Skip to main content

ลบ 3 ความเชื่อที่เคยได้ยิน: ผลกระทบที่แท้จริงของการเกษตรปศุสัตว์ต่อสิ่งแวดล้อม

สิ่งที่สาธารณชนและสื่อได้รับรู้เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการเกษตรปศุสัตว์ควรเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีงานวิจัยใหม่จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส ที่ได้ลบล้างบางความเชื่อเดิมที่มีมายาวนานเกี่ยวกับการเกษตรปศุสัตว์ แต่การค้นพบนี้จะเอาชนะชื่อเสียงในแง่ลบของการเกษตรปศุสัตว์ได้หรือไม่

มีการกล่าวถึงการเกษตรปศุสัตว์ว่าการเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้อง (เช่น โคเนื้อ, โคนม ฯลฯ) เป็นแหล่งสร้างมีเทน มีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ ดังนั้นการเกษตรปศุสัตว์จึงไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม

ในระหว่างการนําเสนอประเด็นสําคัญใน Alltech ONE Virtual Experience ดร. แฟรงก์ มิทโลเนอร์ ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส และผู้เชี่ยวชาญเรื่องคุณภาพอากาศ ได้ประกาศอย่างชัดเจนเรื่องเส้นทางสู่ความเป็นกลางต่อสภาพภูมิอากาศ (climate-neutral) ของการเกษตรปศุสัตว์

"ใช่แล้ว คุณได้ยินผมถูกต้อง - ความเป็นกลางต่อสภาพภูมิอากาศ" ดร. มิทโลเนอร์ กล่าว เขากล่าวต่อว่า เขาต้องการ "พาเราไปยังจุดที่การเกษตรปศุสัตว์จะไม่ส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสภาพภูมิอากาศของเรา

 

ข้อมูลก๊าซเรือนกระจกที่ควรรู้

 

 

เปลี่ยน 3 ความเชื่อเรื่องผลกระทบของการเกษตรปศุสัตว์ต่อสิ่งแวดล้อม

ความเชื่อ#1: มีเทน (ก๊าซเรือนกระจกที่พบมากที่สุดหรือ GHG ในการเกษตรปศุสัตว์) ส่งผลเช่นเดียวกับ GHGs อื่น ๆ ในสภาพแวดล้อม

ความจริง: ก๊าซเรือนกระจกหลักทั้ง 3 ชนิดซึ่งได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทนและไนตรัสออกไซด์ ทั้งหมดส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งกำเนิด ระยะการคงอยู่ในบรรยากาศและแนวโน้มในการสร้างภาวะโลกร้อน

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไนตรัสออกไซด์เป็นที่รู้จักกันว่าเป็น "stock gas หรือ ก๊าซสะสม" stock gas สามารถคงอยู่ได้นานและเมื่อปล่อยออกมาแล้วจะก่อตัวสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ ตัวอย่างเช่น คาร์บอนไดออกไซด์มีอายุขัยอยู่ในชั้นบรรยากาศได้ถึงประมาณ 1,000 ปี นั่นหมายถึง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1020 อาจยังคงอยู่ในบรรยากาศทุกวันนี้ ในทางกลับกัน มีเทน เป็น "flow gas หรือก๊าซที่ไม่สะสม"   Flow gas เป็นก๊าซที่มีอายุสั้นและจะสลายออกจากชั้นบรรยากาศรวดเร็วกว่า อายุขัยของมีเทนในชั้นบรรยากาศคือประมาณ 10 ปี ซึ่งหมายความว่า flow gas เช่น ก๊าซมีเทน จะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในระยะเวลาที่น้อยกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกือบ 100 เท่า

อะไรก่อให้เกิดก๊าซเหล่านี้? ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล เชื้อเพลิงฟอสซิลถูกใช้เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำหรับบ้านเรือน, ยานพาหนะ และอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ทั่วโลก ในกราฟด้านล่างนี้ ดร. มิทโลเนอร์อธิบายให้เห็นว่า stock gas เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็น "ถนนทางเดียว" เพราะพวกมันจะสะสมในสภาพแวดล้อมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากอายุขัยที่ยาวนานของมัน

