Skip to main content

เหล่าผู้ร่วมเสวนา นำโดย ดร.มาร์ค ไลออนส์ อภิปรายเกี่ยวกับกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาสใน งาน World Pork Expo

ความยั่งยืน สุขภาพสัตว์ และเทคโนโลยีคือประเด็นหัวข้อหลักในงาน World Pork Expo ที่เมืองดิมอยน์ รัฐไอโอวา ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าจากเนื้อสุกรขนาดใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งจัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วโดยสภาผู้ผลิตเนื้อสุกรแห่งชาติ (National Pork Producers Council หรือ NPPC) งาน World Pork Expo ถือเป็นงานศูนย์กลางของ นวัตกรรมใหม่ในด้านการผลิตเนื้อสุกร การพบปะเพื่อเชื่อมโยงกับผู้คนในอุตสาหกรรม และการเก็บเกี่ยวความรู้อย่างเข้มข้น

หมุดหมายของงานที่ยาว 3 วันนี้คืองานสัมมนาที่ให้ความรู้ครอบคลุมทุกแง่มุมของอุตสาหกรรมเนื้อสุกรโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งโดยทั่วไปจะดึงดูดผู้ผลิตเนื้อสุกรและผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรมมาร่วมงานได้มากถึง 10,000 รายในแต่ละปี การสัมมนาต่างๆ ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยให้ “ผู้เข้าสัมมนายกระดับการดำเนินธุรกิจและการผลิตของเพวกเขาขึ้นไปสู่อีกระดับ” สก็อต เฮย์ส (Scott Hays) ประธานกรรมการ NPPC กล่าว

การอภิปรายระหว่างคณะผู้อภิปรายที่นำโดย ดร. มาร์ค ไลออนส์ (Mark Lyons) ประธานและซีอีโอของออลเทค ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อพลิกอุปสรรคเป็นโอกาส

ในการอภิปรายหัวข้อ “Turning Agriculture’s Toughest Challenges Into Our Biggest Opportunities (พลิกความท้าทายด้านเกษตรกรรมที่หนักหนาให้เป็นโอกาสสุดยิ่งใหญ่)” ดร.ไลออนส์ และแขกรับเชิญได้เน้นย้ำบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลในกิจการปศุสัตว์ อันได้แก่ เซ็นเซอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และโปรแกรมบนคลาวด์ และกล่าวถึงวิธีในสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจท่ามกลางภาวะขาดแคลนแรงงานและปัญหาด้านการสร้างผลกำไรและสุขภาพของสุกร

แง่มุมของเทคโนโลยีดิจิทัลในภาคเกษตรกรรมในปัจจุบัน

มีการนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence หรือ AI) และเซ็นเซอร์ในฟาร์มมาใช้เพื่อเฝ้าสังเกตสุขภาพและผลิตภาพของสัตว์มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญของปศุสัตว์ได้แบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังใช้เป็นแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการเชิงรุกและทำให้ตรวจพบปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะนำไปสู่ประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นในฟาร์ม อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาปรับใช้อย่างเต็มรูปแบบและสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ผลิตนั้นยังคงมีช่องโหว่อยู่ จากคำกล่าวของ บี.เจ. เบิร์กมัน ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอบริษัทปศุสัตว์แบบแม่นยำสูงชื่อ Distynct

ในตอนที่เขาก่อตั้งบริษัทขึ้นมา ความต้องการของเขาคือการระบุและนับจำนวนสัตว์ในฟาร์ม เพื่อให้ผู้ผลิตเห็นทรัพยากรของพวกเขาแบบเรียลไทม์

“เราพบปัญหาการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานโดยสิ้นเชิงเมื่อเราออกสู่ตลาด” เบิร์กมันกล่าว “ซึ่งนั่นบีบบังคับให้ธุรกิจของเราต้องมีการเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าเราถูกสภาพความเป็นจริงของธุรกิจเนื้อสุกรตีเข้ากลางแสกหน้าเลย คุณอาจจะเสนองานชนะคู่แข่งได้ก็จริง แต่ที่ฟาร์มกลับเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ได้เสียอย่างนั้น”

เทคโนโลยีใหม่ๆ จะต้องไม่เพียงแต่สร้างความตื่นเต้นให้กับทุกคนในห้องเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องมีการปรับให้สามารถใช้งานได้จริงด้วย เขากล่าวว่าเราต้องเริ่มกันที่การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยลดแรงเสียดทานในการรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้

ในกรณีที่มีโครงสร้างพื้นฐานและมีการเชื่อมต่ออยู่แล้ว เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยสร้างความแตกต่างในการเฝ้าระวังสุขภาพสัตว์และกำจัดโรคต่างๆ ได้อย่างมากทีเดียว อย่างไรก็ดี วิธีนี้จะได้ผลก็ต่อเมื่อเกษตรกรส่วนใหญ่ตกลงแบ่งปันข้อมูลในฟาร์มของตน เดล สตีฟเวอร์เมอร์ (Dale Stevermer) เจ้าของร่วมของฟาร์ม Trails End Farm รัฐมินนิโซตา และสมาชิกคณะกรรมการเนื้อสุกรแห่งชาติ กล่าว

