธิบายเบื้องต้นเกี่ยวกับสารเคมีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ได้ไหมครับ

 

ดร. แฟรงค์:            ได้ครับ ก๊าซมีเทนคือ CH4 ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นก๊าซที่มีศักยภาพในฐานะก๊าซเรือนกระจกอย่างมากเลยครับ อย่างไรก็ตาม เวลาที่เรามองดูก๊าซมีเทน เราต้องคำนึงถึงส่วนของคาร์บอนในก๊าซมีเทนที่เรากังวลกันด้วย ว่าคาร์บอนนี่มาจากไหน และจะเป็นอย่างไรต่อ

 

มันมาจากก๊าซ CO2 ในบรรยากาศ เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ ซึ่งเข้ามาอยู่ในต้นไม้ได้ในระหว่างกระบวนการสังเคราะห์แสง ต้นไม้ดูดซับสิ่งนี้เข้าไป แล้วก็เปลี่ยนคาร์บอนบางส่วนจากก๊าซ CO2 ในบรรยากาศที่ว่าให้กลายเป็นคาร์โบไฮเดรต อยางเช่น เซลลูโลสหรือแป้ง เป็นต้น ไม่ช้าก็เร็ว วัวตัวหนึ่งก็เดินผ่านมากินพืชนั้นเข้าไป จากนั้น คาร์โบไฮเดรตที่วัวได้กินเข้าไป ส่วนหนึ่งก็จะกลายเป็นก๊าซมีเทนนี่ล่ะครับ อย่างไรก็ตาม ก๊าซมีเทนที่ว่าจะอยู่ในชั้นบรรยากาศเป็นระยะเวลาค่อนข้างสั้น ซึ่งก็คือ 10 ปี จากนั้นก็จะเปลี่ยนกลับไปเป็น CO2 ซึ่งจะกลับเข้าไปในวัฏจักรในฐานะอาหารสัตว์ต่อไปครับ นี่คือวัฏจักรที่เรียกว่า วัฏจักรคาร์บอนชีวภาพ ซึ่งแตกต่างจากคาร์บอนจากฟอสซิลมากนะครับ อย่างเช่นพวกที่มาจากการสกัดและการใช้งานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ซึ่งจะเป็นคาร์บอนที่อยู่ในพื้นดินมาเป็นเวลานานมากๆ แล้วถูกสกัดออกมาเผาผลาญ ทำให้กลายเป็นสารปรุงแต่งใหม่เพิ่มเข้าไปในชั้นบรรยากาศอีก

 

ดังนั้น คาร์บอนชีวภาพจากปศุสัตว์เทียบกับคาร์บอนฟอสซิลจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล มีความแตกต่างกันมากในแง่ของการมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนที่แท้จริงนะครับ ผมขอบอกอะไรไว้อย่างหนึ่ง เพราะคนทั่วไปพูดถึงผลกระทบจากปศุสัตว์เกินจริง คือในสหรัฐอเมริกา การผลิตเนื้อวัวทั้งหมดมีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกประมาณ 3% ของทั้งหมด (และ) การผลิตโคนมทั้งหมดมีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกประมาณ 2% ของทั้งหมด ตกลงไหมครับ นี่คือในสหรัฐอเมริกานะครับ ส่วนทั่วโลก เนื้อวัวทั้งหมดมีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกประมาณ 6% ของทั้งหมดและอุตสาหกรรมนมจะอยู่ที่ 3% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลก อันนี้เพื่อให้เห็นภาพโดยทั่วไปนะครับ เรื่องสุดท้ายคือ ผมเพิ่งบอกไปใช่ไหมว่าเนื้อวัวมีส่วทำให้เกิดก๊าซ 3% ในสหรัฐอเมริกา เทียบกับภาคส่วนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลนี่ทำให้เกิดก๊าซ 80% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดเลยนะครับ ผมมองว่าแคมเปญต่อต้านการเกษตรปศุสัตว์เป็นเหมือนการสับขาหลอกของฝ่ายที่เป็นต้นกำเนิดมลภาวะรายใหญ่ที่แท้จริงน่ะครับ

 

