Skip to main content

ข้อเท็จจริงเรื่องผลกระทบของปศุสัตว์ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เราทุกคนเคยได้ยินกันมาแล้วว่าปศุสัตว์มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าโคกระบือที่มักจะถูกชี้เป้าว่าเป็นตัวการสำคัญที่ปล่อยก๊าซมีเทนอันส่งผลต่อการเกิดภาวะโลกร้อนอย่างมาก

 แต่ถ้าเรามองเรื่องปศุสัตว์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบผิดๆ มาโดยตลอดล่ะ

 อย่างที่เราได้กล่าวถึงกันไปแล้วในโพสต์ก่อนหน้านี้ว่าปศุสัตว์มีบทบาทสำคัญต่อความเป็นไปในโลกของเรา และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเกษตรปศุสัตว์สร้างผลกระทบต่อการที่อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น อันเป็นสภาวะที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา ที่จริงแล้วปศุสัตว์ไม่ได้เป็นผู้ร้ายอย่างที่ถูกสร้างภาพไว้ และไม่ได้เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Global greenhouse gas: GHG) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

แท้ที่จริงแล้ว หากได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ปศุสัตว์และเกษตรกรรมจะมีศักยภาพในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเสียด้วยซ้ำ ด้วยการบริหารจัดการ วิธีการ และเทคโนโลยีที่ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้อาจถึงขั้นช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้เลยทีเดียว ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นได้ด้วยการรับทราบข้อเท็จจริง และเรียนรู้ความเป็นไปได้ต่างๆ ไปด้วยกัน

 

การทำฟาร์มปศุสัตว์มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างไร

โดยทั่วไปแล้ว ปศุสัตว์และเกษตรกรรมจะถูกพาดพิงถึงในฐานะตัวการที่สร้างก๊าซเรือนกระจกได้อย่างร้ายแรงที่สุด พร้อมคำกล่าวอ้างว่า ปศุสัตว์มีการปล่อยก๊าซคิดเป็นสัดส่วน 14% ถึง 50% ของปริมาณก๊าซ GHG ทั้งหมดที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศเลยทีเดียว คนบางกลุ่มถึงกับกล่าวอ้างอย่างผิดๆ ว่าการผลิตเนื้อทั่วโลกทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากกว่าภาคส่วนคมนาคมทั้งระบบเสียอีก

แต่ ดร. แฟรงค์ มิตโลฮ์เนอร์ (Frank Mitloehner) ผู้อำนวยการศูนย์ CLEAR ศาสตราจารย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเดวิส ได้กล่าวไว้ว่า ตัวเลขที่ว่านี้ต้องมาพร้อมคำอธิบายที่ชัดเจนด้วย อีกทั้งยังไม่ได้สะท้อนถึงปริมาณการปล่อยก๊าซตามจริงจากปศุสัตว์ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีตัวเลขอยู่ที่เพียง 4% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมดในสหรัฐฯ เลย

“ถ้าเทียบกันจริงๆ แล้ว ภาคส่วนที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลนี่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก 80% ของปริมาณทั้งหมดเลยนะครับ” ดร. แฟรงค์กล่าว

