Skip to main content

การผลิตสุกรโดยไม่ใช้ซิงค์ออกไซด์: ทำอย่างไรให้รอด

การสั่งห้ามใช้ซิงค์ออกไซด์ (ZnO) ในอาหารสัตว์ เพื่อใช้รักษาและควบคุมอาการท้องเสียในลูกสุกรหลังหย่านม มีผลบังคับใช้ในสหภาพยุโรป (EU) ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2022 เป็นต้นไป แม้ว่าหลังจากนั้นจะยังสามารถใช้ซิงค์ออกไซด์เสริมในอาหารสัตว์ได้ แต่ปริมาณสูงสุดที่อนุญาตให้ใช้ได้คือ 150 ppm แต่ก่อนที่จะมาพูดคุยกันว่าเหล่าผู้เลี้ยงสุกรในสหภาพยุโรปจะต้องเตรียมพร้อมในการเลี้ยงสุกรโดยไม่ใช้สังกะสีในระดับเพื่อการรักษาได้อย่างไรบ้าง เราต้องเข้าใจก่อนว่าทำไมทั่วโลกถึงมีการใช้ซิงค์ออกไซด์ ในอาหารสุกรเพิ่มมากขึ้นอย่างมากในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้

 

การใช้ซิงค์ออกไซด์เริ่มมาจากไหน

ในช่วงหย่านม มีหลากหลายปัจจัยที่สร้างความเครียดให้ลูกสุกรในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งความเครียดนี้จะไปรบกวนระบบทางเดินอาหารและระบบภูมิคุ้มกัน ปัจจัยเหล่านี้มีหลายด้านได้แก่:

1. ด้านโภชนาการ: การเปลี่ยนอาหารอย่างฉับพลันจากนมแม่ไปสู่สูตรอาหารแห้งอัดเม็ดที่ทำมากจากพพืชเป็นหลัก

2. ด้านสิ่งแวดล้อม: การย้ายไปสู่โรงเรือนอนุบาลที่มีสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนเดิม

3. ด้านสุขภาพพื้นฐาน: การสูญเสียภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากแม่ (passive immunity)

4. ด้านกายภาพ: การถูกแยกจากแม่อย่างฉับพลัน ถูกดูแล ขนส่ง และจับไปรวมไว้กับสุกรจากครอกอื่นที่ไม่คุ้นเคย

เนื่องจากสุกรต้องอยู่ภายใต้ความเครียดดังกล่าว สุกรในช่วงก่อนหย่านมจึงมักแสดงให้เห็นพฤติกรรมการเจริญเติบโตที่ไม่ดีนัก (เช่น อัตราการกินน้อยลง) และมักมีอาการท้องเสียในช่วงหลังหย่านมได้ง่าย

แต่เดิมนั้น การผลิตสุกรมีการพึ่งพายาปฏิชีวนะเพื่อใช้เร่งการเจริญเติบโตอย่างมากในอาหารสัตว์สูตร Pre-Starter และสูตร Starter เพื่อใช้ควบคุมการติดเชื้อ (โดยมากมีสาเหตุจากเชื้อ enterotoxigenic E. coli) และเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของลูกสุกรในช่วงสองสามอาทิตย์แรกหลังหย่านม ซึ่งมีการปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานมีการสั่งห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเป็นสารกระตุ้นการเจริญเติบโต เช่น รัฐสภายุโรปในปี ค.ศ. 2003 เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับระดับการดื้อยาปฏิชีวนะที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการดื้อยาปฏิชีวนะมีผลที่อันตรายต่อทั้งสุขภาพของคนและสัตว์

