Skip to main content

วิธีปกป้องสัตว์ของคุณจากโรคไข้หวัดนก

ไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีก (Avian influenza: AI) แพร่กระจายผ่านทางการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อหรือผ่านอาหารสัตว์ น้ำ อุปกรณ์ และเสื้อผ้าที่ปนเปื้อน

ปัจจุบันมีรายงานว่าโรคไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีก (หรือไข้หวัดนก) กำลังปะทุขึ้นมาใหม่อีกครั้งทั่วโลก โดยในหลายประเทศและภูมิภาคต่างๆ ในเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือได้มีการยืนยันเคสผู้ป่วยติดเชื้อ HPAI สายพันธุ์ H5N1 แล้ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรสัตว์ปีกทั้งในเชิงพาณิชย์และตามธรรมชาติ ในปีนี้มีสัตว์ปีกที่ถูกกำจัดแล้วกว่า 31 ล้านตัวจากความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้โรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ปัจจุบันแพร่ระบาดในวงกว้างกว่าที่เป็นอยู่

ในบทความนี้ คุณจะได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสัญญาณและอาการของโรคไข้หวัดนก แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก รวมถึงการดำเนินการที่แนะนำให้ปฏิบัติ และช่องทางต่างๆ อันเป็นที่พึ่งเมื่อตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกในฝูงสัตว์ของคุณ

สัญญาณและอาการของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก

ไข้หวัดนกคือโรคหนึ่งที่เกิดขึ้นจากไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ซึ่งติดเชื้อได้ทั้งนกป่าและนกบ้าน ปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกมีหลายประการ เช่น รูปแบบการบินของนกอพยพ การค้าระหว่างประเทศ และจุดที่มีการสัมผัสข้ามกันระหว่างมนุษย์และนกป่า ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นจะพบไข้หวัดนกได้ง่ายกว่า เนื่องจากไวรัสสามารถปรับตัวได้ดีในอุณหภูมิต่ำจนถึงจุดเยือกแข็ง

ไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีกในเชิงคลินิกสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่ ชนิดก่อโรครุนแรง หรือ highly pathogenic (HP) และชนิดก่อโรคไม่รุนแรง หรือ low-pathogenic (LP) ไข้หวัดนกสายพันธุ์ HP สามารถแพร่กระจายในฝูงสัตว์ปีกได้อย่างรวดเร็วและอาจทำให้อวัยวะหลายส่วนล้มเหลวและมีระดับการตายเฉียบพลันสูง ส่วนไข้หวัดนกสายพันธุ์ LP ทำให้เกิดการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ โรคทางระบบทางเดินหายใจ และ/หรือผลผลิตตกต่ำลง

อาการที่แสดงถึงไข้หวัดนกในสัตว์ปีกได้แก่:

  • สัตว์เสียชีวิตกะทันหันโดยไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ
  • เหนียงคอ หงอน และขาเปลี่ยนเป็นสีม่วง
  • ส่วนหัว เปลือกตา หงอน เหนียงคอ และข้อเท้าบวม
  • ไข่เปลือกนิ่มหรือเสียรูป
  • ผลผลิตไข่ลดลง
  • ไม่มีแรง ไม่อยากอาหาร และไม่เข้าฝูง
  • ท้องเสีย
  • น้ำมูกไหล
  • ไอหรือจาม
  • ขนตั้งพอง

 

วิธีการป้องกันโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก

ไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีกแพร่กระจายผ่านทางการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อหรือผ่านอาหารสัตว์ น้ำ อุปกรณ์ และเสื้อผ้าที่ปนเปื้อน ดังนั้น ความปลอดภัยทางชีวภาพคือวิธีป้องกันขั้นแรกที่สำคัญที่สุดในระดับฟาร์ม

สำหรับผู้ผลิตสัตว์ปีก การที่จะป้องกันมิให้ไวรัสแพร่เข้ามาสู่ฝูงสัตว์ของตนนั้นต้องปฏิบัติดังนี้:

1. ลดสิ่งที่ดึงดูดสัตว์ป่า:

  • กำจัดแหล่งน้ำนิ่ง:
    • ปรับพื้นให้เรียบเสมอกันเพื่อไม่ให้น้ำขัง
    • หลีกเลี่ยงการลากหรือเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ใกล้กับน้ำขังที่มีสัตว์ป่ามาใช้ดื่มกิน
  • ลดแหล่งอาหาร:
    • อย่าให้อาหารแก่สัตว์ป่า
    • วางภาชนะอาหารบนแผ่นรองที่สะอาด
    • ทำความสะอาดพื้นที่จัดเก็บอาหารสัตว์
    • ถางหญ้าบ่อยครั้งและกำจัดผลไม้ที่ตกจากต้น
  • ปิดคลุมขยะ:
    • อย่ากองวัสดุรองพื้นที่ใช้แล้วไว้ใกล้ยุ้งข้าว
    • ปิดฝาถังขยะให้สนิท
    • ปิดคลุมซากสัตว์

