Skip to main content

ทำอย่างไรเพื่อลดความเครียดให้กับปลาเพาะเลี้ยง

การถกเถียงกันเรื่องปลาตามธรรมชาติกับปลาเพาะเลี้ยงนั้นมีมาอย่างยาวนานและไม่เคยห่างหายไป และการพัฒนาระบบการจัดการสัตว์แบบมุ่งเน้นได้กระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความตระหนักและความกังวลเกี่ยวกับสวัสดิภาพของสัตว์ที่เพาะเลี้ยงในฟาร์มซึ่งรวมถึงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยประเด็นเหล่านี้เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในกรอบการทำงานของภาครัฐและภาคนิติบัญญัติ หัวข้อสวัสดิภาพของสัตว์นนั้นยังถูกองค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นประเด็นด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติอีกด้วย  นอกเหนือจากการถกเถียงของสาธารณชนแล้ว เราทราบดีว่าท้ายที่สุดแล้วการให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของสัตว์จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร เพราะเป็นการการส่งเสริมให้สัตว์มีอัตราการรอดชีวิตสูงสุด ฝูงปลามีสุขภาพแข็งแรงและมีสมรรถภาพที่ดี แต่ว่าเราจะตรวจวัดสวัสดิภาพในสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงให้แม่นยำได้อย่างไร

โชคดีที่เรามีความรู้ความเข้าใจในถิ่นที่อยู่ธรรมชาติ โภชนาการสัตว์ และสัตวบาลที่ก้าวหน้ากว่าเดิม ทำให้สามารถระบุความหมายและแสดงค่าสวัสดิภาพสัตว์ที่เหมาะสมที่สุดได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ “หลักอิสระ 5 ประการ (Five Freedoms)” ที่พัฒนาขึ้นโดยสภาสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มแห่งประเทศอังกฤษ (Farm Animal Welfare Council) จึงได้กำหนดแนวทางที่ดีไว้ดังนี้

  1. อิสระจากความหิวกระหาย
  2. อิสระจากความไม่สบายกาย
  3. อิสระจากความเจ็บปวด การบาดเจ็บ และโรคภัย
  4. อิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ
  5. อิสระจากความกลัวและทุกข์ทรมาน

ผลกระทบจากความเครียดที่มีต่อปลาเพาะเลี้ยง

สวัสดิภาพทั้ง 5 ประการที่กล่าวไปข้างต้นนั้นมีความเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น “อิสระจากความหิวกระหาย” และ “อิสระจากความไม่สบายกาย” คือ 2 สิ่งที่เกษตรกรสามารถที่จะควบคุมในเชิงปฏิบัติได้มากกว่าด้านอื่นๆ  ซึ่งหากรับรองได้ว่าสัตว์ได้รับอิสระทั้งสองข้อนี้จริง อิสระข้ออื่นๆ ที่เหลือจะตามมาเอง โภชนาการที่ดีที่สุดในการเพาะเลี้ยงปลาจะส่งผลให้สถานะความเป็นอยู่ดียิ่งขึ้น เนื่องจากการดูแลลำไส้ให้แข็งแรงด้วยอาหารที่กำหนดสูตรมาอย่างดีจะช่วยป้องกันโรคและลดความเครียดได้ การลดความไม่สบายกายให้ได้มากที่สุดด้วยการจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ก็จะทำให้ปลาได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือโรค และช่วยลดความเครียดด้วยเช่นกัน

เชื้อโรคในน้ำส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อฉวยโอกาส หมายความว่าเชื้อโรคมีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้นเมื่อปลาได้รับสิ่งกระตุ้นความเครียดหนึ่งอย่างขึ้นไป เมื่อรู้สึกเครียดปลาจะหลั่งฮอร์โมนชื่อคอร์ติซอลออกมาเช่นเดียวกับมนุษย์ โดยคอร์ติซอลจะทำให้ความดันเลือดเพิ่มสูงขึ้นและเร่งให้เกิดลำดับกลไกทางชีวเคมีที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องสัตว์นั้นๆ กระบวนการนี้จะดึงเอาเนื้อเยื่อที่สำรองแร่ธาตุและวิตามินที่จำเป็นต่อการปกป้องเซลล์แต่ละเซลล์จากความเสียหายออกมาใช้งาน ซึ่งหากฟังก์ชันการทำงานที่สำคัญของเซลล์เหล่านี้ เช่น การใช้ออกซิเจน การดูดซึมสารอาหาร และระบบภูมิต้านทานเกิดการหยุดชะงัก จะทำให้เกิดสภาวะที่เอื้อให้เชื้อโรคอันตรายสามารถเข้าสู่ตัวสัตว์ได้ วงจรนี้เรียกว่าภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) ซึ่งจะส่งผลให้สุขภาพและสมรรถภาพของปลาย่ำแย่

