Skip to main content

เศรษฐศาสตร์ของประสิทธิภาพการใช้อาหารสำหรับสุกร

(หมายเหตุจากบรรณาธิการ:นี่เป็นบทที่หนึ่งจากสามของบทความชุดประสิทธิภาพการใช้อาหารสำหรับสุกร

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าประสิทธิภาพการใช้อาหารเป็นเกณฑ์วัดที่มีประสิทธิภาพและเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจหลายเรื่อง แต่เรากำลังใช้ตัวชี้วัดเหล่านี้เพื่อผลักดันความสามารถในการสร้างผลกําไรหรือไม่?

เรารู้ว่าโปรแกรมการให้อาหารสําหรับสุกรส่งผลอย่างมากต่อการทํากําไร เนื่องจากต้นทุนอาหารสัตว์คิดเป็น 75% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ในโปรแกรมการให้อาหาร สำหรับพลังงานเพียงอย่างเดียวก็คิดเป็น 50% หรือมากกว่า ของต้นทุนอาหารทั้งหมด ดังนั้นพลังงานจึงมีความสําคัญในอาหารสุกรและเราจําเป็นต้องเข้าใจเรื่องประสิทธิภาพของอาหาร

คําถามสําคัญที่เราอาจจะต้องไตร่ตรองคือ การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้อาหารอย่างสม่ำเสมอเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดหรือไม่? คําตอบคือ ใช่ แต่เราต้องคำนึงถึงด้านเศรษฐกิจด้วย ในขณะที่ประสิทธิภาพการใช้อาหารมีอิทธิพลอย่างมากต่อผลตอบแทนทางการเงิน แต่หนทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้อาหารไม่ได้นําไปสู่ผลกําไรทางการเงินเสมอไป ตัวอย่างเช่น การเพิ่มความหนาแน่นของพลังงานในอาหาร หากเราเพิ่มประสิทธิภาพอาหารสัตว์อย่างต่อเนื่องอาจเป็นการเพิ่มต้นทุนอาหารสัตว์ต่อสุกรหนึ่งตัวและนําไปสู่การสูญเสียทางการเงินแทนที่จะสร้างกำไรให้เพิ่มขึ้นได้

 

การวัดประสิทธิภาพการใช้อาหารสัตว์

วิธีการคิดค่าประสิทธิภาพการใช้อาหารแบบดั้งเดิมคือ น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น (Body Weight Gain)ต่อหน่วยของอาหารที่สัตว์กิน โดยทั่วไปจะแสดงเป็น F/G หรือ G:F อีกวิธีหนึ่งใช้แสดงประสิทธิภาพการใช้อาหารคือ ค่าพลังงานในอาหารเทียบกับอาหารที่กิน ซึ่งแสดงเป็น F/G แคลอรี่ ซึ่งที่กล่าวมาเป็นการจำกัดความแบบไม่ซับซ้อน แต่อาจนําไปสู่ข้อผิดพลาดได้

ตัวอย่างเช่น บ่อยครั้งที่อาหารซึ่งถูกบริโภคไปมักไม่ได้ถูกวัดปริมาณและอาหารที่หายไปถูกใช้เป็นตัววัด การหายไปของอาหารสัตว์และอาหารสัตว์ที่ถูกบริโภคอาจแตกต่างกันถึง 30% โดยอาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น เศษอาหารสัตว์ ดังนั้นการหายไปของอาหารสัตว์จึงไม่สะท้อนถึงอาหารที่หมูบริโภคจริง

ปัจจัยสําคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือช่วงน้ำหนัก นํ้าหนักเริ่มต้นและนํ้าหนักสุดท้ายเป็นปัจจัยสําคัญที่ส่งผลต่อการหาประสิทธิภาพของอาหารสัตว์ การสะสมไขมันมีประสิทธิภาพน้อยกว่าการสะสมโปรตีน และการเพิ่มขึ้นของอัตราการสะสมไขมันก็สัมพันธ์กับการสะสมโปรตีนเมื่อนํ้าหนักตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการใช้อาหารระหว่างฝูงหมูคนละฝูง เราจะต้องพิจารณาตัวแปรเรื่องความแตกต่างของนํ้าหนักตัวในขณะที่มีการประเมิน

