Skip to main content

ดร. คริสตี้ สก็อตต์ – เจาะตลาดไข่ในยุคไวรัสโคโรนา

ดร. คริสตี้ สก็อตต์ (Kristi Scott) กล่าวว่าความต้องการไข่ไก่แบบฟองเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากคนทั่วไปอยู่ที่บ้านและทำอาหารกันมากกว่าปกติ

เมื่อธุรกิจและโรงเรียนเริ่มปิดเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลาดไข่เหลว (liquid egg) ก็ตกต่ำลง ในขณะที่ความต้องการไข่ไก่แบบฟองในร้านขายของชำถีบตัวสูงขึ้น ดร. คริสตี้ สก็อตต์ สัตวแพทย์จากองค์กร ISE ในรัฐแมรีแลนด์ ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นต่อความเปลี่ยนแปลงด้านยอดขายผลิตภัณฑ์ไข่นานาชนิด และผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในทวีปอเมริกาเหนือ

การสัมภาษณ์ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายการ AgFuture ตอนพิเศษว่าด้วยผลกระทบจากโรคโควิด-19 ที่มีต่อห่วงโซ่อุปทานอาหาร เชิญทุกท่านมาร่วมรับฟังผู้ที่เป็นด่านหน้าในการรับมือกับโรคระบาดระดับโลก ว่ามีวิธีเอาชนะความยากลำบากในครั้งนี้และจัดหาอาหารมาเลี้ยงดูคนทั้งโลกได้อย่างไร

ด้านล่างนี้เป็นบทสัมภาษณ์ระหว่างมิเชล ไมเคิล (Michelle Michael) พิธีกร กับ ดร. คริสตี้ สก็อตต์ ซึ่งได้ผ่านการตรวจแก้แล้ว คลิกด้้านล่างนี้เพื่อรับฟังเสียงการสัมภาษณ์ฉบับเต็ม

https://soundcloud.com/alltech-1/143-cracking-the-egg-market-amid-coronavirus-dr-kristi-scott

 

มิเชล: สวัสดีค่ะ! ดิฉัน มิเชล ไมเคิล นะคะ ในรายการ AgFuture ตอนพิเศษในครั้งนี้ เราจะมาพูดคุยถึงผลกระทบจากโรคโควิด-19 กับผู้ที่ทำงานในห่วงโซ่อุปทานอาหารค่ะ แขกรับเชิญของดิฉันในวันนี้คือ ดร. คริสตี้ สก็อตต์ สัตวแพทย์จากองค์กร ISE ในรัฐแมรีแลนด์ องค์กร ISE เป็นศูนย์ผลิตไข่แบบผสมผสาน คริสตี้ ขอบคุณมากค่ะที่มาร่วมพูดคุยกับเรา

 

คริสตี้:            ขอบคุณที่เชิญมานะคะ

 

มิเชล:              ช่วยพูดถึงบทบาทของคุณในอุตสาหกรรมนี้สักหน่อยได้ไหมคะ

 

คริสตี้:  ได้ค่ะ ดิฉันเป็นสัตวแพทย์ในสังกัดขององค์กร ISE อเมริกา รับหน้าที่ดูแลด้านสุขภาพและสวัสดิภาพให้แก่สัตว์ปีกประมาณ 6 ล้านตัวในรัฐเซาท์แคโรไลนา จอร์เจีย แมรีแลนด์ เดลาแวร์ และนิวเจอร์ซีย์ นอกจากนั้นยังดูแลด้านความปลอดภัยของอาหารให้แก่โรงงานไข่ไก่แบบฟอง 6 แห่งและโรงงานไข่เหลวอีก 1 แห่งด้วยค่ะ

 

มิเชล:              ช่วยอธิบายเพิ่มเติมอีกหน่อยได้ไหมคะว่าหมายความว่าอย่างไรบ้าง อธิบายบทบาทของคุณในเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารหน่อยค่ะ

 

