Skip to main content

โปรแกรมความปลอดภัยทางชีวภาพของสุกรจำเป็นต้องครอบคลุมถึงความปลอดภัยของอาหารสัตว์หรือไม่?

โปรแกรมความปลอดภัยทางชีวภาพแบบครบวงจรถือเป็นด่านหน้าเพื่อป้องกันฟาร์มสุกรให้ปลอดจากภัยคุกคามและความเสี่ยงภายนอก เนื้อหาต่อไปนี้จะพูดถึงบทบาทของโภชนาการที่มีต่อความยั่งยืนของห่วงโซ่อาหาร รวมถึงวิธีการลดความเสี่ยงของโรคติดเชื้อไวรัสในประชากรสุกรทั่วโลก

ในระหว่างการเสวนาในงาน ONE Idea Conference ของออลเทค ดร. แบร์รี เคอร์แคร์ท ประธานบริษัท Pipestone Management, ดร. สก็อตต์ ดี ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยประยุกต์ Pipestone Veterinary Services และ ดร. จอน เดอ จอง ประธานบริษัท Pipestone Nutrition ได้เล่าถึงเรื่องราวการระบาดของโรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (PED) ในฟาร์มของพวกเขาที่ทำให้เกิดการค้นพบอันน่าทึ่งเกี่ยวกับวิถีการติดต่อของโรคและแนวทางสำหรับป้องกันปัญหาดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

 

อาหารสัตว์คือพาหะของการแพร่ไวรัส

บุคลากรในแวดวงปศุสัตว์และเกษตรกรรมคงพอจะทราบกันดีว่า ความสำเร็จของเกษตรกรนั้นขึ้นอยู่กับสุขภาพของสัตว์เป็นหลัก ดังนั้น เมื่อฟาร์มต้องเผชิญกับโรคภัยต่างๆ เช่น โรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจ (PRRS) หรือ PED ผู้เลี้ยงจึงมีหน้าที่ต้องลงมือสืบหาสาเหตุของการระบาดและยับยั้งการแพร่ระบาดนั้นให้ยุติลง

เมื่อโรค PED เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาในปี 2013 ในระยะแรกนั้นดูเหมือนจะไม่มีความเชื่อมโยงใด ๆ ระหว่างฟาร์มที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นที่ตัวของสัตว์เอง การขนส่ง หรือสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ จึงเกิดการตั้งคำถามว่าสาเหตุใดที่ทำให้ไวรัสแพร่กระจายตัวได้อย่างรวดเร็ว ต่อมาในช่วงต้นปี 2014 ฟาร์ม 4 แห่งภายใต้การดูแลของ Pipestone ได้ประสบกับปัญหาโรคระบาดพร้อมๆ กันภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นของการสอบสวน ที่นำไปสู่การค้นพบว่าอาหารสัตว์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแพร่เชื้อไวรัสเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ความเชื่อมโยงกับโรงงานอาหารสัตว์

การตรวจสอบโรงงานอาหารสัตว์จัดเป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการตรวจสอบอย่างละเอียดของ Pipestone ขณะที่พวกเขาตรวจสอบหาสาเหตุของการแพร่กระจายของ PED ภายในฟาร์มที่มีอาณาบริเวณตัดขาดจากพื้นที่ภายนอก ก็พบว่าทั้ง 4 ฟาร์มได้รับอาหารสัตว์ล็อตเดียวกันจากโรงงานอาหารสัตว์แห่งเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ฟาร์มแห่งอื่นๆ ที่ใช้อาหารสัตว์จากโรงงานเดียวกัน แต่ล็อตการผลิตที่ต่างกัน กลับไม่พบโรคระบาด การค้นพบครั้งนี้ทำให้ Pipestone ได้ตัดสินใจลงมือศึกษาบทบาทของอาหารสัตว์ที่มีต่อการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างจริงจัง จากการสังเกตและรวบรวมข้อมูลของ ดร. สก็อตต์ ดี และทีมสัตวแพทย์และนักโภชนาการของ Pipestone ได้ข้อสรุปทันทีว่าอาหารสัตว์เป็นปัจจัยที่มีส่วนต่อการแพร่ระบาดของไวรัสในฟาร์ม โดยข้อมูลนี้ถือเป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของวงการสัตวแพทย์ที่ทดลองแล้วพบว่ามีการแพร่กระจายของ PED เกิดขึ้นผ่านอาหารสัตว์

7 ปีต่อมา ผลการศึกษาใหม่ๆ ชี้ให้เห็นว่าไวรัสชนิดอื่นๆ เช่น PRRS, โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF), โรคปากและเท้าเปื่อย (FMD), อหิวาตกโรคในสุกร หรือโรคอหิวาต์สุกรคลาสสิก (CSF) และเชื้อไวรัสเซเนกา (SVA) สามารถดำรงชีวิตในอาหารสัตว์ได้เช่นกัน อีกทั้งชี้ให้เห็นหลักฐานเพิ่มเติมว่าส่วนผสมในอาหารสัตว์เป็นพาหะที่แพร่กระจายเชื้อโรคทั้งภายในประเทศและในระดับโลก (Dee et al., 2018)