การปล่อยก๊าซจากปศุสัตว์ส่วนมากทั้งจากโคเนื้อและโคนม จะอยู่ในรูปของก๊าซมีเทน และถึงแม้ว่าก๊าซเรือนกระจก (ได้แก่ ก๊าซมีเทน คาร์บอนไดออกไซด์ ไนตรัสออกไซด์ และกลุ่มฟลูออริเนต) จะมีศักยภาพในการทำให้โลกของเราร้อนขึ้นได้ทุกชนิด แต่ก๊าซมีเทนเป็นก๊าซที่มีประสิทธิภาพในการกักเก็บความร้อนยิ่งกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ จึงถือเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ทรงพลังที่สุด โดยจากรายงานการประเมินครั้งที่ 5 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ได้ระบุไว้ว่า ผลกระทบจากก๊าซมีเทนในช่วงเวลา 100 ปีให้ผลรุนแรงกว่าผลกระทบจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ทำการวิเคราะห์ปรากฏการณ์เรือนกระจกและบทบาทของก๊าซเรือนกระจกในการเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกแล้ว ก๊าซมีเทนที่เกิดจากเหล่าโคกระบืออาจให้ผลกระทบต่ำกว่าที่เราเคยคิดกันไว้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะอันที่จริงแล้ว ก๊าซมีเทนจะถูกรีไซเคิลไปตามกระบวนการธรรมชาติที่เรียกว่า วัฏจักรคาร์บอนชีวภาพ และเพราะบทบาทของโคกระบือและสัตว์เคี้ยวเอื้องชนิดอื่นๆ ที่มีต่อวัฏจักรนั้นๆ สัตว์เหล่านี้จึงมีศักยภาพที่จะเป็นแรงผลักดันในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตอีกหลายปีและหลายสิบปีต่อจากนี้

 

ปศุสัตว์ ก๊าซมีเทน และวัฏจักรคาร์บอนชีวภาพ

วัฏจักรคาร์บอนชีวภาพ คือ กระบวนการรีไซเคิลคาร์บอนของพืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีวิธีการทำงานดังนี้:

 

  • พืชดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในอากาศด้วยการสังเคราะห์ด้วยแสงและเปลี่ยนเป็นคาร์โบไฮเดรต

 

  • คาร์โบไฮเดรตจากคาร์บอนจะถูกดูดซับไว้ในดินและกักเก็บไว้ในต้นพืช จนกว่าจะถูกบริโภคโดยสัตว์เคี้ยวเอื้องอย่างโคกระบือ

 

  • คาร์บอนดังกล่าวบางส่วนจะถูกปล่อยคืนกลับสู่บรรยากาศในรูปของก๊าซมีเทนผ่านการเรอของสัตว์และมูลสัตว์

 

  • เมื่อเวลาผ่านไปประมาณสิบกว่าปี ก๊าซมีเทนดังกล่าวจะสลายตัวและเปลี่ยนกลับไปเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ และเริ่มวัฏจักรดังกล่าวใหม่อีกครั้ง

 

วัฏจักรคาร์บอนชีวภาพถือเป็นส่วนสำคัญของชีวิต ซึ่งก็คือ เป็นอาหารให้แก่พืช พืชเป็นอาหารให้แก่สัตว์ และสัตว์เป็นอาหารให้แก่มนุษย์

ในวัฏจักรคาร์บอนชีวภาพนั้น คาร์บอนไม่ได้ถูกสร้างและสะสมขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่จะผ่านกระบวนการรีไซเคิล และที่สำคัญก็คือ วัฏจักรคาร์บอนชีวภาพเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว โดยใช้เวลาตลอดกระบวนการเป็นหลักสิบปี ไม่ใช่หลักร้อยหรือพันปีอย่างในกระบวนการระเหิดกลับของก๊าซเรือนกระจกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

 

ใช่ว่าก๊าซเรือนกระจกทุกชนิดจะเท่าเทียมกัน

ความรวดเร็วดังกล่าวนั้นคือสิ่งที่ทำให้ก๊าซมีเทนไม่เหมือนกับก๊าซเรือนกระจกใด เพราะก๊าซมีเทนมีปฏิกิริยาที่แตกต่างจากก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ในชั้นบรรยากาศ ดังนั้นจึงส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนในระยะยาวที่ต่างออกไปด้วย ข้อมูลจากศูนย์ CLEAR ระบุว่าปัจจัยสำคัญที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจกคือ ก๊าซดังกล่าวเป็นก๊าซสะสมหรือก๊าซไหลเวียน

 