คริสตี้:            โดยพื้นฐานแล้ว ดิฉันจะคอยตรวจสอบว่าโรงงานของเราปฏิบัติตามระเบียบการที่กำหนดไว้เป็นโปรแกรมอาหารคุณภาพปลอดภัยเพื่อลูกค้าของเรา จะได้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ของเราที่ปล่อยออกไปนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดี ปลอดภัยสำหรับลูกค้าจริง เราผ่านการตรวจสอบจากหลากหลายฝ่าย ซึ่งไม่ใช่แค่จากลูกค้าของเราเท่านั้น แต่รวมถึงบุคคลภายนอกที่เข้ามาตรวจสอบว่าเราดำเนินการได้อย่างถูกต้องเหมาะสมอย่างที่ควรเป็น ตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารระดับโลกที่กำหนดไว้สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารประเภทใดๆ ที่ผลิตขึ้นมา และฉันก็ดำเนินการตามนี้กับโรงงานแห่งอื่นๆ ของเราทุกแห่งเลยค่ะ

 

มิเชล:              ท่ามกลางภาวะโรคระบาดอย่างนี้ ดิฉันได้แต่จินตนาการว่าบทบาทของคุณเปลี่ยนไปเพราะโควิด-19 แล้วงานในแต่ละวันของคุณเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างคะ บริเวณที่คุณอยู่นี่ สถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้างคะ

 

คริสตี้:            ฉันประจำอยู่นอกรัฐเซาท์แคโรไลนาค่ะ ตอนแรกๆ พวกเราจะกำหนดจุดแวะในทุกครั้้งที่เราเดินสายตรวจกัน ปกติแล้วฉันจะเดินทางไปทุกที่เลยค่ะ แต่ตอนนี้เดินทางไปดู ไปช่วย ไปทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำในสถานที่จริงไม่ได้มาสักพักหนึ่งแล้ว ฉันจึงทำงานผ่านทางอีเมล ข้อความ โทรศัพท์ และพยายามช่วยในจุดที่ช่วยได้น่ะคะ ความแตกต่างที่ใหญ่ที่สุดก็คือคนหันมาใช้บริการสัตวแพทย์เพราะมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องนี้ในเชิงวิทยาศาสตร์มากกว่า และถามคำถามมากมายที่ผู้ให้บริการดูแลสุขภาพก็พยายามหาคำตอบกันอยู่ค่ะ

 

มิเชล:              คำถามที่เขาถามกันในช่วงนี้อย่างเช่นอะไรบ้างคะ

 

คริสตี้:            เช่น เชื้อไวรัสโคโรนานี้ต่างจากไวรัสโคโรนาแบบที่พบในเล้าไก่ซึ่งเราได้ให้วัคซีนแล้วอย่างไร เชื้อไวรัสโคโรนานี้จะแพร่จากคนสู่คนไหม เราจะดูแลให้คนของเราปลอดภัยอย่างไรดี ถ้าโรงงานเรามีผู้ติดเชื้อแล้วจะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ไหมอย่างไร และเราจะฆ่าเชื้อในโรงงานได้อย่างไรเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้แบบไม่สะดุด เพราะพวกไก่ก็ไม่ได้มารู้ว่าตอนนี้เรามีผู้ติดเชื้อ ทำให้ขาดแรงงานมาช่วยแพ็กไข่ พวกไก่ก็ยังออกไข่ต่อไปเรื่อยๆ ค่ะ

 

มิเชล:              ถ้าเราพูดถึงโรงงานเหล่านี้ ในขณะที่อุตสาหกรรมไก่ไข่ในสหรัฐฯ ต้องเปลี่ยนจากการขายไข่ตอกเพื่อทำเป็นไข่เหลวมาเป็นไข่ไก่สดแบบฟองเพราะต้องปรับตัวในสภาวะที่ร้านอาหารปิดให้บริการและร้านขายของชำกิจการกำลังเฟื่องฟู ก่อนที่จะให้ ดร. คริสตี้ช่วยอธิบาย ดิฉันขอให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสัตว์ปีกแก่ผู้ฟังของเราสักเล็กน้อยนะคะ เมื่อคุณไปที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ไข่ส่วนใหญ่จะเป็นไข่ขนาดใหญ่ แต่ก็มีไข่ขนาดกลางด้วย พวกนี้เรียกว่าเป็นไข่ไก่สดแบบฟอง แล้วคุณก็จะเห็นไข่ที่อยู่ในถาด ไข่ขาว ไข่รวม และอื่นๆ อันนี้มาจากตลาดไข่เหลว แบบนี้ถือว่าเข้าใจถูกต้องทั้งสองประเภทไหมคะ