หลังจากมีการสั่งห้ามใช้ยาปฏิชีวนะ ผู้ผลิตสุกรจำเป็นต้องหาวิธีอื่นที่จะช่วยรักษาสุขภาพลำไส้และเพื่อไม่ให้สมรรถภาพของสุกรหลังหย่านมลดลง นั่นเป็นสาเหตุให้มีการใช้ซิงค์ออกไซด์ ปริมาณมากในอาหารลูกสุกร (2,000 ppm หรือมากกว่า) อย่างแพร่หลาย และเป็นสิ่งที่ทำกันเป็นเรื่องปกติในอุตสาหกรรมการผลิตสุกรในช่วงนั้น การใช้ซิงค์ออกไซด์ เป็นวิธีที่ได้ผลและมีราคาไม่แพงที่ใช้ป้องกันและควบคุมอาการท้องเสียในลูกสุกรหลังหย่านมและยังช่วยเร่งการเจริญเติบโต ช่วยเพิ่มอัตราการกินและการย่อยอาหารอีกด้วย ถึงแม้ว่ากระบวนการออกฤทธิ์ของซิงค์ออกไซด์ต่อการควบคุมอาการท้องเสียของลูกสุกรหลังหย่านมยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างชัดเจนนัก แต่ก็เชื่อกันว่ามีความเกี่ยวข้องต่อการช่วยปรัปปรุงและพัฒนาสัณฐานวิทยาของลำไส้ (เช่น ทำให้โครงสร้างและการทำงานของลำไส้ที่ดีขึ้น เป็นต้น) รวมถึงช่วยปรัปปรุงการย่อยและดูดซึมสารอาหาร

 

ทำไมจึงมีการห้ามใช้ซิงค์ออกไซด์เพื่อการรักษา?

ถึงแม้การใช้ซิงค์ออกไซด์ในอาหารลูกสุกรจะมีประโยชน์หลายอย่าง (การป้องกันอาการท้องเสียหลังหย่านม, ช่วยรักษาสมรรถภาพและสุขภาพ, และอื่น ๆ) แต่ในรายงานล่าสุดก็แสดงให้เห็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเรายังได้รับทราบว่ามันมีส่วนทำให้มีการดื้อยาปฏิชีวนะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมจึงมีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในการใช้และทำไมสหภาพยุโรปจึงตัดสินใจสั่งห้ามใช้ซิงค์ออกไซด์ในระดับเพื่อการรักษาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2022 ที่ต้นไป อย่างไรก็ตาม นี่อาจไม่ได้เป็นแต่เพียงข่าวร้ายต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกรในยุโรป เพราะการห้ามใช้ซิงค์ออกไซด์นั้นก็ยังมีประโยชน์ในหลายด้าน เช่น:

 

1. มลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมลดลง

จากที่ได้กล่าวไปแล้วว่า มีความกังวลมากมายต่อการใช้ซิงค์ออกไซด์ในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่องในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ด้วยสาเหตุที่สังกะสีนั้นจะสะสมในดินจากการใช้มูลสุกรที่เต็มไปด้วยสังกะสีเป็นปุ๋ยคอก ปริมาณสังกะสีในดินและผิวหน้าของน้ำถือว่าเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ และอาจมีผลต่อการดูดซึมแร่ธาตุรองอื่น ๆ ได้ เช่น เหล็ก เป็นต้น

 

2. ป้องกันการดื้อยาปฏิชีวนะ

ในการศึกษาและรายงานเมื่อไม่นานมานี้ได้แสดงให้เห็นว่าซิงค์ออกไซด์มีส่วนทำให้การดื้อยาปฏิชีวนะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการใช้ซิงค์ออกไซด์ในปริมาณสูงอาจเพิ่มสัดส่วนของเชื้อ E. coli ดื้อยาหลายขนาน (multi-drug-resistant E. coli) ในลำไส้ของลูกสุกร

 

3. หลีกเลี่ยงการเป็นพิษของสังกะสี

สังกะสียังคงเป็นโลหะหนักและเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตหลายอย่าง รวมถึงสุกร การศึกษาแสดงให้เห็นว่าการใช้ซิงค์ออกไซด์ในปริมาณเพื่อการรักษาเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและสมรรถภาพของลูกสุกร ซึ่งถูกพิสูจน์ให้เห็นด้วยอัตราการกินที่น้อยลงอย่างชัดเจน

 