ที่จริงแล้ว คณะกรรมการเนื้อสุกรแห่งชาติไม่ได้ตั้งใจเข้ามาดูแลตรงนี้เพื่อทำตัวเป็นบริษัทซอฟต์แวร์นะครับ แต่สุดท้ายเราก็ได้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ทรงพลังมากๆ ขึ้นมาตัวหนึ่งให้ผู้ผลิตทุกรายได้ใช้บันทึกความเคลื่อนไหวของสัตว์ต่างๆ เวลามีการโยกย้ายระหว่างที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งและเวลาส่งสัตว์ไปสู่ตลาดครับ” สตีฟเวอร์เมอร์กล่าว “และเหตุผลที่สำคัญที่สุดในเรื่องนี้คือ ในกรณีที่มีการระบาดของโรคสัตว์จากต่างถิ่น ข้อมูลดังกล่าวจะสามารถส่งตรงไปยังองค์กรด้านสุขภาพสัตว์ที่เหมาะสมในรัฐของคุณได้ทันที”

ผู้ผลิตปศุสัตว์มีเรื่องที่ต้องรับมือมากมายเมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น ซึ่งซอฟต์แวร์การเฝ้าระวังและรายงานจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ขั้นตอนที่จำเป็นต่อไปได้

ถ้าสัตวแพทย์ของรัฐมีข้อมูลพร้อมใช้งาน รวมทั้งฟาร์มทุกแห่งในจุดนั้นและการเคลื่อนไหวทั้งหมดในพื้นที่ ก็จะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้นมากครับ” สตีฟเวอร์เมอร์ กล่าว

วิสัยทัศน์เพื่ออนาคตว่าด้วยเทคโนโลยีในฟาร์ม

ภายในเวลา 5 ปีข้างหน้า “ผมเห็นภาพ (ว่า) เราจะสามารถนำข้อมูลจากฟาร์มมาผ่านการประมวลผลทั้งหมดและแยกรายงานตามภูมิภาคได้” เจมี่ เบอร์ (Jamie Burr) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืนของคณะกรรมการเนื้อสุกรแห่งชาติกล่าว

ถึงตอนนั้น ผู้บริโภคจะได้ทราบว่าเนื้อหมูที่ตัวเองมีนั้นมาจากภูมิภาคใดในประเทศ รวมถึงรอยเท้าทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (social and environmental footprint) ของเนื้อหมูดังกล่าวด้วย

แบรด พรีสต์ (Brad Priest) ผู้จัดการสุกรในระยะหย่านมถึงระยะขุนของ TriOak Foods ซึ่งเป็นผู้ผลิตเนื้อสุกร อาหารสัตว์ และบริษัทการตลาดธัญพืชประจำรัฐไอโอวาและอิลลินอยส์ กล่าวว่า เขาคิดว่าการใช้ GPS ติดตามความเคลื่อนไหวจะส่งผลต่อสมรรถภาพของปศุสัตว์ได้อย่างมหาศาล

เบิร์กมันเห็นภาพอนาคตที่ทุกอย่างในฟาร์มเชื่อมโยงถึงกันแบบดิจิทัล

“ผมคิดว่าแค่ได้นึกถึงการวางรากฐานก็น่าตื่นเต้นมากแล้ว คือวางโครงสร้างพื้นฐานกันตั้งแต่ตอนนี้เพื่อจะได้ขยายขอบเขตและนำเทคโนโลยีความแม่นยำสูงมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว” เขากล่าว

โปรแกรม Azure Data Manager for Agriculture ของไมโครซอฟต์ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเร็วๆ นี้ จะทำการเก็บและรวบรวมข้อมูลในฟาร์มจากหลากหลายแหล่ง ทำให้ผู้ผลิตสามารถวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาโซลูชั่นการเกษตรแม่นยำสูงได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ริยาซ พิโชรี (Riyaz Pishori) ผู้ร่วมอภิปราย ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้จัดการโปรแกรมของไมโครซอฟต์กล่าว

เขาระบุว่าประมาณ 5 ปีจากนี้จะสามารถนำข้อมูลนี้ไปสื่อสารกับเกษตรกรผ่านทาง AI ในลักษณะของการพูดคุยกัน คล้ายๆ กับ ChatGPT ได้

“ถ้าความรู้ของเกษตรกรเพิ่มพูนได้ด้วยข้อมูลอื่นๆ (จาก AI) แล้วทำให้เกษตรกรตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น เราน่าจะมุ่งไปในแนวทางนี้นี่แหละครับ” พิโชรีกล่าว