 

คริสตี้:            โดยพื้นฐานแล้วไข่ที่เอาไว้ทำไข่เหลวก็มาจากไข่ไก่สดแบบฟองนี่ล่ะค่ะ เราจะส่งไข่แบบฟองไปที่โรงงานเฉพาะ ตอกให้แตก แยกเนื้อไข่ออกจากเปลือก แล้วทางโรงงานก็จะมารับไข่เหลวพวกนี้ไปทำมัฟฟินหรือใส่ลงในส่วนผสมวาฟเฟิลน่ะค่ะ ความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุดคือที่ที่นำไข่เหลวไปใช้งานต่างหยุดพักกิจการเพราะคนไม่มาใช้บริการร้านอาหารกัน และคนทั่วไปก็ไม่ได้ซื้อไข่สำเร็จรูปกันมากมายนัก พอทำอาหารทานเองที่บ้านก็จะใช้ไข่ไก่แบบฟองกัน ไม่ได้จำเป็นต้องใช้ไข่เหลวที่ผ่านกระบวนการมาแล้วในผลิตภัณฑ์

 

อีกอย่าง พวกเด็กๆ ก็ไม่ได้ไปโรงเรียน ผู้ใหญ่ก็ไม่ได้ไปทำงานข้างนอก ดังนั้นจึงไม่ได้มีการใช้งานไข่เหลวที่ควรจะถูกใช้ในกิจกรรมเหล่านั้นค่ะ ทั้งตลาดเกิดภาวะชะงักงันโดยสมบูรณ์ และการที่จะหยุดทำไข่เหลวแล้วเปลี่ยนมาขายไข่แบบฟองก็เป็นเรื่องที่ยากมากด้วย เนื่องจากในโรงงานประเภทนี้บางแห่ง ไข่จะถูกส่งตรงจากเล้าไก่เข้าสู่กระบวนการตอกไข่โดยตรงทันที โดยไม่มีการแพ็กลงถาด ไม่มีการวางเรียงลงในแผง ไม่ผ่านขั้นตอนพวกนี้เลย ส่งตรงจากเล้าไก่เข้าโรงงานทำไข่เหลวทันที ตอนนี้ผลิตภัณฑ์ไข่เหลวไม่มีที่ไป นี่เป็นปัญหาหนึ่งค่ะ

 

อีกปัญหาหนึ่งก็คือ ในบางครั้ง โรงงานเหล่านี้ก็ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแพ็กไข่ลงแผงส่งไปตามร้านอาหารอย่างร้าน Denny's หรือ IHOP หรือร้านอาหารอื่นๆ ในลักษณะนี้ ซึ่งตอนนี้ร้านอาหารพวกนี้หยุดให้บริการอยู่ หรือถ้ายังเปิดให้บริการก็ให้บริการแบบจำกัดมากๆ และด้วยอัตราที่น้อยลงกว่าเดิมอย่างมาก โรงงานผู้ผลิตจึงไม่มีแพ็กเกจบรรจุ ไม่มีฐานลูกค้า รวมถึงไม่สามารถเอาไข่พวกนี้ออกมาจากแผงมาขายแบบ “นี่ ตอนนี้เราจะเอาไข่ไปขายให้ร้านขายของชำโดยตรงแล้วนะ” การเปลี่ยนทิศทางจากที่เคยส่งไข่ให้ร้านอาหารกลายเป็นร้านขายของชำแทน ถือเป็นฝันร้ายของฝ่ายโลจิสติกส์เลยนะคะ เพราะมันไม่ได้เปลี่ยนง่ายเหมือนปัดสวิตช์แล้วก็ (พูดว่า) “เอาตามนี้เลย”

