Skip to main content

กลยุทธ์การเลี้ยงแบบแยกฝูงเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด

กลยุทธ์การเลี้ยงโคแบบแยกฝูงอาจสร้างประสิทธิภาพและประโยชน์ที่หลากหลายให้แกฟาร์มของคุณ โดยทำให้โคมีสุขภาพดียิ่งขึ้น ผลผลิตเพิ่มขึ้น โอกาสการเกิดความผิดปกติด้านเมแทบอลิซึมลดลง และรายรับหลังหักต้นทุนค่าอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น นอกจากนั้นหากมีการใช้อาหารผสมหลายสูตร ก็จะทำให้กลุ่มโคในกลุ่มต่าง ๆ ได้รับคุณประโยชน์จากสารอาหารอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงโคแบบแยกฝูงจำเป็นต้องมีสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกมากเพียงพอ รวมทั้งมีแรงงานในการเคลื่อนย้ายและจัดการโคหลายกลุ่ม และมีความสามารถในการผสมและให้อาหารในสูตรผสมที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการจึงมักเกิดข้อสงสัยว่าหากยอมลงทุนแยกกลุ่มโคในฟาร์มแล้ว ควรจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มโคทั้งหลายเหล่านี้อย่างไรเพื่อผลตอบแทนขั้นสูงสุด

การเลี้ยงโคแบบแยกฝูงมีโอกาสที่จะช่วยเพิ่มรายรับหลังหักต้นทุนค่าอาหารและลดการขับสารอาหารทิ้งสู่สภาพแวดล้อม โดยทั่วไปแล้ว เมื่อไม่มีการแยกกลุ่มโค อาหารสูตรเดียวกันจะถูกแจกจ่ายให้แก่โคทั้งหมด แม้จะอยู่ในระยะการให้นมที่แตกต่างกันก็ตาม ซึ่งอาหารผสมดังกล่าวมักจะมีการกำหนดสูตรเพื่อให้มีสารอาหารที่เพียงพอแก่สัตว์ที่ให้ผลผลิตมากที่สุดในฝูง ส่งผลให้การใช้ประโยชน์จากสารอาหารเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากโคที่ให้ผลผลิตต่ำได้รับสารอาหารมากเกินควร ดังนั้น การแบ่งโคเป็นกลุ่มและให้อาหารด้วยสูตรที่ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม จะทำให้โคใช้ประโยชน์จากสารอาหารได้อย่างถูกต้องแม่นยำตลอดระยะให้นม ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการลดต้นทุนอาหารสัตว์และรักษาสมรรถภาพให้คงที่หรือเพิ่มสูงขึ้นด้วย อีกทั้งยังสามารถเฝ้าสังเกตสภาพร่างกายของโค เพื่อการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและลดการขับถ่ายสารอาหารทิ้งสู่สภาพแวดล้อม นอกจากนี้ การจับกลุ่มโคช่วยให้ประหยัดต้นทุนค่าอาหารได้อย่างมีนัยสำคัญ และแม้จะขึ้นอยู่กับกลยุทธ์การจับกลุ่มฝูงโคที่คุณเลือกใช้ แต่คุณอาจประหยัดต้นทุนได้อย่างน้อย 1 บาท ต่อตัวต่อวันเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ในการที่จะทำเช่นนั้นได้ ทางฟาร์มต้องสามารถผสมอาหารหลายสูตร ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายนัก

การตัดสินใจว่ากลยุทธ์การแยกฝูงแบบใดเหมาะกับฟาร์มของคุณมากที่สุด ก็มีทางเลือกหลากหลายมาก เพียงแค่จับกลุ่มสัตว์ประเภทเดียวกันไว้ด้วยกันอย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องให้สูตรอาหารผสมต่างกันก็อาจให้ประโยชน์บางประการได้แล้ว แต่หลายครั้งก็จำเป็นต้องให้อาหารผสมสูตรที่แตกต่างกันสำหรับโคคนละฝูง ด้วยลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของฟาร์มแต่ละแห่ง จึงไม่มีทางเลือกใดที่จะใช้ได้กับฟาร์มไปเสียทุกแห่ง หากเป็นเรื่องการตัดสินใจว่ากลยุทธ์การจับกลุ่มแบบใดให้ผลดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นขนาดฝูง สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในฟาร์ม และแรงงานที่มี ล้วนแล้วแต่มีบทบาทต่อการตัดสินใจเลือกกลยุทธ์การจับกลุ่มที่เหมาะกับฟาร์มของคุณที่สุดทั้งนั้น ซึ่งการที่กลยุทธ์การจับกลุ่มใดๆ จะประสบความสำเร็จได้นั้น ขนาด จำนวน และเงื่อนไขในเรื่องคอก ความกว้างของช่องรางอาหาร ความกว้างของรางน้ำสำหรับวัวต่อตัว และการเคลื่อนที่ของวัว เป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาเป็นอันดับแรก ประโยชน์และประสิทธิภาพใดๆ อาจสูญสลายไปกับสายลมหากตัวคอกไม่สามารถตอบสนองความต้องการของสัตว์เฉพาะชนิด และแรงงานไม่พร้อมต่อการจัดการสัตว์เหล่านี้

ด้านล่างนี้เป็นกลยุทธ์การจับกลุ่ม 6 รูปแบบ พร้อมด้วยข้อดีและข้อเสียที่เป็นไปได้ในแต่ละรูปแบบ: 

กลุ่มโคพักรีดนม หรือ โครีดนม

  • ข้อดี: เรียบง่าย นำไปปฏิบัติได้ง่าย
  • ข้อเสีย: รายรับหลังหักต้นทุนค่าอาหารสัตว์ที่ลดน้อยลง, การขับถ่ายไนโตรเจนและฟอสฟอรัสทางมูลมากขึ้น อาจทำให้โคน้ำหนักเกินและมีผลผลิตนมจากโคที่เพิ่งรีดนมครั้งแรกน้อยลง, ฝูงโคมีการจัดลำดับช่วงชั้นโคที่สูงขึ้น โดยโคชั้นจ่าฝูงที่อายุมากกว่าคอยข่มโคขี้กลัวตัวอื่น

กลุ่มโคพักรีดระยะต้น และ โคใกล้คลอด

  • ข้อดี: สามารถให้อาหารที่มีแร่ธาตุประจุลบและสารเสริมอาหารสำหรับระยะเปลี่ยนผ่านสำหรับโคกลุ่มเล็กได้
  • ข้อเสีย: ต้องใช้สถานที่และแรงงานในการจัดการโคทั้งสองกลุ่มนี้ และต้องสามารถผสมอาหารสองสูตร

กลุ่มแม่โคเพิ่งคลอด

  • ข้อดี: กลุ่มโคขนาดเล็กทำให้สามารถเฝ้าสังเกตอย่างใกล้ชิดและ มีพื้นที่ต่อตัวเพิ่มขึ้น ช่วยลดการแก่งแย่ง, สามารถให้สารเสริมอาหารราคาสูงตรงกลุ่มเป้าหมาย, ทำให้แม่โคเพิ่งคลอดมีปริมาณการกินวัตถุแห้งมากขึ้น
  • ข้อเสีย: ต้องใช้สถานที่และแรงงานในการจัดการ อาจต้องแยกสูตรอาหาร

กลุ่มโครีดนมช่วงปลาย

  • ข้อดี: เป็นโอกาสที่ดีที่จะลดต้นทุนค่าอาหารด้วยการลดระดับโปรตีนและพลังงานในสูตร สามารถเฝ้าสังเกตและดูแลจัดการสภาพร่างกายของโค
  • ข้อเสีย: ต้องใช้สถานที่และแรงงานในการเคลื่อนย้ายโค ต้องแยกสูตรอาหาร

การจับกลุ่มตามจำนวนท้องที่คลอด

  • ข้อดี: ลดความเครียดให้แก่โคที่เพิ่งให้นมครั้งแรก ผลผลิตนมดีขึ้น โคอาจมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น อัตราการกินวัตถุแห้งสม่ำเสมอยิ่งขึ้น
  • ข้อเสีย: ต้องใช้สถานที่และแรงงานในการจัดประเภทโค

