Skip to main content

กลยุทธ์ด้านโภชนาการเพื่อรับมือกับปัญหาสุขภาพของสุกร

ดร. เฮนริก เซมิน (Henrique Cemin) นักโภชนาการสุกรอาวุโสแห่ง Hubbard Feeds มาร่วมพูดคุยถึงบทบาทของแหล่งสารอาหารเพื่อการดูแลสุกรป่วยที่งานประชุม Alltech ONE Conference 2022

ประเด็นเรื่องอัตราการตายของสุกร

อัตราการตายของสุกรถือเป็นหนึ่งในความท้าทายใหญ่ที่สุดที่อุตสาหกรรมสุกรต้องเผชิญอยู่ในทุกวันนี้ ข้อมูลจาก USDA (2015) ระบุว่าในสหรัฐอเมริกา อัตราการตายของสุกรหลังหย่านมเฉลี่ยอยู่ที่ 3.6% ในระยะอนุบาล และ 4.1% ในระยะรุ่น-ขุน เมื่อนำไปรวมกับอัตราการตายก่อนหย่านมเฉลี่ยที่ 10–15% แล้ว อัตราการตายรวมจะขึ้นมาอยู่ที่ 15–20% ซึ่งเรียกได้ว่าไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพอย่างมีนัยสำคัญในตัวระบบของเรา ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขหากเราต้องการสร้างผลกำไรและความยั่งยืนยิ่งขึ้นในอุตสาหกรรมนี้

ประเด็นแรกที่ต้องแก้ปัญหาคือ การทำความเข้าใจสาเหตุของการตาย ในโครงการพัฒนาความสามารถในการรอดชีวิตของสุกรโดย Gebhardt et al. (2020) ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของทีมจากมหาวิทยาลัย Iowa State, Kansas State และ Purdue ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่สุด และสังเกตได้ว่าสุกรส่วนมากตายด้วยโรคทางเดินหายใจ (เกิดจากต้นเหตุต่างๆ เช่น ไวรัส PRRS, ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A, เซอร์โคไวรัส และมัยโคพลาสมา ไฮโอนิวโมนิอี) ตามมาด้วยอาการท้องเสีย/ท้องร่วง (เกิดจากไวรัสอีโคไล, ไวรัส PED, โรตาไวรัส และอื่นๆ)

ภาพที่ 1 เปอร์เซ็นต์ของสาเหตุการตาย ดัดแปลงมาจากข้อมูลของ USDA ปี 2015 ที่มา: Gebhardt et al., 2020

เราได้พบว่ากลยุทธ์บางประการส่งผลเชิงบวกต่อความสามารถในการรอดชีวิตของสุกรอย่างมีนัยสำคัญ เครื่องมือการบริหารจัดการต่างๆ อย่างเช่น ความปลอดภัยทางชีวภาพ ระบบดูแลุสุกร ระบบควบคุมอุณหภูมิและระบายอากาศ ระบบให้น้ำและคุณภาพน้ำ ระบบทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ และการเพิ่มอายุหย่านม สามารถเปลี่ยนอัตราการตายและอัตราการกำจัดสุกรได้อย่างฉับพลัน (Main et al., 2005; Faccin et al., 2020; Gebhardt et al., 2020) นอกจากนั้น เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเช่น feed mitigant (Dee et al., 2021) การปรับไมโครไบโอม และสุกรตัดแต่งพันธุกรรม ก็ถือเป็นเครื่องมือที่มีอนาคตสดใสทีเดียว อย่างไรก็ตาม ในฐานะนักโภชนาการ เราต้องถามตัวเองว่า มีกลยุทธ์ใดบ้างหรือไม่ที่เราสามารถนำมาปรับใช้กับอาหารสัตว์ เพื่อช่วยบรรเทาความสูญเสียในด้านสมรรถภาพหรือลดจำนวนสุกรที่ลูกค้าของเราต้องเสียไปจากปัญหาใดๆ

โปรตีนหยาบในอาหารสุกรระยะอนุบาล

โปรตีนหยาบอาจเป็นเครื่องมือโภชนาการที่มีการวิจัยและเหมาะสมกับปัญหาลำไส้ในสุกรที่สุด เพราะสุกรเพิ่งหย่านมซึ่งมีอายุประมาณ 21 วัน จะมีความสามารถในการย่อยอาหารค่อนข้างจำกัด เนื่องจากระบบทางเดินอาหารถูกปรับไว้ให้เหมาะกับการย่อยนมโดยเฉพาะ เมื่อลูกสุกรได้รับอาหารที่มีโปรตีนหยาบสูงนอกเหนือจากตัวกระตุ้นความเครียดต่างๆ ในช่วงหย่านม ทำให้มีโอกาสสูงมากที่กระเพาะและลำไส้เล็กจะไม่สามารถย่อยโปรตีนดังกล่าวจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้อาหารเดินทางไปถึงช่วงลำไส้ใหญ่และอาจถูกใช้เป็นสารตั้งต้นเพื่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ด้วยเหตุนี้จึงอาจทำให้เกิดอาการท้องร่วง สมรรถภาพตกต่ำ อัตราการตายสูงขึ้น และจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะมากขึ้น

ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการให้อาหารที่มีโปรตีนหยาบไม่เกิน 18% สามารถ:

  • ลดปริมาณโปรตีนที่ถูกหมักไว้ในลำไส้ใหญ่และทำให้อุจจาระมีความหนืดดีขึ้น (Nyachoti et al., 2006; Htoo et al., 2007)
  • ลดอาการตอบสนองการอักเสบหลังจากติดเชื้ออีโคไล (Opapeju et al., 2010)
  • ลดจำนวนเชื้ออีโคไลในระบบทางเดินอาหาร (Opapeju et al., 2009)

สิ่งสำคัญคือการตระหนักว่าการให้อาหารที่มีปริมาณโปรตีนหยาบต่ำอาจส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพของสัตว์ อีกทั้งยังต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าสุกรได้รับกรดอะมิโนเพียงพอตามที่ต้องการ หากอาหารมีการกำหนดสูตรให้มีส่วนผสมของไลซีน ทรีโอนีน ทริปโตเฟน และวาลีนสังเคราะห์ กรดอะมิโนจำกัดตัวถัดมาควรเป็นไอโซลิวซีน แต่หากมีการใช้ไอโซลิวซีนสังเคราะห์แล้ว ฮิสทิดีนน่าจะกลายเป็นกรดอะมิโนจำกัดแทน ผลการวิจัยหนึ่งระบุว่า สุกรระยะอนุบาลต้องการฮิสทิดีน:ไลซีนประมาณ 32% (Cemin et al., 2018) ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าอาหารในระยะอนุบาลทั่วไปอาจมีปริมาณกรดต่ำกว่าค่าดังกล่าวนี้

อีกทั้งโปรตีนสำหรับการสังเคราะห์กรดอะมิโนที่ไม่จำเป็นก็อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นตัวจำกัด เราจึงต้องใช้สัดส่วนไลซีนต่อโปรตีนหยาบในซอฟต์แวร์กำหนดสูตรอาหารเพื่อให้เกิดความเข้าใจในอัตราส่วนการใส่กรดอะมิโนสังเคราะห์ให้มากที่สุด สุดท้ายคือ สุกรเป็นสัตว์ที่หากมีสมรรถภาพที่ตกต่ำตั้งแต่ระยะอนุบาล สุกรจะสามารถชดเชยสมรรถภาพนั้นในช่วงหลังๆ ของชีวิตได้อย่างน่าทึ่ง (Menegat et al. 2020) การให้อาหารที่มีปริมาณโปรตีนหยาบต่ำอาจส่งผลให้เจริญเติบโตช้าสักนิด แต่เมื่อให้เวลาและกำหนดสูตรอาหารอย่างเหมาะสมแล้ว ในระยะต่อๆ มา สุกรจะมีอัตราการเจริญเติบโตชดเชยที่ดีและอาจมีสมรรถภาพโดยรวมเข้าขั้นยอดเยี่ยมเลยทีเดียว

เส้นใยในโภชนาการสำหรับสุกร

โดยทั่วไปแล้ว คาร์โบไฮเดรตสามารถจัดหมวดหมู่เป็นคาร์โบไฮเดรตประเภทสะสมหรือคาร์โบไฮเดรตประเภทโครงสร้าง คาร์โบไฮเดรตประเภทสะสมมักจะหมายถึงแป้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สุกรสามารถย่อยได้ง่ายและพร้อมนำไปใช้เป็นแหล่งพลังงาน ดังนั้น เราจึงสามารถนิยามใยอาหารได้ว่าล้วนแล้วแต่เป็นคาร์โบไฮเดรตประเภทโครงสร้างทั้งหมด ซึ่งจะทนต่อการย่อย ทำให้ถูกหมักไว้ในระบบทางเดินอาหารส่วนท้าย (Kerr and Shurson, 2013) นอกจากนั้น เส้นใยอาหารยังสามารถจัดหมวดหมู่เพิ่มเติมได้ตามคุณลักษณะหลากหลายประการ เช่น ความหนืดและความสามารถในการหมัก แต่วิธีที่ใช้กันมากที่สุดที่ได้มีการพูดคุยกันในด้านโภชนาการสุกรคือดูจากความสามารถในการละลายในน้ำ