ทอม:                       ครับ เรามาพูดถึงความแตกต่างคลาดเคลื่อนกันบ้างนะครับ คุณได้ตีพิมพ์เอกสารปกขาวออกมาโดยใช้หัวเรื่องว่า “Livestock's Contributions to Climate Change: Facts and Fiction. (ความเกี่ยวข้องของปศุสัตว์ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ข้อเท็จจริงและความเท็จ” ซึ่งในเอกสารฉบับนี้ คุณได้กล่าวถึงคำอ้างที่ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของปศุสัตว์ในสหรัฐฯ ทั้งจากวัว หมู แกะ และไก่ เทียบเท่ากับแหล่งที่มาจากภาคคมนาคมทั้งหมด คุณพบมุมมองที่ต่างออกไปมากเลยนะครับ ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยสิครับ

 

ดร. แฟรงค์:            ได้ครับ มุมมองที่ต่างออกไปก็คือกลุ่มคนที่สร้างภาพเปรียบเทียบปศุสัตว์กับการคมนาคมใช้วิธีหนึ่งในการตรวจสอบผลกระทบที่ปศุสัตว์มีต่อสภาพอากาศ แล้วก็ใช้อีกวิธีที่ต่างออกไปในการตรวจสอบผลกระทบที่การคมนาคมมีต่อสภาพอากาศครับ ซึ่งผมจะอธิบายให้ฟัง สำหรับปศุสัตว์ พวกเขาใช้สิ่งที่เรียกว่าการประเมินวัฏจักรชีวิต ซึ่งจะดูองค์ประกอบทั้งหมดของการผลิต อย่างเช่น เนื้อวัวหนึ่งปอนด์หรือนมหนึ่งแกลลอน ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศอย่างไร รวมถึงดินที่ใช้เพาะปลูกด้วย จากนั้นพืชก็จะถูกสัตว์บริโภค สัตว์ผลิตก๊าซเรือนกระจกออกมาบางส่วนระหว่างกระบวนการหมักในทางเดินอาหาร ซึ่งหมายความว่าสัตว์จะเรอก๊าซออกมาหรือมูลของสัตว์ทำให้เกิดก๊าซดังกล่าว ต่อจากนั้น ไม่ช้าก็เร็ว ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ก็จะถูกส่งจากฟาร์มไปยังศูนย์กระจายสินค้า จากศูนย์กระจายสินค้าไปยังศูนย์แปรรูป และอื่นๆ ต่อไป ในที่สุด ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็จะมาอยู่ที่ร้านอาหารเชิงพาณิชย์หรือในครัวที่บ้านคุณนั่นเอง การประเมินวัฏจักรชีวิตจะดูที่ผลกระทบตลอดทางตั้งแต่สัตว์เกิดจนตาย ซึ่งหมายถึงตั้งแต่ฟาร์มจนถึงโต๊ะอาหาร แบบนี้นี่ล่ะครับที่ควรทำ แล้วองค์กรที่ทำการเปรียบเทียบตรงนี้ ก็ทำไปเพื่อปศุสัตว์ ซึ่งทำได้ดีเสียด้วย แต่เวลาที่นำปศุสัตว์มาเปรียบเทียบกับคมนาคม พวกเขาทำพลาดครั้งใหญ่เลยก็คือ ในส่วนของการคมนาคม พวกเขาไม่ได้ทำการประเมินวัฏจักรชีวิต แต่ดูแค่ค่าการปล่อยก๊าซโดยตรงที่ออกมาจากท่อไอเสียของยานพาหนะ โดยไม่ได้ดูเรื่องการผลิตรถยนต์ รถบรรทุก รถไฟ เครื่องบิน เรือ ถนน อ่าว สนามบิน หรืออื่นๆ เลย ถ้าทำแบบนี้ก็เหมือนกับเอาแอปเปิ้ลมาเทียบกับส้มน่ะครับ เพราะใช้วิธีหนึ่งกับเรื่องหนึ่ง และใช้อีกวิธีกับอีกเรื่องหนึ่ง แต่ก็อย่างที่ผมบอกไปว่าตอนหลังพวกเขาได้แก้ไขเรื่องการเปรียบเทียบนั้นให้ถูกต้องแล้ว

 