ความมั่นใจในความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ซึ่งเป็นการรับประกันว่าข้อมูลของฟาร์มแต่ละแห่งจะไม่ถูกอ่านหรือส่งต่อไปยังบุคคลอื่น จะเป็นตัวกระตุ้นและจุดประกายให้เกษตรกรยอมรับเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เบอร์กล่าว

เบิร์กมันระบุว่า ข้อมูลฟาร์มถือเป็นข้อมูลส่วนตัว และลูกค้าต้องการให้มีการสร้างความมั่นใจว่าตนยังเป็นเจ้าของข้อมูลนั้นๆ อยู่ ดังนั้น บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ จึงมีบทบาทเป็นผู้การแนะนำวิธีใช้ข้อมูลดังกล่าวให้แก่ลูกค้าเพื่อให้ทำการตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้นเท่านั้นเอง

 

การสร้างสมดุลระหว่างเทคโนโลยีกับความสามารถในการทำกำไรของผู้ใช้

พิโชรีกล่าวว่า ความสามารถในการตัดสินใจในฟาร์มได้อย่างแม่นยำจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตลงได้ ซึ่งการประหยัดต้นทุนถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหนึ่ง

สตีฟเวอร์เมอร์กล่าวว่า ยิ่งผู้ผลิตรายเล็ก การลงทุนกับเทคโนโลยีก็ยิ่งยากขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นหากต้องการยกระดับประสิทธิภาพ ความสามารถในการทำกำไร และความยั่งยืน

“ผมต้องทำอย่างนี้เพราะข้าวโพดทุกเอเคอร์ที่ปลูกได้ ถั่วเหลืองทุกเอเคอร์ที่ปลูกได้ ต้องสร้างกำไรให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” เขากล่าว “ผมต้องเฝ้าสังเกตอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น จะได้เอามาแสดงได้ว่าผลรวมบรรทัดสุดท้ายนี่ รายได้ทั้งหมดนี่ มีตัวเลขสูงมากพอ ตรงนี้กลายเป็นหนึ่งในงบดุลที่จัดการได้ยากทีเดียวและต้องลดต้นทุนสักหน่อย แต่ก็ได้ผลดีครับ”

พิโชรีทราบดีว่าสำหรับฟาร์มขนาดเล็ก เทคโนโลยีบางอย่างอาจมีราคาสูงและยังไม่สามารถเอื้อมถึงได้ในตอนนี้ อย่างไรก็ตาม นักวิจัยกำลังพยายามหาทางปฏิรูปเทคโนโลยี เช่น ตรวจสอบคุณภาพดินหรือวัดค่าคาร์บอนในดินด้วยแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน

 

การยกระดับเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อความยั่งยืน

เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยให้เกษตรกรวัดระดับความยั่งยืนของตนเองได้ทั้งอย่างประหยัดและดีต่อสิ่งแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีช่วยลดความต้องการใช้ที่ดินและการใช้น้ำลงได้อย่างมาก สตีฟเวอร์เมอร์กล่าว

ด้วยการใช้ประโยชน์ข้อมูลที่เก็บมาจาก We Care ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มของคณะกรรมการเนื้อสุกรแห่งชาติเพื่อส่งเสริมการผลิตเนื้อสุกรอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืน ทำให้มีรายงานจากผู้ผลิตว่า การชะล้างพังทลายของดินลดลงถึง 80% เขากล่าว ซึ่งในช่วง 60 ปีที่ผ่านมานี้ อุตสาหกรรมเนื้อสุกรในสหรัฐฯ มีความก้าวหน้าในด้านความยั่งยืนอย่างมีนัยสำคัญ โดยการใช้เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในเรื่องดังกล่าว

เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถคาดการณ์ความพยายามสร้างความยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพ และทำให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

พิโชรีและทีมงานกำลังสร้างแอปพลิเคชันจำลองด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อวัดค่าการกักเก็บคาร์บอนในฟาร์มจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ซึ่งจะแสดงผลให้เกษตรกรทราบ

“มุมมองของเราคือเราจะหาความรู้ใหม่ๆ มาใช้ให้เร็วที่สุดได้อย่างไร ซึ่งตรงนี้ก็จะย้อนกลับไปที่เรื่องการทำให้ข้อมูลอยู่ในรูปดิจิทัลนั่นเอง” เบิร์กมันกล่าว

การปรับปรุงเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นจะเป็นกุญแจสำคัญให้เหล่าเกษตรกรได้ประโยชน์จากตรงนี้ พรีสต์กล่าว ต่อจากนั้น เราต้องเข้าไปช่วยในเรื่องการขยับขยาย

“ในอุตสาหกรรมเนื้อสุกรยังมีเรื่องน่าตื่นเต้นอีกมากครับ” สตีฟเวอร์เมอร์กล่าว “และเราเอาพลังตรงนั้นมาใช้ประโยชน์ได้เลยตอนนี้ ถือว่ามีศักยภาพให้ทำอะไรได้อีกมากครับ”

Loading...