สภาพแวดล้อม

ทั่วโลกมีการเพาะเลี้ยงปลาเชิงพาณิชย์ประมาณ 200 ชนิด หากจะประเมินสวัสดิภาพของปลา เราต้องพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติของปลาแต่ละชนิด รวมไปถึงเงื่อนไขด้านสภาพแวดล้อมของระบบการเลี้ยงที่จะใช้กับปลานั้นๆ (เช่น RAS, บ่อ, กระชัง) และจากการที่อาศัยอยู่ในน้ำ ปลาจึงจำเป็นต้องได้รับน้ำคุณภาพดีที่สุด เนื่องจากเนื้อเยื่อสำคัญต่างๆ เช่น ผิวหนัง เหงือก และลำไส้ต้องสัมผัสกับน้ำตลอดเวลา

อุณหภูมิของน้ำ: การเลือกสถานที่เป็นสิ่งสำคัญเบื้องต้นต่อการเตรียมสภาวะที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเพาะเลี้ยง เนื่องจากปลาไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายของตัวเองได้ และปลาแต่ละชนิดจะมีช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเติบโตและการผลิตที่แตกต่างกัน ดังนั้นสภาพแวดล้อมจึงเป็นตัวกำหนดกระบวนการสำคัญต่างๆ ทั้งหมด เช่น การกินอาหาร การย่อย การเจริญเติบโต การตอบสนองต่อความเครียด และการติดเชื้อ ซึ่งน้ำในสภาพแวดล้อมเปิดอย่างเช่นบ่อหรือร่องน้ำจะไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ แตกต่างจากระบบ RAS ด้วยเหตุนี้จึงต้องพิจารณาในส่วนนี้อย่างระมัดระวัง

ออกซิเจนที่ละลายในน้ำ: ปลาจะรับออกซิเจนละลายน้ำ (dissolved oxygen หรือ DO) จากน้ำผ่านทางเหงือก ตามกฎแล้ว ในสถานที่เพาะเลี้ยงควรรักษาความอิ่มตัวของก๊าซออกซิเจนให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากต่ำกว่า 80% อาจทำให้เกิดภาวะความเครียด และหากระดับออกซิเจนต่ำลง ปลามักจะย้ายไปอยู่ในจุดที่น้ำไหลเข้าหรือผิวน้ำแทนเพื่อรับออกซิเจนให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้เพื่อการอยู่รอด สำหรับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลา พฤติกรรมเช่นนี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าต้องเพิ่มออกซิเจนโดยเร็วที่สุด สิ่งสำคัญคือต้องตรวจสอบระดับ DO เป็นประจำและรักษาให้อยู่ในระดับที่ดีที่สุดเสมอ โปรดทราบว่าปริมาณออกซิเจนในน้ำจะลดต่ำลงเมื่ออุณหภูมิน้ำเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากยิ่งน้ำอุ่นขึ้นก็จะกักเก็บออกซิเจนได้น้อยลง ดังนั้นหากน้ำอุ่นขึ้นจะมีความเสี่ยงต่อการขาดออกซิเจนมากขึ้น

ความเป็นกรด-ด่าง (ค่า pH): ระดับค่า pH ของน้ำเป็นตัวแปรสำคัญที่ต้องคอยตรวจสอบและควบคุมในระบบเพาะเลี้ยงแบบมุ่งเน้น (intensive culture system) เพื่อคงคุณภาพน้ำให้ดีอยู่เสมอ ก๊าซ CO2 จากมูลปลาในระบบเพาะเลี้ยงจะทำให้เกิดกรดอ่อนซึ่งส่งผลต่อระดับ pH ทั้งนี้ช่วง pH ที่ยอมรับได้สำหรับปลาส่วนใหญ่จะอยู่ที่ระหว่าง 6.5 ถึง 7.5 และบางชนิดจะอยู่ได้ดีในค่าที่ต่ำถึง 5.5 แต่ปลาเองก็รู้สึกเครียดได้เช่นกันเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของค่า pH อย่างฉับพลัน ดังนั้นจึงควรป้องกันไม่ให้ค่าความเป็นกรด-ด่างผันผวนทั้งในระหว่างการเพาะเลี้ยงและการขนย้ายปลา