ทอม:                       ถ้าอย่างนั้น เวลาที่เราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกัน ทำไมจึงต้องหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซจากปศุสัตว์กับที่มาของก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งสำคัญอื่นๆ ด้วยล่ะครับ

 

ดร. แฟรงค์:            ก่อนอื่นเลยนะครับ ผมคิดว่าภาคเกษตรกรรมทราบดีว่ามีส่วนทำให้สภาพอากาศร้อนขึ้น พวกเรามีส่วนในการสร้างก๊าซเรือนกระจก และเราก็กำลังลงมือลดก๊าซดังกล่าวอย่างจริงจัง ดังนั้น นี่จึงเป็นแค่อารัมภบทเล็กๆ เท่านั้น แต่การเปรียบเทียบปศุสัตว์กับ... สมมติว่ากับการคมนาคมหรือการผลิตและใช้พลังงาน หรืออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ หรืออื่นๆ เป็นวิธีที่อันตรายนะครับ ซึ่งเหตุผลก็คือว่าก๊าซเรือนกระจกประเภทหลักที่ได้จากปศุสัตว์ก็คือก๊าซมีเทน และก๊าซมีเทนจะถูกเปลี่ยนเป็น CO2 ตามวัฏจักรอยู่แล้ว ดังนั้น CO2 ในชั้นบรรยากาศก็จะถูกดูดซึมเข้าไปในพืช ต่อด้วยสัตว์ จากนั้นก็กลับมาเป็น CO2 ในชั้นบรรยากาศอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น วัฏจักรชีวิตก็ค่อนข้างสั้นอยู่ครับ ตราบใดที่คุณไม่เพิ่มจำนวนฝูงปศุสัตว์มากกว่านี้ ตราบใดที่คุณรักษาจำนวนให้คงที่ ถือว่าคุณก็ไม่ได้เพิ่มคาร์บอนให้แก่ชั้นบรรยากาศมากกว่าเดิมครับ ตกลงไหม เรื่องนี้สำคัญมากเลยล่ะ ตราบใดที่คุณไม่เพิ่มจำนวนฝูงปศุสัตว์มากกว่านี้ ถือว่าคุณก็ไม่ได้เพิ่มคาร์บอนให้แก่ชั้นบรรยากาศมากกว่าเดิมครับ

 

แต่ทุกครั้งที่คุณใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล เท่ากับคุณสกัดคาร์บอนออกจากพื้นดินในรูปของน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซ คุณเผาผลาญมัน และคุณก็กำลังเปลี่ยนมันให้กลายเป็น CO2 ซึ่ง CO2 ที่ว่านั่นมีอายุอยู่ได้ตั้ง 1,000 ปี เลยทีเดียว หมายความว่าทุกครั้งที่คุณใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล เช่นสมมติว่าด้วยการขับรถยนต์ เท่ากับคุณกำลังเพิ่มก๊าซเรือนกระจกจากเดิมที่มันมีอยู่แล้วให้มากขึ้นไปอีก ดังนั้น (ก๊าซจาก) ปศุสัตว์จะมีวัฏจักรของมันและผลกระทบก็ค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับของเชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่ไม่ได้วนเวียนเป็นวัฏจักรน่ะครับ แต่เป็นการเดินทางแบบทางเดียว จากพื้นสู่อากาศ และสร้างผลกระทบอย่างยาวนานอีกด้วย

 

ทอม:                       คุณอ้างว่าที่จริงแล้ว ภาคส่วนปศุสัตว์ในสหรัฐฯ ได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการลดรอยเท้าทางสิ่งแวดล้อมมากพอสมควรในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยสิครับ

 

