Skip to main content

เผยเทรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงและข้อมูลเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม

นิโคล ฮิลล์ ใช้ประสบการณ์อันเข้มข้นในด้านโภชนาการมนุษย์และอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง สกัดออกมาเป็นข้อมูลเชิงลึกว่าด้วยนวัตกรรมและการสร้างแบรนด์

เทรนด์สุขภาพของมนุษย์นั้นส่งต่อไปสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงด้วยหรือไม่ นิโคล ฮิลล์ (Nicole Hill) ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายกลยุทธ์ของ MarketPlace มาร่วมพูดคุยทางพ็อดคาสต์ในรายการ Ag Future ว่าแนวโน้มด้านโภชนาการของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นต่างๆ เช่น สุขภาพลำไส้ ไฟเบอร์ และสุขภาพสมองด้านรู้คิด เริ่มแผ่ขยายสู่ร้านขายสัตว์เลี้ยงเมื่อเส้นแบ่งระหว่างสัตว์เลี้ยงและสมาชิกครอบครัวเริ่มจางลงได้อย่างไร

ด้านล่างนี้เป็นบทสัมภาษณ์ นิโคล ฮิลล์ ทางพ็อดคาสต์ในรายการ Ag Future ดำเนินรายการโดยทอม มาร์ติน (Tom Martin) คลิกด้านล่างนี้เพื่อรับฟังเสียงการสัมภาษณ์ฉบับเต็มหรือเลือกรับฟังผ่านทาง Apple Podcasts, Spotify หรือ Google Podcasts

 

ทอม:            สวัสดีครับ ขอต้อนรับเข้าสู่รายการ Ag Future โดย Alltech นะครับ เชิญทุกท่านมาร่วมค้นหาโอกาสที่สดใสในธุรกิจเกษตร-อาหาร และอื่นๆ ได้ที่ งานประชุม Alltech ONE 2022 นะครับ

 

                     นิโคล ฮิลล์ เป็นผู้อำนวยการบริหารฝ่ายกลยุทธ์ของ MarketPlace ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจและแบรนด์ ในบทบาทนี้ เธอได้เป็นผู้นำในการวางกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อธุรกิจต่อธุรกิจและสินค้าอุปโภคบริโภคแบบบรรจุสำเร็จสำหรับสัตว์เลี้ยง โภชนาการสัตว์และมนุษย์ และแบรนด์ด้าน wellness

 

                     ผม ทอม มาร์ติน ผู้ดำเนินรายการซีรี่ส์ Ag Future โดย Alltech ตอนนี้คุณนิโคลมาอยู่กับเราตรงนี้แล้วเพื่อร่วมพูดคุยในเรื่องแนวโน้มและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการข้ามกลุ่มระหว่างสัตว์เลี้ยงกับมนุษย์ครับ สวัสดีครับ คุณนิโคล

 

นิโคล:          สวัสดีค่ะ ทอม ขอบคุณมากนะคะที่เชิญมา

 

ทอม:            ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด คุณมีส่วนเกี่ยวข้องในด้านการออกแบบ การวิจัยและวิเคราะห์ใช่ไหมครับ

 

นิโคล:          ใช่ค่ะ จากบทบาทของดิฉันในฐานะผู้อำนวยการบริหารฝ่ายกลยุทธ์ของ MarketPlace ดิฉันได้สัมผัสกับกระบวนการด้านนวัตกรรมของแบรนด์สัตว์เลี้ยงมาแล้วหลากหลายแบรนด์ทั้งในฝั่งของธุรกิจต่อธุรกิจและต่อผู้บริโภค ส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนวัตกรรมก็คือการทำวิจัยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผู้บริโภค รวมไปถึงการพัฒนาแบรนด์หรือปรับเปลี่ยนแบรนด์เดิมที่มีอยู่ในตลาดซึ่งจำเป็นต้องวางจุดยืนใหม่เพื่อให้สามารถเชื่อมสัมพันธ์กับเจ้าของสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้นค่ะ