การจับกลุ่มตามผลผลิตนม

  • ข้อดี: รายรับเพิ่มสูงขึ้นหลังหักต้นทุนค่าอาหาร, สามารถให้อาหารสัตว์คุณภาพสูงขึ้นแก่กลุ่มที่ให้ผลผลิตสูงกว่า, สามารถดูแลจัดการสภาพร่างกายโคได้ดียิ่งขึ้น, สามารถกำหนดสูตรอาหารที่แม่นยำเพื่อระดับโภชนาการที่โคต้องการ จึงมีสมรรถภาพการผลิตขั้นสูงสุด
  • ข้อเสีย: ต้องผสมอาหารหลายสูตร, ต้องใช้สถานที่และแรงงานเพิ่มเพื่อการจัดการและเคลื่อนย้ายโคที่ต้องย้ายคอก

หากสถานที่และแรงงานมีจำกัด ยังมีวิธีอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อฝูงโคของคุณ หนึ่งในนั้นคือการให้ความสำคัญกับการลดโอกาสการเกิดความผิดปกติด้านเมแทบอลิซึม ซึ่งกลยุทธ์นี้จะให้ผลตอบแทนการลงทุนดีที่สุด เนื่องจากความผิดปกติด้านเมแทบอลิซึมนั้นทำให้คุณเสียค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อยและอาจทำให้มีการคัดทิ้งเพิ่มขึ้น ส่วนการแยกฝูงโคใกล้คลอด 21 วันก่อนให้ลูกจะทำให้สามารถผสมเกลือประจุลบ กรดอะมิโน และสารเสริมอาหารอื่นๆ ลงไปในอาหารสำหรับกลุ่มโคเป้าหมายได้ นอกจากนั้น การแยกกลุ่มแม่โคเพิ่งคลอด (หลังคลอดลูกไม่เกิน 21 วัน) จะทำให้เฝ้าสังเกตโคได้สะดวกยิ่งขึ้น มีการแก่งแย่งกันที่รางอาหารน้อยลง ใช้เวลานอนพักในคอกมากขึ้น และเพิ่มสารเสริมอาหารและสารอาหารเข้มข้นลงไปในสูตรอาหารสำหรับกลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น  

อีกจุดหนึ่งที่ควรโฟกัสคือการแยกโคที่เพิ่งให้นมครั้งแรกออกจากแม่โคที่อายุมากกว่าในฝูงเดียวกัน เมื่อนำกลยุทธ์แยกฝูงแบบนี้มาใช้ เราจะสามารถให้อาหารแบบเดียวกันแก่โคทั้งสองกลุ่ม ตราบใดที่ยังสามารถจัดการปริมาณวัตถุแห้งที่กินได้ตามเป้าหมาย โดยโคให้นมครั้งแรกที่ถูกจับกลุ่มแยกออกจากเพื่อนร่วมฝูงที่อายุมากกว่า จะนอนพักบ่อยขึ้น กินได้เยอะขึ้น และมีความก้าวร้าวน้อยลงในการปฏิสัมพันธ์กับโคตัวอื่น ผลที่ได้คือ ความเครียดลดลง ผลิตน้ำนมได้มากขึ้น และมีโอกาสที่สุขภาพจะแข็งแรงขึ้น

การจับกลุ่มโคตามระยะการให้นมหรือตามจำนวนท้องคลอด มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์มากมาย ซึ่งประโยชน์ที่ว่านี้ได้แก่ โอกาสเพิ่มผลผลิต ลดการเกิดความผิดปกติด้านเมแทบอลิซึม เพิ่มรายรับหลังหักต้นทุนค่าอาหาร ประสิทธิภาพสูงขึ้นในหลายด้าน และโคมีสุขภาพดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตต้องมีสถานที่และแรงงานมากเพียงพอ รวมถึงสามารถผสมอาหารหลายสูตรด้วย

 

Loading...