ดร. แฟรงค์:            เรื่องนั้นก็ชัดเจนอยู่แล้วครับ อย่างเช่นในฝั่งของอุตสาหกรรมนม ย้อนกลับไปเมื่อกลางศตวรรษที่แล้วประมาณปี พ.ศ. 2493 (ค.ศ. 1950) ที่สหรัฐอเมริกามีโคนม 25 ล้านตัว ยี่สิบห้าล้านเลยนะครับ แต่ทุกวันนี้เรามีโคนม 9 ล้านตัว ลดลงไปเยอะมากครับ แต่ถึงตอนนี้วัวจะฝูงเล็กลงมากขนาดนี้ เรากลับผลิตนมได้มากกว่าเดิม 60% เลย ได้นมมากขึ้นหกสิบเปอร์เซ็นต์ด้วยจำนวนวัวที่น้อยลงมาก เท่ากับว่าก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมนมลดลงถึง 2/3 เชียวนะครับ ในส่วนของอุตสาหกรรมเนื้อวัว เรามีโคเนื้ออยู่ 100... เมื่อปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) เรามีโคเนื้อ 140 ล้านตัว  ปัจจุบันก็เกิน 90 ล้านมาเล็กน้อย โคเนื้อก็ลดไปเยอะครับ ลดไป 50 ล้านตัว แต่ถึงเราจะมีวัวน้อยลง 50 ล้านตัว แต่ยังผลิตเนื้อได้มากเท่าเดิมนะครับ ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในประเทศนี้นี่ถือว่าไม่ธรรมดาเลยครับ เราผลิตเนื้อวัวได้ 18% ของปริมาณทั่วโลกด้วยวัวจำนวนแค่ 8% จากทั้งหมดที่มีบนโลก ไม่ธรรมดาครับ

 

ทอม:                       เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของความมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงเลยนะครับ แล้วอย่างนั้น มันเป็นอย่างนี้ได้เพราะอะไรครับ ประสิทธิภาพจากหลักการทางวิทยาศาสตร์หรือครับ

 

ดร. แฟรงค์:            ก็ส่วนหนึ่งครับ ผมคิดว่าอุตสาหกรรมการเกษตรปศุสัตว์ใช้เครื่องมือหลักๆ อยู่ 4 อย่าง อย่างแรกคือการวิจัยและพัฒนาในด้านพันธุศาสตร์ โดยใช้สารพันธุกรรมที่ดียิ่งขึ้นกับทั้งพืชและสัตว์ สองคือเราได้พัฒนาประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์ปศุสัตว์ สามคือเราได้ติดตั้งระบบสัตวแพทย์ ซึ่งทำได้ทั้งป้องกันและ/หรือรักษาโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดคือ เราได้พัฒนาระบบการให้อาหารสัตว์ เป็นระบบโภชนาการที่ดึงคุณประโยชน์ของสารอาหารออกมาได้สูงสุดเพื่อปศุสัตว์และสัตว์ปีกน่ะครับ ซึ่งพอทั้งสี่ข้อนี้มารวมกัน ทั้งเรื่องพันธุศาสตร์ ประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์ และพัฒนาการในด้านระบบบสัตวแพทย์และระบบโภชนาการ ทั้ง 4 อย่างนี้รวมกันก็ทำให้เราลดขนาดฝูงลงมาแตะระดับต่ำเป็นประวัติการณ์แต่สร้างผลผลิตได้มากกว่าเดิมเสียอีก

 

ทอม:                       คุณคิดว่าตอนนี้เราจำเป็นต้องพัฒนาด้านไหนครับ ทำอย่างไรจึงจะได้ผลการประเมินค่าการปล่อยก๊าซที่แม่นยำและเป็นธรรม จะได้หาวิธีแก้ไขได้ถูกต้องครับ

 

ดร. แฟรงค์:            อืม นั่นเป็นคำถามสำคัญเลยนะครับ ถ้าคุณไปถามนักวิทยาศาสตร์สักคนว่าต้องทำอย่างไร เขาคงตอบคุณว่า “ฟังนะ คุณก็รู้ใช่ไหมว่าสายนี้ยังไม่มีเงินทุนสนับสนุนเพียงพอ” ผมเองก็ไม่ต่างครับ ผมก็จะบอกคุณว่าเม็ดเงินที่ภาคสาธารณะยอมจ่ายเพื่อแลกกับข้อมูลว่าด้วยผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานอาหารของเรามันน้อยจนน่าท้อแท้เลยล่ะ เงินทุนหายากมากจนแทบไม่มี แม้แต่ในส่วนอุตสาหกรรมของภาคเอกชนก็ให้เงินทุนน้อยมากๆ เช่นกัน เหตุผลที่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญก็เพราะว่าพอเงินทุนขาดแคลน นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ก็เลิกจับงานวิจัยประเภทนั้นแทน ทั้งที่จริงๆ แล้ว นั่นเป็นสิ่งจำเป็นต้องปรากฏในสื่ออย่างเร่งด่วนและทันทีนะครับ ผมหวังว่าโดยเฉพาะภาคเอกชน หน่วยงานของรัฐและสหพันธรัฐ จะเข้ามาสนับสนุนการค้นหาผลกระทบจากปศุสัตว์ที่แท้จริง รวมถึงการวิจัยที่จะช่วยลดผลกระทบดังกล่าวให้น้อยลงกว่าเดิมด้วยครับ