2. ป้องกันการเข้าถึงของสัตว์ป่า: 

ติดตั้งตาข่ายกันนก ม่าน และสิ่งกีดขวางการลงเกาะของนก เช่น เจลไล่นกหรือหนามกันนก

3. เพิ่มสิ่งกีดขวางสัตว์ป่า: 

เคลื่อนย้ายและเปลี่ยนอุปกรณ์ขับไล่บ่อยครั้ง

4. ดูแลสัตว์ของเราให้ห่างจากบริเวณที่มักพบนกป่า: 

นำสัตว์ของคุณเข้าโรงเลี้ยงในช่วงที่มีความเสี่ยงสูง หากไม่สามารทำได้ โปรดดูแลไม่ให้นกป่าเข้าถึงอาหารและแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ของคุณ

5. คลุมหลังคาให้พื้นที่ล้อมรั้ว: 

ป้องกันนกบ้านที่อาจสัมผัสกับนกป่า เช่น สัตว์ปีกกลุ่มย่อยที่ปล่อยเดินอิสระในพื้นที่ล้อมรั้วกลางแจ้ง

6. ควบคุมมนุษย์และอุปกรณ์ในการเข้าถึงโรงเรือนสัตว์ปีก: 

หากในพื้นที่มีนกป่าติดเชื้ออาศัยอยู่ ให้ลดการเคลื่อนย้ายมนุษย์ ยานพาหนะ หรืออุปกรณ์เข้าออกจากที่อยู่สัตว์ เปลี่ยนชุดก่อนและหลังสัมผัสกับสัตว์ของคุณ และให้ผู้มาเยือนปฏิบัติเช่นเดียวกัน

7. รักษาสุขอนามัยของสถานที่ โรงเรือน อุปกรณ์ ยานพาหนะ และรองเท้า: 

ฆ่าเชื้อเป็นประจำ สำหรับเจ้าของสัตว์ปีกเชิงพาณิชย์ ให้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรงเรือนเมื่อจบวงจรการผลิตในแต่ละรอบ ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังสัมผัสกับสัตว์ปีก

8. หลีกเลี่ยงการนำสัตว์ปีกตัวใหม่ที่ยังไม่ทราบสถานะโรคเข้าฝูง: 

รับสัตว์ปีกจากแหล่งที่มาที่สามารถตรวจสอบได้ว่าปราศจากโรคเท่านั้น จากนั้นให้กักสัตว์ใหม่เป็นเวลา 2 สัปดาห์ในส่วนที่แยกต่างหากเพื่อความมั่นใจว่าสัตว์แข็งแรงดี

9. รายงานกรณีการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของสัตว์ปีก: 

ติดต่อสัตวแพทย์หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ และการดำเนินการอย่างฉับไวจะช่วยปกป้องสัตว์ปีกฝูงอื่นๆ ในพื้นที่ได้หากมีการยืนยันโรค

10. กำจัดมูลสัตว์และสัตว์ปีกที่ตายแล้วอย่างเหมาะสม:

ปฏิบัติตามแนวทางการลดจำนวนประชากรสัตว์และวิธีกำจัดในท้องถิ่น

11. คอยเฝ้าระวังอยู่เสมอ: 

อย่างน้อยที่สุด ให้ปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยการเฝ้าระวังฝูงสัตว์สำหรับเกษตรกรผู้เพาะพันธุ์สัตว์และเกณฑ์วิธีการตรวจสอบในพื้นที่ของคุณ

แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก

สำหรับโรคไข้หวัดนก ไม่อนุมัติหรือแนะนำให้ทำการรักษาด้วยาต้านไวรัส วิธีที่ดีที่สุดคือวางระบบเฝ้าระวังและปรับใช้มาตรการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพเพื่อป้องกันไวรัสชนิดนี้

แม้ว่าแต่ละประเทศมีเกณฑ์วิธีเกี่ยวกับโรคไข้หวัดนกโดยเฉพาะ แต่มาตรการโดยทั่วไปคือการกำจัดฝูงสัตว์ที่ติดเชื้ออย่างมีมนุษยธรรมและปลอดภัยและส่งเสริมการบังคับใช้มาตรการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพนั่นเอง

ในการกำหนดนโยบายกำจัดสัตว์ องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) แนะนำให้:

  • ทำลายสัตว์ที่ติดเชื้อและมีความเสี่ยงทั้งหมดอย่างมีมนุษยธรรม
  • กำจัดซากสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทั้งหมดอย่างเหมาะสม
  • เฝ้าระวังและติดตามสัตว์ปีกที่มีโอกาสติดเชื้อหรือมีความเสี่ยง
  • กักกันและควบคุมอย่างจริงจังในการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและยานพาหนะที่มีความเสี่ยงใดๆ
  • ขจัดการปนเปื้อนในสถานที่ติดเชื้ออย่างครอบคลุม 
  • เว้นระยะอย่างน้อย 21 วันก่อนจัดหาสัตว์ชุดใหม่มาทดแทน
  • ปฏิบัติตามแนวทางในท้องถิ่นและในประเทศอย่างครบถ้วน

การฉีดวัคซีนเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถใช้ร่วมกับวิธีควบคุมอื่นๆ การให้วัคซีนฉุกเฉินเพื่อลดอัตราการแพร่เชื้ออาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งนอกเหนือไปจากการกำจัดสัตว์ที่มีความเสี่ยง ซึ่งจะช่วยลดความอ่อนไหวของฝูงสัตว์สุขภาพดีที่มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสลงได้

หน่วยงานบริการตรวจสอบสุขภาพสัตว์และพืช (Animal and Plant Health Inspection Service: APHIS) ของ USDA ระบุว่า ขั้นตอนทั่วไปที่ต้องดำเนินการเมื่อเกิดความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโรคไข้หวัดนกมีดังนี้:

ค้นหา: ตรวจหา รายงาน และยืนยันโรค

การเฝ้าระวังสัตว์แต่ละฝูงอย่างใกล้ชิดเมื่อมีการระบาดของโรคไข้หวัดนกในพื้นที่โดยรอบเป็นสิ่งสำคัญ หากตรวจพบสัญญาณของไข้หวัดนก จำเป็นต้องแจ้งให้ USDA หรือสัตวแพทย์ประจำรัฐของคุณรับทราบโดยทันที จากนั้น USDA จะทำการทดสอบตัวอย่างเพื่อยืนยันว่ามีเคสที่ตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกเป็นค่าบวกหรือไม่ และจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสายพันธุ์และเกณฑ์วิธีติดตามผล

ตอบสนอง: กักบริเวณ ลดจำนวน ชดเชย และกำจัด

หากพื้นที่ดังกล่าวตรวจแล้วพบเชื้อไข้หวัดนกเป็นบวก ให้อนุญาตเพียงคนงานที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าออกสถานที่ได้ จำกัดการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีก และอุปกรณ์ทั้งหมดเพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนข้ามระหว่างฝูง ปกติแล้วสัตว์ปีกจะถูกลดจำนวนภายใน 24 ถึง 48 ชั่วโมงหลังตรวจพบเชื้อบวกและจะถูกกำจัดโดยเร็วหลังจากนั้น

ฟื้นตัว: ทำความสะอาด ทดสอบ และเติมสัตว์

เมื่อโรงเรือนว่างแล้ว คุณต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อให้ทั่ว พร้อมด้วยอุปกรณ์ใดๆ และบริเวณอื่นๆ ที่อาจติดเชื้อ จากนั้นต้องปล่อยทิ้งโรงเรือนให้ว่างไว้เป็นเวลานานกว่าปกติ ซึ่งระยะเวลาจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดสัตว์ปีก USDA จะทำการรวบรวมและทดสอบตัวอย่างเพื่อความมั่นใจว่าไวรัสไข้หวัดนกถูกกำจัดเรียบร้อยแล้ว และต้องปล่อยพื้นที่ว่างไว้ช่วงหนึ่งก่อนจะนำสัตว์ปีกชุดใหม่เข้ามา

รู้หรือไม่?

  • แม้ว่าโดยปกติแล้วไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ A จะไม่ติดต่อในมนุษย์ แต่ก็มีรายงานการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ในมนุษย์หลังการสัมผัสกับสัตว์ปีกติดเชื้อหรือพื้นผิวปนเปื้อนไวรัสไข้หวัดนกโดยไม่มีการป้องกัน ซึ่งพบได้ค่อนข้างยาก (CDC, 2560) 
  • H5N1 คือไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีกชนิดก่อโรครุนแรง (HPAI) ซึ่งอาจทำให้สัตว์ปีกและมนุษย์เสียชีวิตได้ โดยตรวจพบเคสในมนุษย์ครั้งแรกเมื่อปี 2540 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2546 เชื้อ H5N1 ได้คร่าชีวิตผู้ติดเชื้อไปมากกว่า 50% เลยทีเดียว (WHO, 2556)
  • ไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ถูกจัดอันดับโดยใช้เครื่องมือประเมินความเสี่ยงโรคไข้หวัดใหญ่ พบว่ามีศักยภาพสูงสุดในการก่อให้เกิดการระบาด รวมไปถึงน่าจะมีความเสี่ยงที่จะสร้างผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสาธารณสุขได้มากที่สุดหากมีการติดเชื้อจากคนสู่คนอย่างต่อเนื่อง
  • มนุษย์มักจะติดเชื้อผ่านทางการสัมผัสกับสัตว์ปีกติดเชื้ออย่างใกล้ชิด โดยสัตว์ปีกมักแพร่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ผ่านทางน้ำลาย มูล และเมือก ดังนั้น การสัมผัสกับมูลนกก็อาจเป็นช่องทางแพร่เชื้ออีกทางหนึ่ง
Loading...