 

ทอม:            อะไรคือสิ่งที่ต้องทำเป็นพื้นฐานอันดับแรก ก่อนที่คุณจะเริ่มงานครับ

 

นิโคล:          อืม ชัดๆ เลยก็คือเราจะเริ่มด้วยการทำความรู้จักผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์ที่มีอยู่ค่ะ แต่หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการคิดดีไซน์อย่างรวดเร็ว ขั้นแรกในกระบวนการนี้คืออารมณ์ร่วมค่ะ ซึ่งการที่จะเกิดความเห็นอกเห็นใจเจ้าของสัตว์เลี้ยงหรือผู้รับสารนั้น เราต้องแน่ใจว่าเราไม่ได้เข้าใจไปเองว่าคนอื่นต้องการอะไร ให้คุณค่าอะไร รู้สึก (หรือ) คิดอย่างไร แต่ให้ทดสอบสมมติฐานของเราตามความเป็นจริงจริงๆ และต่อยอดความรู้เกี่ยวกับด้านต่างๆ ที่เรามีด้วยการทำวิจัยเฉพาะ ที่จริงตอนนี้เรากำลังทำการสำรวจเจ้าของสัตว์เลี้ยงประมาณ 500, 600, 700 คนทั่วสหรัฐฯ เพื่อให้ทราบถึงสิ่งที่คนเหล่านั้นคิด รู้สึก ให้คุณค่า (และ) เพื่อทำความเข้าใจในความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างเจ้าของกับสัตว์เลี้ยง จากนั้นจึงนำมุมมองต่างๆ มาเชื่อมโยงกับผู้รับสารที่เป็นเป้าหมายของผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์นั้นๆ ที่เราทำงานให้

 

ทอม:            เหมือนกับว่าแง่มุมนี้เป็นแง่มุมที่อ่อนไหวมากเลยนะครับสำหรับตลาดผู้บริโภคทั่วไป แล้วเรื่องที่เรากำลังพูดถึงตรงนี้เป็นรองก็แค่เรื่องครอบครัว... หมายถึงครอบครัวมนุษย์ ใช่ไหมครับ เพราะทั้งสุนัข แมว หรือแม้แต่สัตว์อื่นๆ ที่ใช้ชีวิตร่วมกันกับเราก็จะกลายมาเป็นครอบครัวเดียวกับเรา และพวกเขาก็เน้นย้ำความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์เลี้ยงต่อมนุษย์นั้นด้วย ถ้าอย่างนั้น การที่คุณเห็นว่าการมีอิทธิพลถึงกันระหว่างมนุษย์และสัตว์แบบพิเศษนี้มีผลต่อคำแนะนำที่คุณให้กับบริษัทลูกค้าของคุณอย่างไรบ้างครับ

 

นิโคล:          ค่ะ อย่างที่คุณเพิ่งพูดไปก็คือ สำหรับคนจำนวนมากแล้ว สัตว์เลี้ยงถือเป็นสมาชิกของครอบครัวนะคะ เมื่อเร็วๆ นี้เราเพิ่งทำการวิจัยไปประมาณหนึ่งและพบว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงจำนวนหนึ่งคิดอย่างจริงจังว่า “สัตว์เลี้ยงของฉันนึกว่าตัวเองเป็นมนุษย์” ความพยายามทำให้สัตว์เลี้ยงกลายเป็นมนุษย์แบบนี้ล่ะค่ะที่เกิดขึ้นมาสักพักแล้ว และตอนนี้ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก เวลาที่เรามองดูแนวโน้มการครอสโอเวอร์กันในด้านโภชนาการระหว่างสัตว์เลี้ยงกับมนุษย์... เพราะที่ Marketplace ลูกค้าของเรามีทั้งแบรนด์สัตว์เลี้ยงและแบรนด์โภชนาการมนุษย์ เราจึงได้เห็นหลักฐานพิสูจน์จำนวนมากว่าถ้าคนเราอยากได้อะไรให้ตัวเอง ก็อยากให้สัตว์เลี้ยงแบบเดียวกัน ซึ่งเวลาที่พูดถึงเรื่องพวกสุขภาพลำไส้ ภูมิคุ้มกัน (และ) ไฟเบอร์ นี่ล่ะค่ะ คือแรงผลักดันในฝั่งโภชนาการมนุษย์ และตอนนี้เราก็เห็นว่าในส่วนของโภชนาการสัตว์เลี้ยงก็เกิดเทรนด์คล้ายๆ กันนี้ด้วย เรื่องนี้เริ่มเข้ามามีบทบาทจริงๆ นะคะเวลาที่เราดูเรื่องอย่างเช่น ไฟเบอร์ รวมถึงพรีไบโอติกหรือแม้แต่โพสต์ไบโอติก กระแสเรื่องพรีไบโอติกและอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวกับสุขภาพลำไส้และภูมิคุ้มกัน กระแสความนิยมของมนุษย์ในเรื่องต่างๆ เหล่านั้น เราจะเห็นเกิดขึ้นในเทรนด์ของสัตว์เลี้ยงเช่นกันค่ะ