 

ทอม:                       ก่อนหน้านี้ คุณได้พูดถึง FAO ซึ่งก็คือองค์การอาหารและเกษตรของสหประชาชาติ ทาง FAO ได้จัดตั้งโครงการความร่วมมือนานาชาติขึ้นโครงการหนึ่งเพื่อพัฒนาและใช้วิธีการประเมินวัฏจักรชีวิตที่ได้มาตรฐานสูงสุดสำหรับปศุสัตว์แต่ละสายพันธุ์ในภาคการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งก็ทำมาได้สักพักหนึ่งแล้ว ตอนนี้โครงการนี้ไปถึงไหนแล้วครับ และคุณคิดว่าโครงการนี้ทำให้ความเข้าใจของสาธารณชนต่อบทบาทของปศุสัตว์ในเรื่องการสร้างก๊าซเรือนกระจกแตกต่างออกไปไหมครับ

 

ดร. แฟรงค์:            โครงการนี้มีชื่อเรียกว่า LEAPP ซึ่งย่อมาจากคำว่า Livestock Environmental Assessment Performance Partnership (ความร่วมมือว่าด้วยประสิทธิภาพในการประเมินปศุสัตว์เชิงสิ่งแวดล้อม) น่ะครับ และความร่วมมือนี้ประกอบด้วยกัน 3 ภาคส่วน ได้แก่ รัฐบาล พร้อมด้วยเอ็นจีโอ (non-governmental organizations - องค์การนอกภาครัฐ) และภาคอุตสาหกรรมครับ จึงมีทั้งอุตสาหกรรมปศุสัตว์ สัตว์ปีก อาหารสัตว์ และอื่นๆ อีกมากมาย และก็ได้รับการสนับสนุนจากทาง FAO ด้วย ซึ่งที่จริงผมเองก็เคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการคนแรกของคณะกรรมการที่ดูแลโครงการนี้ด้วยน่ะครับ เราก็ได้พัฒนาแนวทางต่างๆ ว่าด้วยวิธีการประเมินวัฏจักรชีวิตสำหรับปศุสัตว์ สำหรับอาหารสัตว์อย่างเหมาะสม ไม่ใช่แค่เพื่อเรื่องก๊าซเรือนกระจกอย่างเดียวนะครับ แต่เพื่อเรื่องสารอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพ การอุปโภคบริโภคน้ำ และอื่นๆ ซึ่งในบริบทนี้ เราก็ได้พัฒนา เรียกได้ว่าอย่างน้อยก็ได้แนวทางมาประมาณสักสิบกว่าวิธีได้ ซึ่งตอนนี้ก็ได้รับการพิจารณาให้เป็นมาตรฐานสูงสุดระดับโลกในด้าน LCA  ซึ่งก็คือ lifecycle assessment (การประเมินวัฏจักรชีวิต) ครับ และผมคิดว่า ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการกำหนดปริมาณที่ถูกต้องแม่นยำขึ้นแล้ว

 

มันเป็นเรื่องสำคัญมากนะครับที่สาธารณชนควรได้รับรู้และเข้าใจว่าทุกฝ่ายไม่ได้นิ่งเฉยดูดายกับเรื่องนี้ ตอนนี้ก็มีการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อหาวิธีวัดปริมาณอย่างแม่นยำและลดการปล่อยก๊าซจากภาคการเกษตรปศุสัตว์ จากภาคเกษตรกรรมโดยรวมให้น้อยลงกว่าเดิมแล้ว ภาคเกษตรกรรมเองก็เข้ามามีส่วนร่วมอย่างมาก แต่เสียดายที่บ่อยครั้งก็ยังสื่อสารช้าเกินไปหน่อย