การบาดเจ็บจากภาวะฟองอากาศ (Gas bubble trauma): การออกแบบและการทำงานของระบบเพาะเลี้ยงอาจสร้างความเครียดให้แก่ปลาโดยไม่ได้ตั้งใจได้เช่นกัน สิ่งสำคัญคือต้องวัดความดันรวมของก๊าซ (total gas pressure หรือ TGP) และออกซิเจนเป็นระยะ เพื่อตรวจสอบว่ามีปัญหาก๊าซไนโตรเจนอิ่มตัวยิ่งยวด (nitrogen supersaturation) หรือไม่ หากค่าสูงเกินไป จำเป็นต้องทำให้น้ำคายก๊าซออกมา เพราะปั๊มน้ำมักจะดูดอากาศเข้ามาทางใบพัดทำให้อากาศถูกอัดเพิ่มความดันจึงก่อเป็นภาวะความเข้มข้นของไนโตรเจนสูงเกินไปสำหรับน้ำที่ถูกส่งเข้ามาในแท็งก์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดฟองก๊าซเล็กๆ ขึ้นในเลือดปลาและสุดท้ายฟองก๊าซเหล่านี้จะไปปิดกั้นกระแสเลือดทำให้เซลล์ตายเฉพาะส่วน (necrosis)

สิ่งอื่นๆ ที่ต้องคอยสอดส่องและทดสอบในการประเมินสถานะสวัสดิภาพ ได้แก่ ระดับไนไตรท์และไนเตรท ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และแอมโมเนีย (NH3) ซึ่งหากไม่อยู่ในระดับที่เหมาะสม สภาวะเหล่านี้อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของปลาได้

โภชนาการ

แม้ว่าจะการปฎิบัติตามขั้นตอนที่จำเป็นต่างๆ จะช่วยจัดการสิ่งกระตุ้นความเครียดในสภาพแวดล้อมได้มาก แต่เราไม่สามารถกำจัดความเสี่ยงต่อโรคและความเครียดออกไปจนหมดได้ด้วยวิธีนี้เพียงอย่างเดียว ดังนั้นการใช้โภชนาการแบบเจาะจงเป้าหมายตั้งแต่แรกเริ่มคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

 

โภชนาการชนิดพิเศษมักจะใช้เป็นกลยุทธ์เพิ่มเติมเพื่อจำกัดหรือป้องกันไม่ให้เกิดการพัฒนาของเชื้อโรคได้ อีกทั้งยังใช้ต้านไม่ให้เกิดผลเสียจากผลของโรคโดยไม่จำเป็นต้องทำการบำบัดรักษา (therapeutic intervention) กลยุทธ์เหล่านี้เรียกว่า functional feed (อาหารสัตว์ฟังก์ชั่น) โดย functional feed มักจะเน้นสร้างความแข็งแร่งและส่งเสริมระบบภูมิต้านทานตามธรรมชาติของสัตว์ ทำให้สามารถควบคุมการตอบสนองทางชีววิทยาและสรีรวิทยาที่มีต่อตัวกระตุ้นความเครียด และเสริมกำลังให้กับเกราะป้องกันทางกายภาพที่สัมผัสกับสภาพแวดล้อม

ข้อมูลเชิงลึกขั้นกว่า

การทำความเข้าใจต้นเหตุและวิธีตอบสนองต่อความท้าทายในแต่ละวันที่ปลาต้องพบเจอ จะช่วยให้เราจัดเตรียมสภาวะที่จำเป็นเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของปลาได้ในระดับสูงสุด นอกจากนั้น เหล่าเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจะได้รางวัลเป็นความสำเร็จเชิงพาณิชย์ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมอีกด้วย ในหนังสือ “Inside/Out: The Essential Guide to the Skin, Gills and Guts of Fish” จะมีข้อมูลเชิงลึกยิ่งขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบจากสภาวะโภชนาการและสภาพแวดล้อมต่อการทำงานและความสมบูรณ์ของผิวหนัง เหงือก และลำไส้ ซึ่งทำให้สวัสดิภาพของปลาถดถอยลง หนังสือเล่มนี้เขียนโดยจอห์น สวีตแมน (John Sweetman) และไอช์ รัตเจส (Gijs Rutjes) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อเป็นคู่มือสำหรับทุกคนในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ใช้ศึกษา โดยในเล่มจะมีคำอธิบายวิธีคำนวณและทดสอบตัวแปรที่มีผลต่อคุณภาพของน้ำอย่างละเอียดดังที่ได้สรุปไว้อย่างย่อข้างต้น ผู้สนใจขอรับหนังสือได้ที่ https://go.alltech.com/aqua-inside-out

Loading...