 

ทอม:            ปัจจุบันนี้ ใครๆ ก็กำลังพูดถึงความยั่งยืน ซึ่งมันก็เป็นเรื่องสำคัญมากทีเดียว ผมอยากทราบว่าเรื่องนี้มีบทบาทต่อการคิดเชิงกลยุทธ์ของคุณอย่างไรบ้างครับ

 

นิโคล:          มีผลแน่นอนค่ะ หมายถึงว่า ฉันคิดว่าทุกคนก็ตระหนักดีว่าพวกเรามีส่วนรับผิดชอบต่อโลกของเรา ต่อสิ่งที่เราทิ้งไว้เบื้องหลังให้คนรุ่นต่อไป บริษัท แบรนด์ และภาคส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมโภชนาการสัตว์เลี้ยงและมนุษย์เองก็ตระหนักดีว่าทุกการกระทำที่เกิดขึ้นนั้นทิ้งร่องรอยที่แสนยาวนาน เราจึงจะเห็นได้ว่าแบรนด์และธุรกิจต่างๆ หันมาลงทุนในเรื่องความยั่งยืนของส่วนผสม บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ กระบวนการผลิต เพราะเราอยากจะมั่นใจว่าเรื่องราวที่เราบอกเล่าแก่ผู้บริโภคที่กำลังเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อยู่นั้น ทำให้พวกเขาเข้าใจถึงผลกระทบในท้ายที่สุดจากการตัดสินใจเลือกซื้อในแต่ละครั้ง หมายถึงพวกผลกระทบที่ยาวนานถาวร มาเป็นระลอกอะไรอย่างนี้น่ะค่ะ ถ้าคนเรามีการพิจารณาถึงปริมาณหรือสิ่งอื่นๆ ในการเลือกซื้อ เมื่อนั้นมันจะเชื่อมโยงไปถึงความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมเองค่ะ

 

ทอม:            กระแสใหญ่ๆ ในฝั่งของอาหารสัตว์เลี้ยงที่เกิดขึ้นในช่วงนี้มีอะไรบ้างครับ แล้วมีกระแสใดบ้างที่ทางคุณเฝ้าดู (หรือ) จับตาดูว่าน่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

 