 

ทอม:                       ในเอกสารปกขาวที่คุณเขียนขึ้นมา คุณบอกไว้ว่าทุกภูมิภาคมีความต้องการและความสามารถเฉพาะตัว ดังนั้นจึงต้องคิดวิธีแก้ปัญหาขึ้นมาเฉพาะสำหรับภูมิภาคนั้นๆ ดังนั้น ถ้าเราใช้สหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบ เป็นโลกใบเล็กๆ ในโลกใบใหญ่ เกษตรกรรมของสหรัฐฯ ในปัจจุบันนี้มีโครงสร้างในลักษณะที่เอื้ออำนวยให้ใช้วิธีเฉพาะภูมิภาคแล้วหรือยังครับ หรือนี่แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับโครงสร้างใหม่และการประสานงานที่ดียิ่งกว่าเดิม

 

ดร. แฟรงค์:            ที่จริงแล้ว สหรัฐอเมริกาถือว่าเป็นที่ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในระบบเกษตรกรรมทั้งหมดทั่วโลกแล้วนะครับ ผมคิดว่าเรื่องนั้นไม่น่าจะมีใครโต้แย้งหรอก แต่ก็ไม่ถึงกับพูดได้ว่าสิ่งที่เราทำที่นี่และวิธีการที่เราใช้ผลิตสิ่งต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา อย่างเช่นอาหารที่มาจากสัตว์ จะเอามาใช้เป็นต้นแบบให้ที่อื่นๆ บนโลกได้หมดทุกที่ เราอาจจะเป็นต้นแบบของประเทศพัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศได้ แต่ก็คงใช้กับประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้สักเท่าไร เพราะประสิทธิภาพในประเทศเหล่านั้น อย่างแรกเลยก็คือเรื่องผลผลิตของปศุสัตว์ มันต่ำกว่ากันมาก แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นเพราะขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานน่ะครับ ดังนั้น ถ้าจะให้ยกตัวอย่าง ผมบอกไปแล้วใช่ไหมว่าในสหรัฐอเมริกามีโคนมอยู่ 9 ล้านตัว แต่ในอินเดียมีสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อเอานมอยู่ถึง 300 ล้านตัว ทั้งวัวและควายรวมกัน และยังมีความเชื่อทางศาสนาว่าการทานเนื้อเป็นบาปอีกด้วย พวกเขาก็เลยไม่ทานเนื้อกัน แต่เลี้ยงไว้เยอะแยะเลยครับ ทางเราไม่ได้กำลังจะเสนอหรือแนะนำว่าพวกเขาควรเปลี่ยนระบบความเชื่อทางศาสนานะครับ แต่กำลังจะแนะนำว่าถ้าอยากได้สารอาหารที่จำเป็นอย่างครบถ้วนและอยากใช้ประโยชน์จากวัวในเรื่องนี้ อย่างเช่น (จาก) ผลิตภัณฑ์จากนมโคกระบือ พวกเขาก็แค่ทำอย่างเดิม อย่างที่ทำกับประชากรโคกระบือ 1/4 ที่มีอยู่ในปัจจุบันได้นะครับ เพราะการที่เลี้ยงสัตว์ไว้จำนวนมหาศาลขนาดนั้นจะทำให้เกิดรอยเท้าทางสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมากทีเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่เราสามารถปรับลดลงไปได้อีกมากเลยครับ ส่วนพวกเราที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ทั้งนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ และอื่นๆ ก็สามารถช่วยคนอื่นๆ ทั่วโลก ชาติอื่นๆ ทั่วโลก ให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ได้ ตัวอย่างเช่น เราสามารถช่วยสร้างระบบสัตวแพทย์ หรือช่วยสร้างภาคโภชนาการหรือภาคพันธุศาสตร์ที่จำเป็นจริงๆ ได้ ซึ่งก็ต้องทำด้วยความละเอียดอ่อนอย่างมากด้วยนะครับเวลาที่ไปทำงานพัฒนาสิ่งที่เหมาะกับแต่ละภูมิภาคร่วมกับสถานที่อื่นที่มีความแตกต่างออกไป