ก๊าซสะสม (Stock gas) มีอายุยืนยาว ตกค้างและสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลกเป็นเวลานับพันๆ ปี อย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในชั้นบรรยากาศหลายร้อยปีก็ถือเป็นก๊าซสะสม โดยจะมีผลกระทบต่อสภาพอากาศในแง่ภาวะโลกร้อนอย่างยาวนานและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ 

ส่วนก๊าซไหลเวียน (Flow gas) เป็นก๊าซอายุสั้นที่จะถูกกำจัดออกจากชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็วกว่ามาก และเพราะก๊าซไหลเวียนจะไม่สะสมในชั้นบรรยากาศ จึงให้ผลกระทบในด้านภาวะโลกร้อนเป็นระยะเวลาที่สั้นกว่าก๊าซสะสม

ทั้งนี้ ก๊าซมีเทนเป็นก๊าซไหลเวียนที่มีอายุขัยในชั้นบรรยากาศประมาณ 12 ปี ดังนั้น ก๊าซมีเทนจากแหล่งกำเนิดใหม่จะทำให้โลกร้อนขึ้นเป็นเวลา 12 ปี แต่หากยังมีอัตราการปล่อยก๊าซใกล้เคียงอัตราคงที่อย่างสม่ำเสมอ ก๊าซมีเทนจะถูกทำลายไปในอัตราคร่าวๆ เทียบเท่ากับอัตราการเกิดนั่นเอง โดยจะแตกตัวเป็นโมเลกุลส่วนประกอบต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สามารถกำจัดออกไปจากชั้นบรรยากาศและรีไซเคิลในวัฏจักรคาร์บอนชีวภาพ

“ก๊าซมีเทนจากการเกษตรปศุสัตว์เป็นก๊าซไหลเวียนได้ก็เพราะว่ามันไม่ได้มีแต่การเกิดขึ้นมาอย่างเดียว แต่มันมีการทำลายและกำจัดออกไปจากชั้นบรรยากาศด้วยครับ” ดร. แฟรงค์กล่าว

สรุปคือ ก๊าซมีเทนไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศในลักษณะเดียวกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยเหตุนี้ หากเราจะวางแผนลดความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่ออนาคต จึงควรใช้วิธีคิด ปฏิบัติ และกำหนดกลยุทธ์ที่ต่างออกไป

 

การรับประทานเนื้อสัตว์ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร

แหล่งข้อมูลบางแห่งพุ่งเป้าโจมตีมาที่ปศุสัตว์เคี้ยวเอื้องต่างๆ อย่างโคกระบือและแกะว่าเป็นแหล่งอาหารที่สร้างคาร์บอนจำนวนมาก อันเนื่องมาจากก๊าซมีเทนที่ถูกปล่อยออกมาและทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเลี้ยงดูสัตว์เหล่านี้ แต่อย่างที่เราได้พูดคุยกันไปแล้วว่าก๊าซมีเทนจากปศุสัตว์ไม่อาจเทียบกับก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบคมนาคมและกระบวนการอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้เลย

แต่หากชาวอเมริกันหยุดทานเนื้อสัตว์จริง แล้วเรื่องนี้จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร ดร. แฟรงค์ ได้ระบุไว้ว่า การปล่อยก๊าซในสหรัฐอเมริกาจะลดลงไม่ถึง 3% ดังที่ศาสตราจารย์แมรี่ เบธ ไวท์ (Mary Beth White) และโรบิน อาร์ ฮอลล์ (Robin R. Hall) ได้ประเมินไว้ในเอกสารปีค.ศ. 2017 ว่า “ส่งผลต่อสภาพอากาศเพียงเล็กน้อยและในระยะสั้น” ตามคำอธิบายของ ดร. แฟรงค์

