Skip to main content

การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีประสิทธิภาพเริ่มต้นที่ลำไส้

ปลาที่เพาะเลี้ยงในฟาร์มมีความเสี่ยงต่อโรคมากกว่าสัตว์บกเนื่องจากธรรมชาติที่อยู่อาศัยที่อยู่ในน้ำ

ลำไส้มีหน้าที่หลายอย่างที่ช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่าสัตว์จะมีสมรรถภาพ สุขภาพ และภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด ระบบย่อยอาหารที่แข็งแรงอาจเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของลำไส้ เนื่องจากระบบทางเดินอาหารจะช่วยทำให้กระบวนสำคัญในการย่อยและดูดซึมสารอาหารทำงานได้สะดวกขึ้น ปฏิกิริยาระหว่างจุลชีพจากสิ่งแวดล้อมกับจุลชีพในลำไส้สัตว์อาจทำให้เกิดความไม่สมดุลในไมโครไบโอมในลำไส้ของปลา ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการทำงานตามปกติของระบบย่อยอาหารของปลา

นอกเหนือจากช่วยย่อยแล้ว ลำไส้ยังทำหน้าที่เป็นปราการป้องกันด่านแรกที่คอยป้องกันโรคอันตรายอีกด้วย บ่อยครั้ง ปลาเพาะเลี้ยงในฟาร์มจะมีความเสี่ยงต่อโรคมากกว่าสัตว์บกด้วยลักษณะที่อยู่อาศัยที่อยู่ในน้ำ เนื่องจากต้องเผชิญกับสภาวะแวดล้อมและจุลชีพที่มีความหลากหลายกว่าซึ่งสามารถสร้างปัญหาต่อสัตว์น้ำในรูปแบบเฉพาะที่แตกต่างกัน การให้ความสำคัญกับแนวปฏิบัติสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เน้นย้ำเรื่องการดูแลสุขภาพลำไส้ จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะได้ผลผลิตที่ดีและมีมาตรฐานสูง

การดูแลด่านป้องกันและความสมบูรณ์ของผนังลำไส้

ชั้นเยื่อเมือก

หนึ่งในปัญหาผิวหนังที่พบได้ทั่วไปที่สุดในมนุษย์คือ ผิวหนังอักเสบ แม้ว่าปัญหานี้อาจเป็นที่กรรมพันธุ์ แต่ก็มักจะได้รับการกระตุ้นให้เกิดอาการเมื่อเกราะป้องกันความชุ่มชื้นบนผิวหนังของคนเราเกิดความเสียหายหรือถูกรบกวนด้วยปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมหรืออาหาร ซึ่งเมื่อเกิดความเสียหายแล้ว เกราะป้องกันความชุ่มชื้นดังกล่าวอาจซ่อมแซมได้ยากมากทีเดียว ด้วยเหตุนี้ผู้มีอาการจะรู้สึกว่าผิวแห้ง คัน เป็นผื่นแดง บวม เจ็บปวด หรือไม่สบายตัว

คราวนี้เรามาลองนึกถึงปลากัน สิ่งที่เทียบได้กับเกราะป้องกันความชุ่มชื้นของมนุษย์ก็คือเคลือบเมือกของปลา ที่เป็นชั้นเมือกที่ปกป้องผิว เหงือก และลำไส้ไว้ ชั้นเมือกนี้มีบทบาทหลักในระบบตอบสนองของภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่ช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์ติดโรค ซึ่งหากชั้นเยื่อเมือกไม่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ เชื้อฉวยโอกาสอาจเข้าสู่ร่างกายของสัตว์และทำให้สัตว์เป็นโรค โภชนาการที่ย่ำแย่ น้ำคุณภาพต่ำ และการเกิดความเครียด ล้วนนำไปสู่ความเสียหายของชั้นเยื่อเมือกได้ทั้งสิ้น

ความหลากหลายของจุลินทรีย์

ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ การที่ไมโครไบโอมของปลาเสียสมดุลอาจทำให้เกิดลำไส้อักเสบ การย่อยไม่ดี กินอาหารได้น้อยลง และอัตราแลกเนื้อแย่ลง หากมีปริมาณและความหลากหลายของแบคทีเรียดีในลำไส้เพิ่มขึ้นจะสามารถช่วยเสริมภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติให้แก่ปลา ช่วยให้สมรรถภาพดีขึ้น และสนับสนุนให้ระบบย่อยอาหารมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น หลักฐานรองรับต่างๆ ระบุว่าการเพิ่มความหลากหลายของจุลินทรีย์มีส่วนเกี่ยวข้องในการเพิ่มความทนทานต่อการเกาะของเชื้อโรค งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าโซลูชั่นเพื่อสุขภาพลำไส้จาก Alltech สามารถเพิ่มความหลากหลายของจุลินทรีย์และส่งเสริมไฟลัมแบคทีเรียที่ช่วยปรับสมดุลค่า pH ในลำไส้เล็ก ทำให้ย่อยสารอาหารได้ดียิ่งขึ้น และยังช่วยในการหมักคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน การลดอำนาจในครอบครองพื้นที่ของแบคทีเรียกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งและการฟื้นฟูสมดุลจุลินทรีย์จึงเป็นกุญแจสำคัญเพื่อสุขภาพลำไส้สัตว์น้ำที่ดีที่สุด