 

มิเชล:              ไข่ตอกเพื่อทำไข่เหลวกับไข่ไก่แบบฟองผ่านกระบวนการเหมือนกันไหมคะ เมื่อกี้คุณพูดว่าคุณมีตลาดรองรับไข่อยู่ แต่ตอนนี้ร้านอาหารปิดกันหมด และไข่สำหรับตอกก็เอาไปขายในร้านค้าตรงๆ ไม่ได้ ช่วยอธิบายถึงสถานการณ์ของโรงงานแปรรูปและสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาหน่อยได้ไหมคะ

 

คริสตี้:            ไข่ตอกทำไข่เหลวกับไข่ไก่แบบฟองผ่านกระบวนการเหมือนกันจนถึงแค่จุดหนึ่งเท่านั้นค่ะ ทุกฟองผ่านการล้างทำความสะอาดเหมือนกัน ผ่านการคัดเกรดเหมือนกัน ถ้าเป็นไข่แบบฟองก็จะคัดเกรดตามปัจจัยภายนอก เช่น เปลือกต้องเรียบลื่นและสะอาดในระดับหนึ่ง ต้องไม่มีรอยแตกและได้ขนาดเหมาะสม นี่เป็นวิธีคัดเกรดสำหรับไข่ฟองที่จะแพ็กใส่ถาดจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคปลายทางค่ะ

 

ส่วนในโรงงานผลิตไข่เหลว หลังจากล้างไข่ให้สะอาดแล้ว ก็จะมีพนักงานที่ทำหน้าที่ตรวจหาไข่เปลือกแตก โดยจะดูว่าไข่รั่วออกมานอกเปลือกหรือไม่ และสังเกตว่าไข่มีปัญหาภายในใดๆ ที่ต้องคัดออกหรือไม่ เพราะเราต้องการแค่เนื้อไข่เท่านั้นน่ะค่ะ ขั้นตอนล้างจะคล้ายๆ กัน แต่จากตรงนี้ไปขั้นตอนจะต่างกันมากเลยค่ะ

 

มิเชล:              ช่วยอธิบายถึงผลกระทบต่อตัวสัตว์ปีกหน่อยได้ไหมคะ อย่างเช่น ทำให้อายุขัยสั้นลงไหม ถ้าคุณพยายามเปลี่ยนจากไข่ตอกเป็นไข่ฟอง แบบนี้จะทำให้จำนวนไข่ที่ได้เปลี่ยนไปไหมคะ

 

คริสตี้:            ไม่ค่ะ ความแตกต่างอย่างเดียวคงจะเป็นเรื่องประเภทของไก่ ในตลาดไข่เหลวบางแห่ง เขาจะใช้ไก่ที่ให้ไข่ขนาดใหญ่มาก เพราะต้องการให้ได้เนื้อไข่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไข่ถูกส่งตรงจากเล้าเข้าสู่ที่โรงงานตอกไข่ทันที เพราะไม่ต้องมีการจัดการใดๆ กับไข่ ไข่จึงไม่แตกอยู่แล้ว แค่ส่งไข่เข้าสู่โรงงานโดยตรง ล้างให้สะอาด ตอกและกวาดเนื้อไข่ออกมาให้หมด แต่ถ้าเป็นตลาดไข่ฟอง พวกไข่ที่จะส่งไปร้านขายของชำน่ะค่ะ คุณต้องมีเปอร์เซ็นต์ไข่ขนาดใหญ่ประมาณหนึ่ง ไข่ขนาดใหญ่พิเศษเป็นเปอร์เซ็นต์น้อย ถ้าขนาดจัมโบ้ต้องเปอร์เซ็นต์น้อยลงไปอีก และไข่ขนาดกลางเป็นเปอร์เซ็นต์น้อยที่สุด เพราะเรายังมีตลาดนั้นอยู่ค่ะ เราต้องการความหลากหลายในจุดนี้ ส่วนเปลือกก็ต้องสามารถทนต่อการแพ็กลงในถาด ขนย้ายไปที่ร้านขายของชำ และนำไปวางขายบนชั้นวางได้ เพราะคนซื้อก็จะเปิดถาดไข่ดูว่าเปลือกยังสภาพดีอยู่หรือไม่ จากนั้นค่อยซื้อกลับบ้านค่ะ

