Skip to main content

3 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการผลิตสัตว์ปีกแบบปลอดยาปฏิชีวนะ

การเสาะหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะกับสัตว์ในฟาร์มอาจไม่ใช่เรื่องง่ายในยุคนี้ที่มุมมองความคิดเห็น และแม้กระทั่งข้อมูลบิดเบือนต่างๆ มีให้พบเกลื่อนในโลกออนไลน์ ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เชิญบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ปีกมาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับการผลิตสัตว์ปีกแบบปลอดยาปฏิชีวนะ สารเสริมโภชนาการในสัตว์ปีก และสุขภาพของสัตว์ปีก เพื่อช่วยให้เราได้กระจ่างในข้อเท็จจริง และนี่คือคำตอบของพวกเขาต่อ 3 คำถามที่พบบ่อยในประเด็นนี้

1. เป็นไปได้ไหมที่เราจะเลี้ยงสัตว์ให้ปลอดยาปฏิชีวนะได้อย่างสิ้นเชิง?

เป็นไปได้ ในอุตสาหกรรมสัตว์ปีก คุณสามารถเลี้ยงสัตว์ให้ปลอดจากยาปฏิชีวนะได้อย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม เมื่อสัตว์ล้มป่วยและจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ เราต้องดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้สัตว์ มนุษย์ และระบบอาหารของเราปลอดภัย

ดร. ริชาร์ด เมอร์ฟีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Alltech European Bioscience Center ในเมืองดันบอยน์ ประเทศไอร์แลนด์ กล่าวว่า แม้อุตสาหกรรมการเกษตรจะไม่สามารถและไม่ควรเลิกใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากตัวยาส่งผลต่อสวัสดิภาพของสัตว์อย่างมีนัยสำคัญ แต่ผู้ผลิตจำเป็นต้องดำเนินกระบวนการนี้อย่างรอบคอบ พร้อมกล่าวเสริมว่าอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ปีกควรให้ความสำคัญกับการกำจัดการใช้ยาต้านจุลชีพที่เป็นสารเร่งการเจริญเติบโต (Antibiotic Growth Promoter: AGP) ให้ได้โดยสิ้นเชิง และหลายๆ ประเทศได้มีการบังคับใช้นโยบายเกี่ยวกับ AGP เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากความกังวลเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ

ดร. เคย์ลา ไพรซ์ ผู้จัดการด้านเทคนิคสัตว์ปีกของ Alltech Canada เห็นด้วยว่าการใช้และการลดยาปฏิชีวนะในการผลิตสัตว์ปีกอย่างรอบคอบจะยังคงเป็นแนวทางหลักที่อุตสาหกรรมยึดถือปฏิบัติต่อไป

ฉันคิดว่ามันสำคัญมากที่เราจะต้องใช้แนวทางแบบองค์รวมในการดูแลสุขภาพของสัตว์ปีก เราต้องคำนึงถึงเรื่องระบบลำไส้นับตั้งแต่สัตว์ฟักออกมาจนกระทั่งสิ้นสุดกระบวนการ” เธออธิบาย

ดร. ไพรซ์ เน้นย้ำว่าไม่มีวิธีแก้ปัญหาโดยทางลัดใดๆ ที่สามารถทดแทนการเลิกใช้ยาปฏิชีวนะได้ ทั้งโภชนาการและความปลอดภัยทางชีวภาพล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จ

ดร. ดัลเมลิส แซนดู สัตวแพทย์สัตว์ปีกของ Alltech US กล่าวว่า ในฐานะของผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อนำไปบริโภค เธอจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีตัวเลือกต่างๆ เพียงพอ เพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับสัตว์ในแต่ละขั้นตอนของการผลิต ซึ่งตัวเลือกที่ว่านั้นอาจหมายถึงการพึ่งพาหรือการแทรกแซงด้วยยาปฏิชีวนะ

ในฐานะผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม เรามีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการให้เหมาะสมและปฏิบัติตามแนวทางการเลี้ยงสัตว์ที่ดีที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงหรืออย่างน้อยก็ลดปริมาณยาปฏิชีวนะที่ใช้ในสัตว์” ดร. แซนดูกล่าว “สาเหตุหลักคือเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเกี่ยวกับสวัสดิภาพของสัตว์ ผลกระทบทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการใช้ยาปฏิชีวนะ และการพัฒนาสุขภาพของสัตว์โดยรวม”

มีหลายวิธีที่จะช่วยลดและเลิกการใช้ยาปฏิชีวนะในการผลิตสัตว์ปีก หนึ่งในวิธีการป้องกัน เช่น การใช้โปรแกรมสารเสริมอาหารสัตว์ ที่จะะช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ และช่วยให้ฝูงสัตว์มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงอย่างยั่งยืน

2. การที่สัตว์บริโภคยาปฏิชีวนะจะส่งผลต่อการดื้อยาของมนุษย์หรือไม่?