 

มีเทนสามารถเกิดขึ้นได้หลายวิธี แต่ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากกระบวนการเคี้ยวเอื้องในการเลี้ยงโคเนื้อและโคนม (เช่น การเรอ) เนื่องจากมีเทนเป็น flow gas ที่มีอายุขัยสั้น "ช่วงเวลาเดียวที่คุณจะเพิ่มมีเทนใหม่ในชั้นบรรยากาศจากฝูงสัตว์ของคุณคือในช่วง 10 ปีแรกของการมีอยู่ของฝูงสัตว์นั้น หรือเมื่อคุณเพิ่มจำนวนสัตว์ของคุณ" ดร. มิทโลเนอร์อธิบาย ระดับมีเทนไม่เพิ่มขึ้นหากจำนวนสัตว์ยังเท่าเดิม เพราะมีเทนจะสลายไปในอัตราเดียวกันกับที่เกิดขึ้น

"สิ่งที่ผมกำลังพูดอยู่นี้ไม่ได้หมายความว่า มีเทนไม่ส่งผลอะไรเลย" เขากล่าวต่อ "ในขณะที่มีเทนอยู่ในชั้นบรรยากาศ มันเป็นตัวเก็บกักความร้อน มันเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีพลัง แต่คําถามคือการทำปศุสัตว์ของเราเพิ่มมีเทน, ซึ่งหมายถึงปริมาณคาร์บอนที่เพิ่มขึ้นในบรรยากาศซึ่งนําไปสู่ภาวะโลกร้อนเพิ่มมากขึ้นหรือไม่? คําตอบคือไม่ ตราบใดที่ปริมาณสัตว์ยังไม่เปลี่ยนแปลงหรือแม้แต่ลดน้อยลง เราไม่ได้เพิ่มก๊าซมีเทนในบรรยากาศมากกว่าเดิมและด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้โลกร้อนมากขึ้น และจากที่ผมกล่าวมานี้คงสามารถเปลี่ยนความเชื่อต่อการทำปศุสัตว์ในเรื่องนี้ได้”

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้นจากการสกัดเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีอายุหลายล้านปีและถูกขังอยู่ใต้พื้นผิวของโลก

ดร. มิทโลเนอร์กล่าว "สารมลพิษทางอากาศที่มีอายุยาวนานเหล่านี้ได้ถูกปล่อยออกมาเท่านั้น" "พวกมันมีแต่จะเพิ่มขึ้นในบรรยากาศ และแทบจะไม่มีวิธีกำจัดมันออกไป"

ในรูปนี้แสดงให้เห็นว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนเป็นก๊าซต่างชนิดกัน (แบบ stock และ แบบ flow) และมีอายุขัยที่แตกต่างกันมากในสภาพแวดล้อม (1,000 ปี กับ 10 ปี) ดังนั้นแนวโน้มที่จะทำให้เกิดภาวะโลกร้อนของพวกมันจะต่างกันหรือไม่?

                                                                                                               

ความเชื่อ#2: วิธีการประเมินศักยภาพของการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน (GWP100) ของก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน สามารถใช้ได้กับตัวแปรสําคัญทุกตัวแปร

ความจริง: วิธีการคํานวณ GWP100 แบบเริ่มแรก ไม่สะท้อน ผลกระทบที่แท้จริงต่อภาวะโลกร้อนในอนาคตของก๊าซชนิด flow gas ที่มีอายุขัยสั้น เช่น มีเทน  "GWP*" แบบใหม่คือการวัดค่าที่ถูกพัฒนาและเหมาะสมมากขึ้น