 

มิเชล:              พูดถึงไข่ที่วางขายในร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านขายของชำทั่วโลก ดิฉันสงสัยว่า... คือเข้าใจว่าเรื่องการซื้อด้วยความตื่นตระหนกก็ซาลงไปแล้ว แต่การที่ร้านขายของชำต้องการไข่มากขึ้นในตอนนี้เป็นเพราะระดับความต้องการสูงขึ้นเนื่องจากเกิดโรคระบาดในครั้งนี้หรือเปล่าคะ

 

คริสตี้:            ใช่ค่ะ ตอนนี้ความต้องการยังสูงกว่าปกติอยู่ ซึ่งขึ้นอยู่กับช่วงที่คุณไปซื้อของในร้านขายของชำด้วยนะคะ เป็นประเด็นที่น่าสนใจทีเดียว ปกติเวลาที่ร้านสั่งให้ไข่มาส่ง บริษัทบางแห่งจะขนส่งด้วยจำนวนเดิมเท่าๆ กับที่เคยส่ง เพราะนั่นเป็นจำนวนที่ได้รับคำสั่งซื้อมา จึงส่งเพียงเท่านั้นค่ะ แต่บริษัทบางแห่งจะกำหนดให้ทำการขนส่งเมื่อมีจำนวนถึงระดับหนึ่ง ซึ่งก็คือเมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามาในระบบอัตโนมัติ ทำให้มีการสั่งซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ตรงนี้เป็นเรื่องของร้านและระบบการสั่งซื้อที่แตกต่างกันออกไปค่ะ ซึ่งจะเป็นประเด็นด้านโลจิสติกส์มากกว่า

 

ดิฉันคิดว่าที่คนทั่วไปยังซื้อไข่กันมากก็เพราะว่าช่วงนี้ทำอาหารทานที่บ้านเองค่ะ เด็กๆ ยังไม่ได้กลับไปเรียนที่โรงเรียน และไข่ก็เอามาใช้ทำอาหารเช้าได้ง่ายๆ หรือทำอาหารที่ทำง่ายๆ ที่บ้านกัน จึงต้องการไข่ในการปรุงอาหาร ตอนนี้ทุกคนได้เห็นแล้วว่าไข่สามารถนำไปทำเป็นเมนูต่างๆ ได้มากมายเพียงใด โดยไม่ได้มานั่งคิดว่า “โอ๊ะ ถ้าทำเมนูนี้ก็ต้องใส่ไข่ด้วยนี่นา” จึงต้องซื้อไข่มากกว่าแต่ก่อนที่ออกไปทานอาหารข้างนอกบ่อยกว่าค่ะ

 

มิเชล:              ตอนนี้มีความต้องการไข่สูง เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในทวีปอเมริกาเหนืออย่างไรบ้างคะ

 

คริสตี้:            ประเด็นนี้น่าสนใจเหมือนกันนะคะ ตอนนี้ตลาดไข่เหลวเป็นศูนย์ คือหายไปเลยค่ะ สำหรับตลาดไข่ฟองเริ่มจะลดลงมาบ้างแล้ว เพราะผู้ผลิตไข่เหลวและผู้ผลิตที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการแพ็กไข่ส่งร้านอาหารมาเป็นส่งร้านขายของชำแทน ก็หันมาเพิ่มอุปทานไข่จนล้นตลาด ดังนั้นผลกระทบจึงเริ่มลดลงแล้วค่ะ ส่วนเรื่องราคาก็มีถีบตัวสูงขึ้นเล็กน้อย แต่ตอนนี้ราคาเริ่มลดลงมาเหมือนเดิมแล้วค่ะเพราะไข่เริ่มล้นตลาดอีกแล้ว