นิโคล:          เรื่องภูมิคุ้มกันกับสุขภาพลำไส้เป็นกระแส 2 อันดับแรกแน่นอนค่ะ เพราะคนเราก็อยากให้สัตว์เลี้ยงอายุยืนที่สุดเท่าที่จะทำได้ ฉันคิดว่าพวกเราทุกคนคงจำได้ว่าเคยรู้สึกขึ้นมาว่า “พวกสุนัขนี่อายุสั้นเกินไปนะ ถ้าอายุยืนเท่ากันได้ก็ดีสิ” แน่นอนว่าภูมิคุ้มกันคือมาตรการเชิงรุกที่ว่านั่นล่ะค่ะ แล้วเมื่อมีการข้ามกลุ่มในเรื่องโภชนาการมนุษย์และสัตว์เลี้ยง ก็จะทำให้เกิดการตระหนักแบบข้ามกลุ่มด้วย คือเราเริ่มตระหนักว่าลำไส้กับจิตใจเชื่อมโยงถึงกัน และสุขภาพลำไส้คือองค์ประกอบที่สำคัญต่อสุขภาพในองค์รวม ตอนนี้คนทั่วไปได้รู้แล้วว่าสุขภาพลำไส้มีบทบาทสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีทางโภชนาการทั้งของตัวเองและสัตว์เลี้ยง เราจะเห็นได้ว่ากระแสเหล่านี้เริ่มก่อตัวขึ้น

 

                     ฉันคิดว่า 2 ปีที่ผ่านมาได้ผลักดันให้ผู้คนมีความตระหนักมากขึ้นทั้งในเรื่องภูมิคุ้มกันและสุขภาพลำไส้ แถมยังรวมไปถึงเรื่องการแก้ปัญหาความเครียดและความกังวลของสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสำหรับเจ้าของสัตว์ที่มีโอกาสทำงานที่บ้านเป็นระยะเวลาหนึ่งและได้อยู่กับสัตว์เลี้ยงหรือรับสัตว์มาเลี้ยงระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว และตอนนี้อาจต้องกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ ซึ่งอาจทำให้สัตว์เลี้ยงรู้สึกกังวลที่ต้องแยกจากเจ้าของอะไรอย่างนั้นค่ะ การมองหาผลิตภัณฑ์ที่ (ผลิตอย่าง) ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ (จะ) ช่วยให้สัตว์เลี้ยงจัดการกับอารมณ์ได้ จึงไม่เกิดความเครียดและกังวลที่ต้องอยู่ห่างจากเจ้าของค่ะ

 

ทอม:            น่าสนใจเหมือนกันนะครับที่คุณพูดถึงความเชื่อมโยงระหว่างจิตใจกับโภชนาการ เราเคยได้คุยเกี่ยวกับเรื่อง Neurogastronomy หรือศาสตร์ว่าด้วยเรื่องระบบประสาทและการรับรู้กลิ่นรสกับใครต่อใครมากมายแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าเราคุยกันในบริบทของมนุษย์ แต่ผมไม่เคยคิดเลยว่าเราจะมาคุยเรื่องนี้ในบริบทของสัตว์เลี้ยงได้ด้วย แต่มันก็เข้าท่าดีนะครับ

 

นิโคล:          แน่นอนค่ะ แม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์เลี้ยงกับเจ้าของบางกลุ่ม เช่น กลุ่มคนที่มองสัตว์เลี้ยงแล้วคิดว่า “สัตว์เลี้ยงตัวนี้เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของฉัน เป็นสมาชิกครอบครัว แล้วสัตว์เลี้ยงของฉันก็ยังคิดว่าตัวเองเป็นคนด้วย” เราเห็นได้เลยว่าพวกเขาจะต้องการให้สัตว์เลี้ยงได้รับโภชนาการที่ส่งผลดีต่อระบบความรู้คิดมากเลยทีเดียว ซึ่งฉันคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรามองสัตว์เลี้ยงเป็นคนนั่นล่ะค่ะ เราคิดว่าพวกเขามีลักษณะเฉพาะตัว แตกต่างจากตัวอื่นอย่างน่าทึ่ง ทั้งที่เห็นได้ชัดเลยว่าลักษณะเฉพาะจำนวนมากของเราเองก็ถูกควบคุมด้วยสมองนั่นล่ะค่ะ เราจึงอยากให้สัตว์เลี้ยงของตัวเองมีสุขภาพดี สมบูรณ์แข็งแรงที่สุดในทุกด้านให้นานเท่าที่จะเป็นไปได้ ให้ใกล้เคียงกับมนุษย์หรืออย่างน้อยให้เต็มศักยภาพเท่าที่สุนัขหรือแมวทำได้มากที่สุด