ค่าเสียหายจากการระบาด: ความเสียหายทางการเงินและบุคลากร

หากพูดถึงการระบาดในฟาร์มแม่สุกรของพวกเขา Pipestone ได้พิจารณาถึงค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ในฟาร์ม รวมถึงค่าเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปลายน้ำ คาดว่าในแต่ละครั้งที่เกิดโรค PRRS ในฟาร์มซึ่งมีแม่สุกรอยู่ประมาณ 5,400 ตัวได้นั้น จะทำให้เกิดค่าเสียหายราว 1.5 ล้านดอลลาร์ ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดความเสี่ยง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมความปลอดภัยทางชีวภาพนั้น คิดเป็นประมาณ 0.30–0.40 ดอลลาร์ต่อสุกรหลังหย่านมหนึ่งตัว

เมื่อผมคำนวณตัวเลขสำหรับการลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อผ่านทางอาหารสัตว์ เราต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 0.30 ดอลลาร์ต่อสุกรหย่านมหนึ่งตัวต่อปี หากเราสามารถป้องกันไม่ให้เกิด PRRS ระบาดผ่านอาหารสัตว์เพียงแค่ครั้งเดียวใน 22 ปี ก็จะถือว่าเป็นจุดคุ้มทุนของค่าผลิตภัณฑ์ที่เราจ่ายไป” ดร. เดอ จอง อธิบายถึงที่มาว่าทำไมจึงตัดสินใจใช้ผลิตภัณฑ์ที่ลดความเสี่ยงในอาหารสัตว์ได้อย่างไม่ต้องคิดมาก “ผมคิดว่า เราสามารถลดการเกิดการระบาดได้แน่นอน อย่างน้อยหนึ่งครั้งในรอบ 20 ปี โดยใช้ผลิตภัณฑ์ที่ลดความเสี่ยงในอาหารสัตว์แบบเฉพาะเจาะจงสำหรับช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงสูงของปี ช่วงที่มินนิโซตาและเซาท์ดาโคตามีอากาศเย็น”

อย่างไรก็ตาม ค่าเสียหายทางการเงินซึ่งเกิดจากการระบาดของโรคถือเป็นความเสียหายเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เมื่อวางแผนจัดการกำจัดความเสี่ยงของโรคระบาด ผู้เลี้ยงสุกรต้องตัดสินใจโดยคำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยของสุกรเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องความยั่งยืนก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เช่น ประเด็นเรื่องพนักงานในด้านสุขภาพและทัศนคติของพวกเขา ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้พวกเขาอยากมาทำงานทุกวัน เมื่อสัตว์ไม่แข็งแรง ขวัญกำลังใจของทีมก็แย่ลง และอาจส่งผลให้อัตราการลาออกของพนักงานสูงขึ้น และยิ่งทำให้เกิดผลเสียมากขึ้นนั่นเอง

ความปลอดภัยทางชีวภาพเริ่มต้นที่ความปลอดภัยของอาหาร

อาหารสัตว์ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของโรคในฟาร์มได้ใช่หรือไม่? คำตอบคือใช่ แต่หากถามว่าอาหารสัตว์จัดเป็นพาหะอันดับต้นๆ หรือเป็นสาเหตุเพียงอย่างเดียวใช่หรือไม่? คำตอบคือไม่ แต่ไม่ว่าอย่างไร อาหารสัตว์ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมความปลอดภัยทางชีวภาพที่เราจำเป็นต้องคำนึงถึงและพิจารณา แม้ปัจจัยอื่นๆ ก็มีส่วนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไม่แพ้กัน แต่แผนความปลอดภัยทางชีวภาพแบบครบวงจรถือเป็นสิ่งสำคัญที่ฟาร์มสามารถทำได้เพื่อปกป้องสัตว์เลี้ยงในฟาร์มให้ปลอดจากภัยคุกคามและความเสี่ยงภายนอก และการสร้างความปลอดภัยในอาหารสัตว์ก็คือแนวป้องกันด่านหน้านั่นเอง

ดูการเสวนาฉบับเต็มจากการงาน Alltech ONE Ideas Conference คลิกที่นี่

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:

Dee, S. A., Bauermann, F. V., Niederwerder, M. C., Singrey, A., Clement, T., de Lima, M., & Petrovan, V. (2018). Survival of viral pathogens in animal feed ingredients under transboundary shipping models. PloS one, 13(3), e0194509. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0194509

Loading...