มาตรการ GWP100 แรกเริ่มถูกสร้างขึ้นโดย the Kyoto Protocol เมื่อเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นก้าวที่สำคัญมากของการประเมินภาวะโลกร้อน เอกสารชิ้นเริ่มแรกนั้นมีเชิงอรรถและข้อควรสังเกตจำนวนมากเพื่ออธิบายถึงเหล่าตัวแปรและค่าที่ไม่รู้จัก "แต่เชิงอรรถได้ถูกตัดออกและผู้คนก็นำเอกสารนั้นมาอ้างอิงต่อๆกันมา" ดร. มิทโลเนอร์กล่าว "และในความคิดของผม นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าใจผิดต่อการเกษตรปศุสัตว์”

การวัด GWP100 ในปัจจุบันนั้น เป็นการประเมินส่วนร่วมของก๊าซมีเทนต่อการเกิดภาวะโลกร้อนเกินความเป็นจริง ปัจจุบันการวัด GWP100 ถูกตั้งมาตรฐานไว้ให้เทียบเท่ากับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หนึ่งพันล้านตัน ดังนั้นการปล่อยก๊าซที่ไม่ใช่คาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดจะถูกแปลง โดยการคูณปริมาณการปล่อยก๊าซของก๊าซแต่ละชนิด ด้วยค่าศักยภาพในการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนในระยะเวลามากกว่า 100 ปี มีเทนมีค่า GWP100 เท่ากับ 28 ซึ่งหมายความว่ามีศักยภาพมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ 28 เท่า

แต่น่าเสียดายที่การคํานวณแบบนี้มองข้ามความจริงที่ว่า flow gas เช่น มีเทน จะถูกทําลายภายในระยะเวลาประมาณ 10 ปีและจะไม่คงอยู่ถึง 100 ปีตามที่อธิบายไว้ในสูตรของ GWP100 นอกจากนั้นแล้วสูตรนี้ยังประเมินผลกระทบที่ stock gas เช่นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งคงอยู่ในสภาพแวดล้อมเป็นเวลาประมาณ 1,000 ปี ต่ำเกินไป

ดร. มิทโลเนอร์ กล่าวว่า ดร. ไมล์ส อัลเลน จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเป็นผู้บุกเบิกการคํานวณแบบใหม่ที่เรียกว่า "GWP *" การคํานวณ GWP* แบบใหม่จะสามารถอธิบายทั้งเรื่องความเข้มข้นของก๊าซและอายุขัยของก๊าซในบรรยากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยในการชี้วัดการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน และนี่จะเป็นการเล่าเรื่องแบบใหม่เพื่ออธิบายการปล่อยก๊าซโลกร้อน "คุณจะเห็นโมเมนตัมในเรื่องนี้และมันจะกลายเป็นความจริงใหม่ที่ต่างจากความเชื่อเดิม" ดร. มิทโลเนอร์ กล่าว

 

ความเชื่อ#3: เพื่อให้ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นและการเจริญเติบโตของประชากรทั่วโลก, สหรัฐอเมริกาได้เพิ่มจํานวนของโคเนื้อและโคนมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสาเหตุของการปล่อยมีเทนที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

ความจริง: สหรัฐอเมริกามีปริมาณโคเนื้อและโคนมสูงสุดในช่วง 1970s และได้ลดจํานวนของสัตว์ลงทุกทศวรรษตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ส่งผลให้มีจำนวนโคน้อยลงทั้งหมด 50 ล้านตัว

ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและเพิ่มผลผลิตอย่างมาก ในขณะที่จํานวนโคเนื้อและโคนมทั้งหมดลดลง ตัวอย่างเช่น ในปีค.ศ. 1950 จำนวนโคนมของสหรัฐฯอยู่ที่ 25 ล้านตัว ในปัจจุบันมีโคนมประมาณ 9 ล้านตัว แต่มีผลผลิตนมเพิ่มขึ้น 60%  -- นั่นเป็นปริมาณผลผลิตนมที่มากขึ้นอย่างมีนัยสําคัญเมื่อเทียบกับจำนวนโคนมที่ลดลง 14 ล้านตัว!

แม้ว่าจํานวนโคยังคงเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ เช่น อินเดียและจีน แต่สหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้สร้างมีเทนเพิ่มขึ้น  ซึ่งหมายถึงไม่มีการเพิ่ม GHG จากการทำปศุสัตว์ในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา.

 

แล้วทั้งหมดนี้หมายความว่าอย่างไร

การเกษตรปศุสัตว์อาจแตกต่างจากภาคส่วนอื่นๆ เพราะไม่เพียงแต่สามารถลดการสร้าง GHG แต่ยังสามารถช่วยเพิ่มการระบายความร้อนสุทธิ (net cooling effect) ในบรรยากาศได้ (ซึ่งเป็นการช่วยการลดภาวะโลกร้อนอย่างหนึ่ง)

จากการจำลองสถานการณ์ 3 สถานการณ์ในภาพด้านล่าง แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างที่สําคัญระหว่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทน และความสามารถในการทำให้โลกเย็นลง ในสถานการณ์ที่หนึ่งที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราที่เพิ่มขึ้น ทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนจะเพิ่มภาวะโลกร้อนมากขึ้น แต่ในสถานการณ์ที่สองซึ่งมีการปล่อยก๊าซในปริมาณคงที่ คาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มภาวะโลกร้อนมากขึ้น ในขณะที่มีเทนไม่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนเพิ่มเติม

"แต่สิ่งที่ทําให้ผมตื่นเต้นจริงๆ คือสถานการณ์ที่สาม" ดร. มิทโลเนอร์กล่าว "ลองนึกภาพว่าหากเราลดการสร้างก๊าซมีเทนลง 35% เราจะสามารถลดคาร์บอนจากบรรยากาศได้อย่างมาก ซึ่งนั่นส่งผลให้เกิด cooling effect หากเราหาวิธีที่จะลดก๊าซมีเทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นหมายถึงเราจะช่วยลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคส่วนอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เช่นการบิน, การขับขี่, การทํางานของเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น"

ตัวอย่างสถานการณ์การลดการปล่อยมีเทนลง 35% ของดร.มิทโลเนอร์ ได้ถูกพิสูจน์ว่าสามารถเป็นไปได้ แค่เพียงในช่วงกว่าห้าปีที่ผ่านมา แคลิฟอร์เนียได้ลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 25% ด้วยการผสมผสานของประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้นและการสนับสนุนการย่อยสลายสารอินทรีย์แบบไร้อากาศ, การจัดการมูลทางเลือกและเทคโนโลยีอื่น ๆ.

ถึงแม้ว่าจะมีความเชื่อเชิงลบเกี่ยวกับการเกษตรปศุสัตว์ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ในขณะนี้เริ่มมีความหวังว่าข้อเท็จจริงใหม่จะสามารถนำมาหักล้างคำวิจารณ์ที่มาอย่างยาวนานเหล่านั้นได้

"ผมรู้ว่าถ้าเราสามารถทําได้ที่นี่ (ในแคลิฟอร์เนีย) ก็สามารถทําได้ในส่วนอื่นของประเทศและในส่วนอื่น ๆ ของโลก หากเราประสบความสำเร็จในการลดก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะชนิดที่มีอายุขัยสั้น เช่นมีเทน นั่นหมายความว่าภาคปศุสัตว์ของเราจะสามารถเดินทางไปสู่ความเป็นกลางต่อสภาพภูมิอากาศในอนาคตได้อย่างแน่นอน” ดร.มิทโลเนอร์กล่าวสรุป

 

สามารถเข้าชมเนื้อหาใน ONE Virtual Experience ได้ทุกที่ทุกเวลาจนถึงเดือนพฤษภาคม 2021 โดยมีเนื้อหาใหม่เพิ่มทุกเดือน ท่านสามารถไปที่ one.alltech.com สําหรับข้อมูลเพิ่มเติม

Loading...