 

ทอม:            ผมคิดว่าพวกเราส่วนใหญ่อยากให้สัตว์พูดได้นะ แต่ก็กังวลด้วยว่าถ้าพูดได้แล้วจะพูดว่าอะไร

 

นิโคล:          ใช่เลยค่ะ

 

ทอม:            ปัจจุบันนี้มีการพูดถึง functional ingredients หรือส่วนผสมที่ให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ อย่างพวกไมโครไบโอมและยาปฏิชีวนะค่อนข้างเยอะนะครับ ซึ่งเราจะมาดูเรื่องนี้กัน ก่อนอื่นคือ functional ingredients คำนี้หมายถึงอะไรครับและทำไมถึงเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจครับ

 

นิโคล:          ได้ค่ะ เวลาที่เราพูดถึง functional ingredients เราจะหมายถึงสิ่งต่างๆ ที่มีประโยชน์ ทำหน้าที่ในร่างกาย อย่างเช่น ส่งเสริมสุขภาพสะโพกและข้อต่อ สุขภาพผิวและขน การเคลื่อนไหว กระบวนการรับรู้ สุขภาพลำไส้ ภูมิคุ้มกัน อะไรแบบนั้นค่ะ ประโยชน์เชิงหน้าที่เป็นเรื่องสำคัญเพราะเจ้าของสัตว์จะเลือกซื้อสิ่งต่างๆ อย่างเช่นอาหารเสริมหรือโภชนาการเชิงหน้าที่อื่นๆ หรือแม้แต่อาหาร เพราะเรื่องนี้นี่ล่ะค่ะ เมื่อเราพูดถึงประโยชน์เชิงหน้าที่ที่เจาะจงอย่างเช่นการเคลื่อนไหว (หรือ) สุขภาพสะโพกและข้อต่อ คุณก็คงอยากให้สัตว์เลี้ยงไปไหนมาไหน ขึ้นลงบันได ไปเดินเล่นนานๆ ปีนเขา หรืออะไรก็ตามได้อย่างสบาย

 

                    ด้วยเหตุนี้ เจ้าของสัตว์เลี้ยงจำนวนมากจึงจับจ่ายโดยเลือกประโยชน์เชิงหน้าที่ก่อนอื่นใดโดยเจาะจงอาหารเสริม อย่างแรกที่ดูไม่ใช่ส่วนผสมแต่ดูที่ประโยชน์ก่อน หมายถึงประโยชน์สำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยงจำนวนมากซึ่งสอดคล้องกับคุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยงของตนตามที่ต้องการ จึงถือเป็นการช่วยปรับโภชนาการให้เหมาะกับสัตว์เลี้ยงแต่ละตัวด้วย ดังนั้นอาหารที่อาจส่งเสริมสุขภาพสะโพกและข้อต่อหรือการเคลื่อนไหวนั้น อาจเป็นอาหารที่ผู้เลี้ยงรู้สึกอยากซื้อให้สุนัขที่กำลังเริ่มแก่ตัวลง เริ่มมีปัญหาในการไปไหนมาไหนมากขึ้นนิดหน่อย หรือสุนัขตัวนั้นอาจจะเป็นสายพันธุ์ที่ทราบกันอยู่แล้วว่ามีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวเมื่ออายุมาก เจ้าของจึงอยากดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงแบบเชิงรุกน่ะค่ะ

 

ทอม:            แล้วไมโครไบโอมล่ะครับ ไมโครไบโอมที่อยู่ในระบบย่อยอาหารของสัตว์เลี้ยง 

 