4. ป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างสารอาหาร

ซิงค์ออกไซด์ปริมาณสูงอาจส่งผลเสียต่อกิจกรรมของไฟเตส (เอนไซม์ไฟเตสถูกใส่อยู่ในอาหารลูกสุกรเพื่อช่วยเสริมการย่อย) โดยการที่ฟอสฟอรัสจะไม่สามารถถูกปลดปล่อยจากไฟเตส จากการก่อตัวของสารประกอบเชิงซ้อนของสังกะสีกับ P-phytate เมื่อซิงค์ออกไซด์ถูกถอดออกจากอาหารลูกสุกร จึงส่งผลดีต่อประสิทธิภาพของไฟเตสนั่นเอง

 

5. หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของจุลชีพในลำไส้

การใช้ซิงค์ออกไซด์ในระดับเพื่อการรักษาอาจเป็นสาเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของจุลชีพในลำไส้ของลูกสุกรในช่วงหลังหย่านมระยะแรก ด้วยการไปยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ เช่น Lactobacilli ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อการพัฒนาลำไส้และสุขภาพของลูกสุกรได้

 

แล้วสถานการณ์ในประเทศผู้ผลิตสุกรอื่นนอกจากสหภาพยุโรปจะเป็นอย่างไร?

แคนาดา: เมื่อไม่นานนี้ แคนาดามีการใช้ซิงค์ออกไซด์ในอาหารลูกสุกรในระดับ 2,500–5,000 ppm อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แคนาดากำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการออกข้อกำหนดที่คล้ายคลึงกับข้อกำหนดในสหภาพยุโรป ซึ่งจะให้ใช้ซิงค์ออกไซด์ลดลงโดยให้อยู่ในปริมาณเพื่อโภชนาการ ที่ 350 ppm เท่านั้น

จีน: การใช้ซิงค์ออกไซด์ในปริมาณสูงกลายเป็นสิ่งที่ต้องถูกตรวจสอบอย่างใกล้ชิดก่อนหน้านี้ และได้มีการกำหนดให้ลดปริมาณการเสริมสังกะสีในอาหารสัตว์ลงค่อนข้างมาก คือจาก 2,250 ppm เป็น 1,600 ppm ในปี 2018

สหรัฐอเมริกาและประเทศในเอเชียบางประเทศ: มีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ สหรัฐอเมริกาและประเทศในเอเชียบางประเทศจะมีการออกข้อกำหนดสำหรับการใช้ซิงค์ออกไซด์ในระดับเพื่อการรักษาในอาหารลูกสุกร ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีกฏออกมา แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ผลิตสุกรควรหลีกเลี่ยงการใช้ซิงค์ออกไซด์อย่างเกินจำเป็นและควรเริ่มหาวิธีการอื่นเพื่อทดแทนการใช้ซิงค์ออกไซด์ เพื่อเตรียมพร้อมต่อการสั่งห้ามใช้ที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต

เมื่อไม่นานที่ผ่านมา ซิงค์ออกไซด์เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางด้านโภชนาการเพื่อใช้ป้องกันและควบคุมอาการท้องเสียในลูกสุกรหลังหย่านม และยังใช้เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโต แต่อย่างไรก็ตาม ความกังวลที่เพิ่มสูงขึ้นในด้านมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมและการส่งผลต่อการแพร่กระจายของการดื้อยาปฏิชีวนะ ก็นำไปสู่การสั่งห้ามใช้ซิงค์ออกไซด์ในปริมาณสูงสำหรับอาหารลูกสุกรของสหภาพยุโรป ดังนั้นการใช้กลยุทธ์แบบองค์รวมที่ผสมผสานแนวทางทั้งด้านโภชนาการ, การจัดการ, ความปลอดภัยทางชีวภาพ, สุขภาพ และสวัสดิภาพ จะเป็นกุญแจที่จะทำให้สุกรจะสามารถรอดขีวิตและเติบโตต่อไปได้ในยุคที่ปราศจากซิงค์ออกไซด์

คุณสามารถศึกษาแนวทาง Alltech Seed, Feed, Weed  ที่จะช่วยคุณให้สามารถถอดซิงค์ออกไซด์จากสูตรอาหารลูกสุกรของคุณ และปรึกษาทีม Alltech Gut Health Management team ของเรา เพื่อให้คำปรึกษาสำหรับการผลิตลูกสุกรโดยไม่ใช้ซิงค์ออกไซด์ได้แล้ววันนี้

Loading...