 

มิเชล:              การที่จะเปลี่ยนให้สัตว์ปีกออกไข่สำหรับจำหน่ายในตลาดเพื่อการบริโภคมีความยากง่ายอย่างไร ช่วยอธิบายหน่อยได้ไหมคะ

 

คริสตี้:            เรื่องนี้ไม่ใช่อะไรที่จะเปลี่ยนได้ง่ายๆ แค่เดินไปบอกพวกสัตว์ที่เราเลี้ยงว่า “ช่วยออกไข่ฟองใหญ่ขึ้นให้หน่อยสิ” แต่คุณต้องวางแผนล่วงหน้าอย่างจริงจัง สิ่งที่คุณต้องทำคือให้อาหารและจัดเตรียมสัตว์ปีกให้พร้อม ถ้าอยากได้ไข่ขนาดใหญ่พิเศษและจัมโบ้เพราะตลาดต้องการหรือเพราะเคยทำแบบนั้นตอนผลิตไข่เหลว คุณก็ต้องให้แสงสว่างเพื่อกระตุ้นให้วางไข่ หรือไม่ก็ให้อาหารที่เหมาะกับผลผลิตที่ต้องการ

 

หากต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ขายไข่ได้มากขึ้นในตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งลูกค้าในย่านนั้นมักจะแวะมาที่ร้านขายของชำเพื่อซื้อไข่ขนาดใหญ่เป็นอย่างน้อย คุณก็ต้องคิดล่วงหน้า และคิดดูว่าจะให้โปรตีนประเภทใดแก่สัตว์ที่คุณเลี้ยงอยู่ ให้แสงสว่างเมื่อใด ให้แสงมากน้อยเพียงใด และการที่เพิ่งมาเปลี่ยนแปลงกระบวนการออกไข่อย่างนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ ในพริบตาเดียว การลงมือทำจริงมันยากกว่านั้นมากค่ะ

 

มิเชล:              ฟังดูเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกันนะคะนี่ ความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ส่งผลต่อราคาบ้างไหมคะ

 

คริสตี้:            ส่งผลค่ะ แต่อย่างที่บอกคือสั้นมาก ราคาถีบตัวสูงขึ้นเล็กน้อยแค่ไม่นาน และขึ้นไม่มากด้วยค่ะ เราก็ยังดีอยู่มากนะคะ (ในแง่ที่ว่า) ทุกคนฟื้นตัวดีและหาซื้อไข่กันได้ในร้านอย่างที่ควรจะเป็น สุดท้ายแล้ว ระดับราคาก็จะอยู่ในระดับคงที่อย่างรวดเร็ว และมีไข่ให้จับจ่ายกันมากมายในตลาด ไข่ก็จะล้นตลาดอีกครั้ง แล้วราคาก็จะลดลงกลับมาอยู่ในระดับที่ราคาขายต่ำกว่าต้นทุนการผลิตที่เสียไปอีกค่ะ

 

มิเชล:              สำหรับมนุษย์แล้ว คุณค่าทางโภชนาการของไข่ฟองเทียบกับไข่ตอกแตกต่างกันไหมคะ

 

คริสตี้:            ไม่ต่างเลยค่ะ

 

มิเชล:              ดิฉันอยากทราบว่า ในมุมมองของคุณ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมสัตว์ปีกในระยะยาวอันเนื่องมาจากโรคระบาดในครั้งนี้ได้แก่อะไรบ้างคะ

 

คริสตี้:            เรื่องนี้จะทำให้ทุกคนเกิดความตระหนักมากขึ้นว่าอาหารที่ตัวเองทานมาจากไหน อย่างน้อยก็ในระยะสั้น แต่น่าเสียดายที่คนทั่วไปลืมง่ายมากเสียด้วย ในความเห็นของดิฉันน่ะค่ะ พวกเขาจะลืมว่าครูของเราควรได้ค่าแรงหลักล้านดอลลาร์ และเกษตรกรของเราคือหนึ่งในกลุ่มคนที่สำคัญที่สุด เพราะพวกเราทุกคนต้องกิน แม้แต่คนขับรถบรรทุกส่งอาหารส่งสินค้าให้ร้านขายของชำก็มีความสำคัญมากเช่นกัน