นิโคล:          ไมโครไบโอมนี่ลึกลับและน่าสนใจนะคะ ดิฉันคิดว่ามันเป็นอะไรที่ ยิ่งเรารู้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งรู้ว่ายังมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้อีกมาก ในเมื่อผู้เลี้ยงทั่วไปไม่ได้พิจารณาแค่ลายนิ้วมือเฉพาะตัวของไมโครไบโอมและสัตว์เลี้ยงแต่เพียงอย่างเดียว ฝั่งเราเองก็กำลังพิจารณาว่าจะช่วยสร้างสมดุลให้ชีววิทยาและองค์ประกอบภายในของสัตว์เลี้ยงเพื่อให้อายุยืนที่สุด แข็งแรงที่สุด มีความสุขที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ได้อย่างไรเช่นกันค่ะ เวลาที่เราดูพวกพรีไบโอติกส์ โพสไบโอติกส์ หรือพวกไบโอติกส์ทั้งหมด โพรไบโอติกส์ด้วย สิ่งเหล่านี้ล่ะค่ะที่ผู้บริโภคนำมาพิจารณาช่วยรักษาระดับไมโครไบโอมที่เหมาะสมในสัตว์เลี้ยงของตน

 

ทอม:            ยาปฏิชีวนะเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะเรื่องการดื้อยาและผลกระทบต่อไมโครไบโอม ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงได้มีการพูดคุยถึงเรื่องความกังวลเหล่านี้อย่างไรบ้างครับ

 

นิโคล:          ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง เราจะเห็นได้ว่ามีความต้องการความเป็นธรรมชาติสูงมาก ความหมายของคำว่า “all-natural หรือ ธรรมชาติแท้ 100%” ในมุมมองของความต้องการจากผู้บริโภคเทียบกับมุมมองด้านการข้อกำหนดนี่อาจต่างกันคนละอย่างเลยนะคะ สิ่งหนึ่งที่เราทำจากมุมมองด้านการวิจัยคือ พยายามทำความเข้าใจว่าผู้บริโภคหมายความว่าอย่างไรเวลาพูดถึงสิ่งหนึ่ง สิ่งนั้นอาจจะดีต่อสัตว์เลี้ยงของคนคนหนึ่ง หรือจำเป็นในช่วงเวลาหนึ่ง แต่สิ่งนั้นก็อาจจะทำให้คนอื่นรู้สึกไม่สบายใจ หรืออาจไม่มีข้อมูลที่ทำให้เข้าใจสิ่งนั้นทั้งหมดก็เป็นได้ เมื่อรู้อย่างนั้นแล้ว บางคนจึงคิดประมาณว่า “โอเค ฉันจะทำยังไงให้มีสิ่งนั้นในอาหารสัตว์เลี้ยงหรือให้มีอยู่ในชีวิตสัตว์เลี้ยงของฉันน้อยลงได้ ซึ่งยาปฏิชีวนะก็เป็นหนึ่งในสิ่งนั้น” ดิฉันคิดว่าคนทั่วไปรู้แล้วว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม แต่ก็อาจจะยังไม่อยากพึ่งพา (ผลิตภัณฑ์เหล่านี้) มากเกินไปนัก

 

                     ตรงนี้ล่ะค่ะที่เราจะได้เห็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงพูดว่า “ฉันอยากดูแลเรื่องโภชนาการและสุขภาพสัตว์เลี้ยงของฉันแบบเชิงรุกเพื่อลดความจำเป็นในการใช้วิธีรักษาประเภทอื่นๆ ภายหลังซึ่งจะเป็นไปในเชิงรับมากกว่า” เหล่าเจ้าของตัดสินใจจะจัดการเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีเชิงรุกในแบบที่มองว่าเป็นธรรมชาติ คำว่า “ธรรมชาติแท้ 100%” “ผลิตในสหรัฐฯ” ตอนนี้ข้อความพวกนี้เป็นกระแสดังในหมู่เจ้าของสัตว์เลี้ยงอย่างเราๆ ซึ่งนี่อาจไม่จำเป็นจะต้องเป็นตัวสร้างความแตกต่างที่สำคัญสำหรับผลิตภัณฑ์ในด้านนี้ แต่ก็เกือบจะกลายเป็นข้อกำหนดขั้นต่ำในหมวดหมู่โภชนาการสัตว์เลี้ยงจำนวนมากไปแล้วล่ะค่ะ