วิธีสร้างเสริมลำไส้ให้แข็งแรง

ใช้โภชนาการแบบเจาะจงเป้าหมาย

เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงในปัจจุบัน เช่น การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน การขาดแคลนวัตถุดิบ และการที่ผู้บริโภคต้องการแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนมากขึ้น ทำให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาต้องเผชิญกับความท้าทายในเรื่องของอาหารสัตว์และโภชนาการยิ่งกว่าที่เคย สารที่ต้านคุณค่าทางโภชนาการที่สัมพันธ์กับวัตถุดิบจากพืชบางชนิด อาจขัดขวางการทำงานของไมโครไบโอมตามธรรมชาติในลำไส้ ทำให้เกิดการอักเสบซึ่งนำไปสู่โรคลำไส้อักเสบ และอาจส่งผลให้เซลล์ตายในระดับไมโครวิลไลได้ เหตุการณ์เช่นนี้จะยับยั้งไม่ให้เกิดการสร้างเยื่อเมือก ทำให้ความสมบูรณ์ของลำไส้ลดลง จากการใช้ส่วนผสมจากทะเลที่ลดน้อยลง บวกกับความแพร่หลายและความต้องการวัตถุดิบจากพืชที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลังนี้ ทำให้เราต้องทำความเข้าใจยิ่งขึ้นว่าผู้บริโภคต้องการสารอาหารชนิดใดบ้างจากปลาที่ถูกเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ การเพิ่มโภชนาการชนิดพิเศษอาจเป็นกลยุทธ์เสริมในการป้องกันโรค และช่วยให้ลำไส้โดยรวมมีสุขภาพดีขึ้นได้

โปรแกรมเพื่อสุขภาพลำไส้จาก Alltech มีรากฐานมาจาก glycomic research ที่เน้นศึกษาโครงสร้างจากยีสต์และปฏิกิริยาต่อพรีไบโอติกส์ โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถใช้เป็นเพื่อรักษาความสมบูรณ์เชิงโครงสร้างของลำไส้ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งช่วยส่งเสริมสุขภาพลำไส้และการทำงานของภูมิคุ้มกัน Aquate® คือโซลูชั่นจาก Alltech เพื่อลำไส้ที่แข็งแรงของสัตว์น้ำ เป็นการผสมผสานผลิตภัณฑ์ 2 ประเภท ได้แก่ Actigen® และ Bio-Mos® ซึ่งในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนั้น กลไกการออกฤทธิ์และคุณประโยชน์ที่ได้จากโซลูชั่นเหล่านี้มีข้อมูลบันทึกไว้อย่างกว้างขวางทั้งในการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์และการใช้งานจริงในฟาร์ม การนำเทคโนโลยี Aquate มาใช้กับอาหารปลาจะช่วยให้โครงสร้างลำไส้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้อัตราการเติบโตและค่า FCR ดีขึ้นพร้อมลดอัตราการตาย

ลดตัวกระตุ้นความเครียดจากสิ่งแวดล้อม

ความเครียดแบบฉับพลันและเรื้อรังที่เกิดขึ้นจากปัจจัยแวดล้อมมักจะแสดงออกมาในรูปของความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างลำไส้ที่เห็นได้อย่างชัดเจน ความเครียดส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อที่สัมผัสสภาพแวดล้อมโดยตรง สัตว์จึงจำเป็นต้องมีการตอบสนองในลักษณะป้องกันตัวตามลำดับขั้น ทำให้ร่างกายสูญเสียสารอาหารรองที่ได้สำรองไว้ และเกิดความเสียหายกับเนื้อเยื่อในที่สุด ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลต่อความสมบูรณ์ของผิวหนัง เหงือก และลำไส้ปลา อีกทั้งปัญหาเหล่านี้ยังมีความเกี่ยวโยงกับปลาที่เพาะเลี้ยงในทะเลเป็นพิเศษอีกด้วย เนื่องจากสายพันธุ์เหล่านี้ต้องรับน้ำที่อยู่รอบตัวเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากเพื่อรักษาการดูดซึมให้ได้สมดุลกับสภาพแวดล้อมนั้น ด้วยเหตุนี้ การดูแลคุณภาพน้ำให้อยู่ในระดับสูงสุด คือสิ่งที่จำเป็นต่อการรักษาสุขภาพลำไส้ปลาให้แข็งแรง

ปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการพยายามปรับคุณภาพน้ำให้อยู่ในระดับสูงสุดมีมากมายหลายปัจจัย เช่น ปลาไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายตัวเองได้ และปลาแต่ละชนิดจะรู้สึกสบายที่สุดในช่วงอุณหภูมิเหมาะสมที่ต่างกัน ดังนั้น อุณหภูมิน้ำจึงมีบทบาทหลักในกระบวนการสำคัญต่างๆ เช่น การกินอาหาร การย่อย การเจริญเติบโต และการตอบสนองต่อความเครียดและการติดเชื้อ ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อคุณภาพน้ำซึ่งควรได้รับการเฝ้าสังเกตอย่างต่อเนื่อง ได้แก่:

  • ออกซิเจนที่ละลายในน้ำ: ปลาจะรับออกซิเจนละลายจากน้ำผ่านทางเหงือก ซึ่งออกซิเจนในน้ำนี้สำคัญต่อสุขภาพ สวัสดิภาพ และสมรรถภาพของสัตว์น้ำอย่างมาก ในสถานที่เพาะเลี้ยงควรรักษาความอิ่มตัวของออกซิเจนในน้ำให้สูงสุดเท่าที่จะทำได้ หากต่ำกว่า 80% อาจทำให้เกิดสภาวะความเครียดจากความอิ่มตัว
  • ความเป็นกรด-ด่าง (ค่า pH): CO2 จากการขับถ่ายของปลาในระบบเพาะเลี้ยงจะทำให้เกิดการก่อตัวของกรดอ่อนซึ่งส่งผลต่อระดับ pH ในน้ำ ช่วง pH ที่ยอมรับได้สำหรับสปีชีส์ส่วนใหญ่โดยทั่วไปจะอยู่ที่ระหว่าง 6.5 ถึง 7.5 แม้ว่าบางสปีชีส์จะอยู่ได้ดีใน pH ระดับต่ำถึง 5.5
  • ภาวะฟองอากาศ (Gas bubble trauma): ภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเลือดปลามีความอิ่มตัวยวดยิ่งจากก๊าซ (เช่น ไนโตรเจน) ปัญหานี้มักจะมีความเกี่ยวข้องกับการออกแบบระบบ ดังนั้น การวัดความดันรวมของก๊าซ (total gas pressure: TGP) ในน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากค่าสูงเกินไป จำเป็นต้องทำให้น้ำคายก๊าซออกมา

สิ่งอื่นๆ ที่ต้องเฝ้าสังเกตและตรวจสอบในการประเมินสภาพน้ำ ได้แก่ ระดับไนไตรท์และไนเตรท, CO2 และแอมโมเนีย (NH3) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบหมุนเวียน (recirculation aquaculture system: RAS) การมีธาตุเหล่านี้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดสภาวะที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเหล่าปลา

รักษาสมดุล

การรักษาสุขภาพสัตว์น้ำในระบบการผลิตให้สมบูรณ์ที่สุดเริ่มได้จากภายใน อย่างไรก็ตาม เราต้องจำไว้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นภายในร่างกายมักจะเป็นผลสะท้อนจากสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอก และเช่นเดียวกันในทางกลับกัน ด้วยเหตุนี้ กุญแจสู่ลำไส้ที่แข็งแรงจึงเป็นการรักษาสมดุลนั่นเอง ซึ่งก็คือการดูแลไมโครไบโอมของปลาให้มีสุขภาพดีด้วยการรักษาความสมบูรณ์และโครงสร้างลำไส้ให้ดี อีกทั้งยังหมายถึงการรักษาสมดุลระหว่างสภาพแวดล้อมและโภชนาการสำหรับสัตว์นั้นๆ กับความท้าทายเกี่ยวกับเชื้อโรคต่างๆ ที่อาจมีอยู่ในสภาพแวดล้อมดังกล่าว

หากต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความสำคัญของสุขภาพลำไส้ต่อสัตว์น้ำ คุณอาจสนใจอ่าน “Inside/Out: The Essential Guide to the Skin, Gills and Guts of Fish”  ที่เขียนโดยจอห์น สวีทแมน (John Sweetman) ผู้จัดการโครงการระหว่างประเทศด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของ Alltech และจิตส์ รัตเจส (Gijs Rutjes) ผู้จัดการฝ่ายสนับสนุนทางเทคนิคที่ Alltech Coppens “Inside/Out” คือเครื่องมือเพื่อการศึกษาสำหรับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลา ผู้ผลิตอาหารสัตว์ และผู้ที่สนใจด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หนังสือเล่มนี้ออกแบบมาเพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกอ่านง่ายเกี่ยวกับการทำงานของเนื้อเยื่อ ให้ผู้ผลิตตัดสินใจได้อย่างดีหลังได้รับข้อมูลครบถ้วน ซึ่งจะทำให้ปลามีสมรรถภาพสูงสุด

Loading...