 

ทอม:                       ดร. แฟรงค์ครับ ความท้าทายในการจัดหาอาหารให้แก่ประชากรโลกที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในความคิดของนักวิจัยและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านโภชนาการ อย่างแพลนเน็ตออฟเพลนตีก็เป็นเป้าหมายที่ทาง Alltech ได้ตั้งปณิธานไว้ คุณเชื่อไหมครับว่าเราจะบรรลุเป้าหมายเช่นนั้นได้จริง และรักษาไว้ให้ยั่งยืนด้วยถ้าทำได้จริง

 

ดร. แฟรงค์:            นั่นเป็นคำถามที่สำคัญมากเลยนะครับ ผมเพิ่งอายุ 50 เอง ตอนที่ผมยังเล็ก โลกเรามีประชากรประมาณ 3 พันล้านคน 3 พันล้านนะครับ แต่ปัจจุบันนี้เรามี 7.6 พันล้าน ตอนที่ผมแก่ก็จะแตะระดับประมาณ 9.5 พันล้านคน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประชากรโลกเพิ่มขึ้นถึงสามเท่าตลอดช่วงชีวิตของเราเลยนะครับ ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่ได้ผลิตทรัพยากรธรรมชาติได้มากขึ้นสามเท่าเพื่อเป็นอาหารให้แก่คนเหล่านี้เลย ซึ่งมันจำเป็นนะครับ การที่เราเพิ่มการผลิตอาหารอย่างเต็มที่เพื่อประชากรมนุษย์ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างบ้าคลั่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เพราะถ้าไม่อย่างนั้น เราจะเจอปัญหาใหญ่แน่นอนครับ

 

แล้วเราจะทำได้ไหม เราจะสร้างผลผลิตมากกว่าเดิมด้วยต้นทุนเท่าๆ กับที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ได้ไหม คำตอบในใจผมบอกว่าทำได้ครับ เราได้แสดงให้เห็นกันมาแล้ว อย่างในสหรัฐอเมริกาตลอดช่วง 60 ปีที่ผ่านมา เรารักษาปริมาณต้นทุนสำหรับการเกษตรปศุสัตว์ให้คงที่ แต่เพิ่มผลผลิตได้ถึง 3 เท่า 3 เท่าเลยครับ นี่เป็นเรื่องราวความสำเร็จที่เหลือเชื่อนะครับ อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่า เราไม่สามารถถ่ายโอนต้นแบบของสหรัฐฯ ไปใช้กับประเทศอื่นทั้งโลกได้ แต่เราช่วยประเทศอื่นให้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดได้ ยกตัวอย่างเช่นประเทศจีน ที่ผลิตสุกรได้มากถึงครึ่งหนึ่งของที่ผลิตได้ทั่วโลกซึ่งก็คือ 1 พันล้านตัวต่อปี แต่กลับมีอัตราการตายของลูกหมูก่อนหย่านมถึง 40% ทุกปี จีนจะเสียหมูไปถึง 400 ล้านตัวในช่วงก่อนหย่านม และนั่นถือเป็นความผิดพลาดนะครับ และเป็นความสูญเสียที่ไม่จำเป็นเลยแม้แต่น้อย ซึ่งเราสามารถช่วยชาวจีนในเรื่องนี้ได้นะครับ เราช่วยประเทศอื่นทั้งโลกให้พัฒนาไปไกลกว่านี้ได้โดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรเพิ่มมากมายเลย เราผลิตได้มากกว่าด้วยต้นทุนที่น้อยกว่า และนั่นล่ะคือหัวใจของความยั่งยืนครับ

 

ทอม:                       ดร. แฟรงค์ มิตโลฮ์เนอร์ ศาสตราจารย์คณะสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเดวิส ขอบคุณนะครับที่มาร่วมพูดคุยกับเรา

 

ดร. แฟรงค์:            ขอบคุณที่เชิญมาครับ ยินดีครับ

 

ทอม:                       และนี่คือรายการ Ag Future โดย Alltech ครับ ขอบคุณที่รับฟังนะครับ แล้วอย่าลืมกดติดตามพ็อดคาสต์จากรายการ Ag Future ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

Loading...