 

อีกไม่นานพวกเขาก็คงจะลืม แต่สำหรับอุตสาหกรรมสัตว์ปีกนั้้น ฉันคิดว่าเราจะตระหนักได้ว่าในท้ายที่สุดแล้ว เราคงทำอะไรไม่ได้เลยถ้าไม่มีกลุ่มคนสำคัญที่คอยทำงานอยู่

 

มิเชล:              เราซาบซึ้งในความพยายามของทุกคนค่ะ คุณคริสตี้คะ ท่ามกลางภาวะโรคระบาดเช่นนี้ คุณคิดว่ามีแนวโน้มผู้บริโภคใดที่น่าสนใจหรือเกี่ยวข้องบ้างไหมคะ

 

คริสตี้:            ดิฉันคิดว่าเรื่องที่น่าสนใจคือการที่คนหันมาทำอาหารเมนูง่ายๆ กัน เพราะการทำอาหารอาจทำให้พวกเขารู้สึกถึงชีวิตในภาวะปกติค่ะ

 

มิเชล:              พวกเราทุกคนน่าจะชอบอาหารทานง่ายกันนะคะ คุณคริสตี้คะ คุณอยู่ในแวดวงนี้มาเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว เคยเห็นเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมบ้างไหมคะ เพราะทุกคนพูดถึงโรคระบาดนี้ และเราก็ได้ยินคนพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า“ไม่เคยมีเรื่องแบบนี้มาก่อนเลย” ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมเช่นนี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นสิ่งที่คุณไม่เคยเห็นหรือสัมผัสมาก่อนเช่นกันหรือเปล่าคะ

 

คริสตี้:            ไม่เคยค่ะ แต่ก่อนดิฉันคิดว่าคงไม่มีเรื่องไหนหนักหนาไปกว่าเหตุการณ์ไข้หวัดนกที่กระทบต่ออุตสาหกรรมเมื่อปี 2558 อีกแล้ว แต่เรื่องนี้ร้ายแรงกว่าอย่างเทียบไม่ติดจริงๆ ค่ะ

 

มิเชล:              เมื่อกี้คุณพูดถึงไข้หวัดนกใช่ไหมคะ ช่วยอธิบายหน่อยได้ไหมคะว่ากรณีไข้หวัดนกในตอนนั้นต่างจากที่อุตสาหกรรมของเราประสบอยู่ในปัจจุับันนี้อย่างไรบ้าง

 

คริสตี้:            ดิฉันคิดว่า (แตกต่างกันที่) ตอนนั้น คนทั่วไปตระหนักกันมากขึ้นว่าไข้หวัดส่งผลต่อเราอย่างไรได้บ้าง จึงเต็มใจที่จะยอมรับว่าเราจำเป็นต้องควบคุมโรคให้ได้ กดไว้ให้ได้มากที่สุด เราต้องควบคุมให้อยู่หมัด ตอนนั้น อุตสาหกรรมทางฝั่งมิดเวสต์เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง และเป็นเหมือนเหตุการณ์ที่เปิดหูเปิดตาให้คนจำนวนมากรู้สึกว่าควรจัดการกับความปลอดภัยทางชีวภาพและคอยตรวจตราสิ่งต่างๆ อย่างไร ควรเฝ้าสังเกตและคาดหวังสิ่งใด แต่ดิฉันคิดว่าช่วงนั้น คนทั่วไปเต็มใจที่จะยอมรับและอยู่กับมันให้ได้มากกว่าเพราะพวกเขาเข้าใจในไข้หวัดและเข้าใจดีว่า “เราต้องควบคุมให้ได้”

 