จากข้อมูลของ National Academy of Medicine ระบุว่า “การใช้ยาปฏิชีวนะในปศุสัตว์ทําให้แบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะแพร่ไปยังมนุษย์ได้โดยตรง” นอกจากนี้ ภาวะดื้อยาปฏิชีวนะสามารถถ่ายโอนได้ระหว่างแบคทีเรีย และแบคทีเรียเหล่านี้สามารถถ่ายโอนได้ระหว่างคน สัตว์ และสภาพแวดล้อมต่างๆ แม้ว่าการระงับการใช้ยาปฏิชีวนะในการผลิตสัตว์จะไม่สามารถหยุดภาวะดื้อยาอันเนื่องมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะในทางที่ผิดของมนุษย์ได้ แต่เรายังคงมีหน้าที่รับผิดชอบที่จะต้องพยายามลดความเสี่ยงดังกล่าวให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าการบริโภคของสัตว์จะมีส่วนเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหนก็ตาม เราก็จำเป็นต้องมุ่งใช้กลยุทธ์เพื่อลดความเสี่ยงโดยรวมของการดื้อยา

การดื้อยาปฏิชีวนะอาจกลายเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคของเรา เนื่องจากจำนวนสายพันธุ์แบคทีเรียที่สามารถต้านทานการรักษาได้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อเสียของการใช้ยาปฏิชีวนะคือผลกระทบแบบไม่เฉพาะเจาะจงที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อไมโครไบโอมในลำไส้ และการใช้ยาปฏิชีวนะสามารถนำไปสู่การลดความหลากหลายของจุลินทรีย์ในลำไส้โดยรวม ทำให้เกิดการขยายจำนวนอย่างต่อเนื่องของสายพันธุ์ที่ดื้อยา ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพและสมรรถภาพของสัตว์ กลยุทธ์หนึ่งที่นำมาใช้ได้คือการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น Mannan-rich Fraction (MRF) เพื่อฟื้นฟูความหลากหลายของจุลินทรีย์ แนวทางนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการผลิตเชิงพาณิชย์ อีกทั้งยังส่งผลดีต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภคอีกด้วย

3. สัตว์ที่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ยังสามารถส่งออกสู่ตลาดได้หรือไม่?

ได้, แม้แต่ในฟาร์มปศุสัตว์ที่เน้นการเลี้ยงสัตว์โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ หากสัตว์เกิดเจ็บป่วยและจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ สัตว์นั้นจะถูกแยกออกจากฝูง และยังสามารถเข้าสู่กระบวนการเพื่อขายเข้าสู่ตลาดแบบเดิมได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตจำเป็นต้องเว้นระยะเวลาให้สัตว์ได้ถอนยา เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มียาปฏิชีวนะตกค้างอยู่ภายในเนื้อหรือไข่ของสัตว์ ในการผลิตสัตว์เพื่อบริโภคเนื้อ สัตว์ที่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะจะไม่ถูกนำกลับมารวมอยู่ในฝูงเดิมหรือถูกระบุว่าเลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ

โดยสรุปแล้ว ยาปฏิชีวนะสามารถช่วยในภาพรวมเรื่องการผลิต ประสิทธิภาพ และผลผลิตจากสัตว์ ในประเทศที่ห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเป็นตัวเร่งการเจริญเติบโตในระบบการผลิต ผู้ผลิตต้องหาทางเลือกอื่นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นของประชากร นอกจากนี้ การเพิ่มความปลอดภัยทางชีวภาพและโภชนาการคืออีก 2 ประเด็นที่ต้องให้ความสนใจ โภชนาการเป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลสุขภาพและสร้างผลผลิตจากสัตว์ ดังนั้น เพื่อปกป้องสัตว์และแหล่งอาหารของเรา ผู้ผลิตทุกรายจะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อการให้สารอาหารเพื่อเสริมสร้างสุขภาพลำไส้และภูมิคุ้มกันของสัตว์

Loading...