นอกจากนี้ ความแตกต่างของความหนาแน่นของพลังงานในอาหารอาจนําไปสู่ข้อผิดพลาดและบางครั้งอาจทำให้โหลดพลังงานไม่แม่นยำหรือใช้ระบบพลังงานที่ไม่ถูกต้อง โดยหลักการง่ายๆ หากค่าพลังงานมีความแม่นยํา เมื่อพลังงานสุทธิในอาหารเพิ่มขึ้น 1% จะส่งผลให้ประสิทธิภาพอาหารดีขึ้น 1% เช่นกัน นอกจากนี้ ก็ยังมีการคำนวณที่มักปรับมาจากสูตรนี้คือ การหาประสิทธิภาพการใช้อาหารจากน้ำหนักซากที่เพิ่มขึ้นเทียบกับนํ้าหนักตอนมีชีวิต สูตรนี้อิงจากวิธีที่หมูถูกขาย ดังนั้นจึงสะท้อนถึงผลกระทบด้านการเงินที่เกิดขึ้นจริงมากยิ่งขึ้น

ปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพอาหารสัตว์

ปัจจัยเพิ่มเติมที่ควรพิจารณา เมื่อต้องการหาค่าประสิทธิภาพของอาหารสัตว์อย่างถูกต้อง ได้แก่:

        อัตราการตาย: หากอัตราการตายเกิดขึ้นที่จุดกึ่งกลางของระยะขุน สําหรับทุก ๆ 1% ของอัตราการตายที่เพิ่มขึ้น F/G อาจแย่ลงได้ถึง 0.8%

        อาหารอัดเม็ด: ช่วยเพิ่ม F/G ประมาณ 4-6% เมื่อให้อาหารเม็ดที่มีกากผงน้อยกว่า 20%

        ขนาดอาหาร: ขนาดของธัญพืชที่เล็กลงทุก 100 ไมครอน จะช่วยเพิ่ม F/G ได้ถึง 1.2%

        เพศ:  ในขณะที่ในฝูงสุกรสาว มี F/G ที่ดีกว่า 1.7% เมื่อเทียบกับฝูงสุกรที่เลี้ยงคละเพศ และฝูงสุกรเพศผู้ตอนจะมี F/G ที่แย่กว่า 1.7% เมื่อเทียบกับฝูงสุกรที่คละเพศ

ตามที่อธิบายข้างต้น ปัจจัยมากมายอาจส่งผลต่อค่าประสิทธิภาพการใช้อาหาร โชคดีที่เรามีสมการที่คำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้และช่วยในการคํานวณประสิทธิภาพการใช้อาหารอยู่

 

เศรษฐศาสตร์ของประสิทธิภาพในการใช้อาหารสัตว์

เราจะรู้ประสิทธิภาพของอาหารสัตว์จากมุมมองทางการเงินได้อย่างไร วิธีที่ใช้กันมากที่สุดในการบ่งบอกประสิทธิภาพอาหารสัตว์ในแง่การเงินคือ การเทียบต้นทุนอาหารสัตว์ต่อราคาขายของหมู แต่การคำนวณแบบนี้จะคํานึงถึงแค่ต้นทุนของอาหารสัตว์ต่อหมูหนึ่งตัวเพียงอย่างเดียว

ตัวชี้วัดอื่น ๆ เช่น ต้นทุนอาหารสัตว์ต่อหน่วยน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นผลลัพธ์จากการคูณประสิทธิภาพการใช้อาหารสัตว์ด้วยต้นทุนอาหารสัตว์ต่อกิโลกรัม ควรใช้วิธีคิดแบบนี้เพื่อเปรียบเทียบระหว่างโปรแกรมโภชนาการ โดยคาดหวังให้มีผลเรื่องการเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพการใช้อาหารเพียงอย่างเดียว

วิธีการอื่น ๆ เช่น สัดส่วนรายได้ต่อต้นทุนอาหารสัตว์ (IOFC) จะเป็นคํานวณกําไรโดยการลบต้นทุนอาหารสัตว์ออกจากรายได้ต่อหมูหนึ่งตัว ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นการคิดจากราคานํ้าหนักซากอุ่น ต้นทุนในส่วนสนับสนุนการผลิต (facility cost) สามารถนำมารวมเข้ากับต้นทุนอาหารสัตว์เพื่อประเมินรายได้ต่อต้นทุนอาหารสัตว์รวมต้นทุนสนับสนุนการผลิต (IOFFC) การคำนวณแบบ IOFC และ IOFFC เป็นวิธีการที่ถูกต้องในการบ่งชี้มูลค่าทางเศรษฐกิจของโปรแกรมโภชนาการ และเป็นวิธีที่ดีในการประเมินผลกระทบทางการเงินของการจัดการประสิทธิภาพอาหารสัตว์ในท้ายที่สุด

Loading...