ในทางกลับกัน การทานเนื้อสัตว์ทำให้เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรคาร์บอนชีวภาพ และทำให้เราได้ใช้ประโยชน์จากผืนดินที่อาจถูกปล่อยให้ว่างไปเสียเปล่า เพราะสัตว์เคี้ยวเอื้องอย่างโคกระบือเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรคาร์บอนชีวภาพที่ช่วยรีไซเคิลคาร์บอนด้วยการกินพืชที่มนุษย์ทานไม่ได้ เช่น หญ้าและไม้พุ่ม เป็นต้น และในระหว่างที่เกิดวัฏจักรคาร์บอนชีวภาพ จะพบได้ว่ามีเซลลูโลสก่อตัวขึ้นปริมาณสูงมากเป็นพิเศษในพืชที่เติบโตใน “พื้นที่ด้อยคุณภาพ” อันเป็นบริเวณที่ไม่เหมาะสมแก่การทำเกษตร อ้างอิงจากข้อมูลของศูนย์ CLEAR แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเดวิส ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถย่อยเซลลูโลสได้ แต่สัตว์เคี้ยวเอื้องอย่างโคกระบือทำได้ วัฏจักรคาร์บอนชีวภาพจึงมีความสำคัญในการทำให้ปศุสัตว์เปลี่ยนพืชที่ไม่สามารถย่อยได้และที่ดินที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ให้กลายเป็นแหล่งอาหารสำคัญสำหรับมนุษย์

แนวปฏิบัติด้านเกษตรกรรมที่ชาญฉลาดสามารถช่วยลดทอนผลกระทบจากการเลี้ยงดูปศุสัตว์เคี้ยวเอื้องต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งนี่เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมานานหลายทศวรรษแล้ว โดยทางนิตยสาร Progressive Cattle ได้อ้างว่า สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโคกระบือต่อเนื้อวัวหนึ่งปอนด์ลดลง 6% ตั้งแต่ปี 1990 อีกทั้งเจอร์รี่ บอห์น (Jerry Bohn) ประธานสมาคม National Cattlemen’s Beef Association ก็ได้กล่าวว่าการปล่อยก๊าซจากโคกระบือในช่วงปีค.ศ. 1975 ถึง 2017 ลดลงถึง 30% ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบที่ชัดเจน และทำให้เห็นโอกาสที่หลากหลายเลยทีเดียว

เมื่อผู้บริโภคเลือกฟาร์มปศุสัตว์และเกษตรกรรมที่ใช้แนวปฏิบัติในการทำฟาร์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันได้แก่วิธีการต่างๆ เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากปศุสัตว์ การปลูกพืชคลุมดิน การปลูกพืชหมุนเวียน และการเพิ่มต้นไม้ในพื้นที่เลี้ยงสัตว์ด้วยแนวปฏิบัติทุ่งปศุสัตว์ในพื้นที่ป่า นั่นเท่ากับได้ลงทุนในวัฏจักรคาร์บอนชีวภาพและเป็นการส่งเสริมเกษตรกรที่สร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทางที่ดี

 

การลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากปศุสัตว์

เนื่องจากก๊าซมีเทนจากเกษตรกรรมไม่ได้สะสมในชั้นบรรยากาศในอัตราเดียวกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงมีความหมายโดยนัยที่น่าแปลกใจดังนี้ คือ หากก๊าซมีเทนจากโคกระบือลดลง จะให้เกิดอิทธิพลความเย็น ซึ่งช่วยชดเชยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลในวัฏจักรคาร์บอนชีวภาพได้ อีกทั้งเมื่อมีการทำความเข้าใจถึงพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์กายภาพของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น รวมไปถึงบทบาทของเทคโนโลยีในการช่วยบรรเทาภาวะดังกล่าว เกษตรกรต่างก็จะร่วมมีส่วนในความพยายามครั้งนี้ได้ในเชิงรุก เพราะเกษตรกรสามารถลดปริมาณก๊าซมีเทนที่เกิดจากปศุสัตว์ของตนได้หลากหลายวิธี อาทิเช่น

 