 

ทอม:            เวลาที่เลือกซื้ออาหารสัตว์ ส่วนใหญ่เราจะเดาเอาเสียมาก เราก็อยากให้สิ่งที่จำเป็นต่อร่างกายสัตว์เพื่อให้แข็งแรงและมีความสุข ซึ่งคุณก็ได้พูดถึงไปแล้ว แต่พวกเราส่วนใหญ่ไม่ใช่นักโภชนาการ ถ้าอย่างนั้นเราจะเสริมสร้างความรู้ให้มากขึ้นได้อย่างไรครับ

 

นิโคล:          ดิฉันอยากบอกว่าเราหาความรู้ได้ตลอดค่ะ (สิ่งสำคัญคือ) แค่มีความช่างสงสัยและหาข้อมูลใหม่ๆ ตลอดเวลาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ หน่วยงานกำกับดูแลอย่าง AAFCO ก็เป็นแหล่งที่ดีนะคะ ไม่ใช่แค่สำหรับผู้บริโภคแต่รวมไปถึงผู้ผลิตผลิตภัณฑ์โภชนาการสัตว์เลี้ยงจำนวนมากด้วย และพวกเราก็รู้ว่าจะมีกลุ่มคนที่มักไปปรึกษาสัตวแพทย์ตลอด ซึ่งแน่นอนว่าสัตวแพทย์คือผู้เชียวชาญสำหรับเพื่อนสัตว์เลี้ยงของเรา เหมือนกับที่เราเลือกผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และผู้ให้บริการดูแลสุขภาพของมนุษย์นั่นล่ะค่ะ

 

                     ดังนั้น เราก็ต้องมั่นใจว่าข้อมูลมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และก็ต้องตระหนักด้วยว่าข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่ดี มักมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เมื่อเรามีข้อมูลมากขึ้น คำแนะนำก็ต่างไป นี่ไม่ใช่เรื่องไม่ดีนะคะ เป็นเรื่องดีแล้ว เพราะแปลว่าเราได้เรียนรู้มากขึ้น ได้ข้อมูลมากขึ้น ได้สร้างและทดสอบสมมติฐานใหม่ๆ อย่าแค่มองหาแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือน่าไว้วางใจอย่างเดียว แต่ให้หาแหล่งที่มีการทำความเข้าใจเพิ่มเติม หาข้อมูลใหม่ๆ เพิ่มเสมอด้วย ดิฉันคิดว่าแหล่งข้อมูลที่มั่นคงเป็นเรื่องดีค่ะ

 

                     แล้วเราก็ต้องรู้จักสัตว์เลี้ยงของตัวเองด้วย เหมือนที่คุณพูดไปค่ะ พวกเราทุกคนมีไมโครไบโอมของตัวเอง และสิ่งที่ใช้ได้ผลกับสัตว์เลี้ยงของคุณ อาจจะไม่เหมือนกับสิ่งที่ได้ผลกับสัตว์เลี้ยงของคนอื่นที่มีความต้องการเจาะจงที่แตกต่างไปก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมเราก็มีมาตรฐานต่างๆ ที่อาหารสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ ต้องปฏิบัติตาม ดังนั้นในขณะที่กำลังตัดสินใจเลือกอาหารที่เรารู้สึกว่าเหมาะกับสัตว์เลี้ยงของเรามากที่สุด การที่เรารู้ว่ามีข้อกำหนดต่างๆ ที่ผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดจะต้องปฏิบัติตาม ก็ทำให้เราก็ค่อนข้างอุ่นใจได้ค่ะ

 

ทอม:            นี่คือนิโคล ฮิลล์ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายกลยุทธ์ ส่วนงานที่ปรึกษาธุรกิจและแบรนด์ของ MarketPlace ครับ ขอบคุณนะครับ นิโคล

 

นิโคล:          ขอบคุณมากค่ะ ยินดีที่ได้มาร่วมรายการค่ะ

Loading...