แต่เมื่อเกิดเหตุเชื้อไวรัสโคโรนาระบาดในครั้งนี้ ดิฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องใหม่และมีลักษณะเฉพาะมากๆ จนยากที่ทุกคนจะเข้าใจ มันยากนะคะกว่าที่ทุกคนจะคิดได้ว่าควรทำอย่างไร จะใช้ชีวิตปกติอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ และเหตุใดเราจึงจำเป็นต้องทำแบบที่ทำอยู่ในปัจจุบัน แม้แต่ตอนนี้ก็ยังมีคนอีกเยอะค่ะที่คิดว่า “โอ๊ย เรื่องจริงซะที่ไหน โกหกทั้งเพ” แต่มันไม่ใช่อย่างนั้นน่ะสิคะ เราก็คงต้องทำความเข้าใจและควบคุมโรคต่อไปเรื่อยๆ ค่ะ

 

มิเชล:              เมื่อกี้มีพูดถึงความปลอดภัยทางชีวภาพนะคะ เรื่องนี้เปลี่ยนไปอีกไหมคะเมื่อเกิดโรคโควิด-19 เพราะตอนที่เกิดโรคไข้หวัดนกก็มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วครั้งหนึ่งอย่างที่คุณว่าไว้

 

คริสตี้:            ดิฉันคิดว่ามันทำให้คนทั่วไปได้ตระหนักว่าคุณสามารถควบคุมได้แค่สิ่งที่เกิดขึ้นในสถานที่หนึ่งๆ เท่านั้น ซึ่งความปลอดภัยทางชีวภาพก็เป็นเช่นนั้นล่ะค่ะ คือคุณควบคุมได้แค่สิ่งที่เกิดขึ้นตรงนั้นเท่านั้นเอง ดิฉันเคยได้ยินหลายคนพูดว่า “พวกนี้นั่งรถมาทำงานด้วยกันอยู่แล้ว แค่มายืนชิดกันในโรงงานแค่นี้ จะไปบอกให้เขาใส่หน้ากากได้ยังไงล่ะ” ดิฉันจึงบอกไปว่า “คุณไปควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นนอกพื้นที่ไม่ได้ก็จริง แต่คุณต้องควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นในที่ของคุณให้ได้” นี่ล่ะค่ะ ความปลอดภัยทางชีวภาพ เพราะความปลอดภัยทางชีวภาพก็คือการควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานที่หนึ่ง ซึ่งหมายรวมถึงมนุษย์ด้วย และเป็นการตรวจสอบให้แน่ใจว่าทั้งสัตว์และคนปลอดภัยด้วยกันทั้งหมด

 

มิเชล:              คุณบอกว่ามีหลายคนเข้ามาถามคุณเรื่องโรคโควิด-19 โดยเฉพาะเลยใช่ไหมคะ คนกลุ่มนี้เขารู้สึกอย่างไรบ้างคะ แสดงอารมณ์แบบไหน หรือคิดอะไรอยู่ในขณะนี้

 

คริสตี้:            คำตอบมีหลากหลายมากเลยค่ะ มันน่าสนใจตรงที่ได้เห็นว่าแต่ละคนมีปฏิกิริยาอย่างไรกับเรื่องนี้ค่ะ ฉันเคยเห็นมาแล้วทุกรูปแบบตั้งแต่ “ตายแล้ว ฉันติดโคโรนาแล้ว ตายแน่ๆ” ทั้งตื่นตระหนกไปจนถึงเศร้าใจ หรือถึงขั้น “นี่มันเรื่องโกหกชัดๆ จัดการให้มันจบๆ ไปสักทีเถอะ”

 

มิเชล:              ดิฉันขอให้พวกเราได้กลับมาใช้ชีวิตวิถีใหม่ทั่วโลกกันในเร็ววันนะคะ ไม่ว่าจะเป็นวิถีแบบไหนก็ตาม คุณคริสตี้ ขอให้แข็งแรงปลอดภัยนะคะ ขอบคุณมากค่ะที่มาร่วมพูดคุยกับเราในวันนี้

 

คริสตี้:            ขอบคุณที่เชิญมานะคะ

 

มิเชล:              ถ้าต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เข้าไปที่เว็บไซต์ alltech.com

Loading...