  • การผสมสารเสริมที่สามารถช่วยลดก๊าซมีเทนในอาหารสัตว์ เช่น สารแทนนิน สาหร่าย ไขมัน และน้ำมัน ซึ่งช่วยยับยั้งเมทาโนเจนในรูเมน เหล่าเกษตรกรยังเริ่มมองหาวิธีการอื่นๆ เช่น ยีสต์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนและอัตราการขับถ่ายไนโตรเจน ควบคู่ไปกับการเพิ่มผลผลิตนม ปริมาณไขมันนมและโปรตีน และการจับไนโตรเจนด้วยแบคทีเรียในรูเมนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

  • การพิจารณากลยุทธ์การให้อาหาร เช่น การเพิ่มระดับไขมันในอาหารและการเพิ่มสัดส่วนธัญพืชในอาหารโคกระบือ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้ โดยหน่วยงาน Agriculture and Agri-Food Canada  ระบุว่า อาหารประเภทเมล็ดพืชน้ำมันบด (เช่น เมล็ดทานตะวัน คาโนลา หรือเมล็ดแฟลกซ์) หรือกากข้าวโพด ช่วยลดพลังงานที่สูญเสียไปในรูปก๊าซมีเทนได้มากถึง 20% ซึ่งถือว่าเห็นผลมากจากการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย

 

  • การสำรวจการเปลี่ยนแปลงวิธีบริหารจัดการและการจัดเก็บมูลสัตว์ เช่น การเติมอากาศและการหมักมูลโคกระบือเพื่อลดปริมาณก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้น อีกทั้งก๊าซมีเทนจากมูลสัตว์ยังสามารถนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานได้ ด้วยเทคโนโลยี Dairy digester ซึ่งจะเปลี่ยนมูลสัตว์เป็นก๊าซธรรมชาติ เพื่อใช้เดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหรือยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยก๊าซธรรมชาติ หรือจำหน่ายให้แก่บริษัทสาธารณูปโภคในท้องถิ่น

 

อนาคตและโอกาส

เกษตรกรรมและปศุสัตว์อาจสร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมายก็จริง แต่อุตสาหกรรมนี้ก็ยังมีอนาคตที่สดใส หากเรามีการตัดสินใจที่ชาญฉลาด มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในเรื่องการเลี้ยงดูปศุสัตว์อย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมการเกษตรอาจมีโอกาสที่จะทำอะไรอย่างอื่นได้มากกว่าเพียงแค่ลดการปล่อยก๊าซ โดยอาจช่วยสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลกก็เป็นได้ และหากเลือกสนับสนุนเกษตรกรเหล่านี้ ผู้บริโภคทั่วไปก็สามารถมีส่วนร่วมในความพยายามดังกล่าวด้วยเช่นกัน

สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้ระบุโอกาส รวมถึงอุปสรรคสำหรับอุตสาหกรรมการเกษตรไว้ว่า “แม้ว่านวัตกรรมอุตสาหกรรมจะเปิดโอกาสให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าที่เพิ่มมากขึ้นในด้านความยั่งยืนแล้ว แต่เราเองก็ต้องช่วยให้เกษตรกรเกิดความสะดวกและสร้างผลกำไร อันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างผลกระทบต่อสภาพอากาศเชิงบวกด้วย”

เหล่าเกษตรกรและเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ทั้งหลายต้องการข้อมูลที่ถูกต้องและวิธีการเชิงวิทยาศาสตร์ที่เข้าถึงได้และให้ผลดีต่อปศุสัตว์ของตน รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ซึ่งวิธีการเหล่านั้นต้องเตรียมพร้อมไว้สำหรับเกษตรกรทั่วโลก พร้อมทั้งเครือข่ายข้อมูลร่วมว่าด้วยแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดและวิธีปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับประเทศ วัฒนธรรม และสภาพอากาศที่แตกต่างกันไป และนี่คือวิธีที่เกษตรกร เจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมปศุสัตว์จะทำงานร่วมกันเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันจะนำไปสู่โลกแห่งความอุดม หรือ Planet of Plenty™ ในท้ายที่สุด

Loading...