ใยอาหารที่ละลายน้ำจะถูกหมักในตัวสุกรอย่างรวดเร็วเพื่อผลิตกรดไขมันที่ระเหยได้ เช่น อะซีเตต โพรพิโอเนต และบิวทิเรต องค์ประกอบเหล่านี้สามารถใช้เป็นแหล่งพลังงานให้แก่เซลล์เอ็นเทโรไซต์ ทำให้เนื้อเยื่อบุผิวเพิ่มจำนวนขึ้น อีกทั้งยังให้ผลทางพรีไบโอติก โดยช่วยยกระดับการหมักของแบคทีเรียดี พร้อมลดค่า pH เพื่อกำจัดเชื้อโรคต่างๆ อย่างไรก็ตาม ใยอาหารละลายน้ำจะทำให้ความหนืดเพิ่มขึ้น ซึ่งกลับทำให้อัตราการไหลผ่านของอาหารลดลง จึงเอื้อให้เกิดการแบ่งตัวของเชื้อโรค ส่วนใยอาหารไม่ละลายน้ำจะทนทานต่อการหมักมากกว่า และไม่ได้มีบทบาทอันใดต่อการผลิตกรดไขมันระเหยง่ายอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ข้อดีหลักของใยอาหารไม่ละลายน้ำคือช่วยเพิ่มอัตราการไหลผ่านของอาหารในทางเดินอาหาร จึงป้องกันการแบ่งตัวของเชื้อโรคในระบบทางเดินอาหารได้ (Agyekum and Nyachoti, 2017)

เมื่อพิจารณาถึงแหล่งใยอาหารที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละแหล่ง ถ้าเช่นนั้นเราควรให้อาหารประเภทใดแก่สุกรที่เพิ่งหย่านม บางงานวิจัยระบุว่าใยอาหารละลายน้ำทำให้โอกาสเกิดอาการท้องร่วงในสุกรระยะอนุบาลเริ่มต้นเพิ่มสูงขึ้น (Pluske et al., 1998) อย่างไรก็ตาม เราต้องทราบว่าผลกระทบเชิงลบดังกล่าวนี้ขับเคลื่อนด้วยความหนืดที่เพิ่มขึ้นของอาหารในทางเดินอาหาร ไม่ใช่เพราะความสามารถในการหมักของใยอาหารละลายน้ำแต่อย่างใด ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่ามีการแนะนำให้ใช้ใยอาหารไม่ละลายน้ำมากกว่า โดยเฉพาะกับสุกรหย่านม (Molist et al., 2010) อย่างไรก็ดี บางรายงานกล่าวว่าการใช้ทั้งใยอาหารละลายน้ำและไม่ละลายน้ำอาจก่อให้เกิดปัจจัยเสริมผลกระทบมาก ตราบใดที่แหล่งใยอาหารละลายน้ำไม่ส่งผลหรือส่งผลต่อความหนืดเพียงเล็กน้อย (Wellock et al., 2007; Molist et al., 2014)

อาหารจากถั่วเหลืองเพื่อสุกรที่มีปัญหาสุขภาพ

ก่อนหน้านี้นักวิจัยได้ทำการพิสูจน์ผลกระทบจากอาหารจากถั่วเหลืองที่มีต่อสุกรติดไวรัส PRRS มาแล้วหลายกรณี (Johnston et al., 2010; Rocha et al., 2013; Rochell et al., 2015) ผลการศึกษาของนักวิจัยเหล่านี้เห็นพ้องกันว่า สุกรที่มีปัญหาไวรัส PRRS มีสมรรถภาพดีขึ้นและ/หรือปริมาณไวรัสในน้ำเหลืองลดลงเมื่อได้รับอาหารที่มีถั่วเหลืองในระดับสูง สาเหตุที่ส่วนผสมเหล่านี้ให้ผลดีนั้นยังไม่เป็นที่เข้าใจถ่องแท้ แต่หนึ่งในสมมติฐานเสนอว่าเพราะมีส่วนประกอบออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เช่น ไอโซฟลาโวนและซาโปนิน ส่วนประกอบเหล่านี้มีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์มากมาย เช่น คุณสมบัติต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ และต้านไวรัส (Smith and Dilger, 2018) เมื่อไม่นานมานี้ Smith et al. (2020) สังเกตเห็นว่าสุกรที่ติดเชื้อไวรัส PRRS ที่ได้รับไอโซฟลาโวนในระดับสูง มีอัตราการตายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อนำมาพิจารณารวมกัน ข้อมูลนี้ระบุว่าอาหารจากถั่วเหลืองหรือมีส่วนประกอบของถั่วเหลือง มีศักยภาพในการป้องกันโรคประมาณหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านระบบทางเดินหายใจ

ภาพที่ 2 อัตราการตายของสุกรติดเชื้อ PRRS ที่กำลังหย่านมซึ่งได้รับไอโซฟลาโวนในระดับสูง NEG = ชุดควบคุมผลลบ สุกรไม่ติดเชื้อ POS = สุกรติดเชื้อ ISF = สุกรติดเชื้อ + ไอโซฟลาโวน ที่มา: Smith et al. (2020)

กรดอะมิโนที่มีศักยภาพในอาหารสุกร

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าโรคสุกรอาจทำให้สารอาหารที่จะใช้ไปกับการเติบโตต้องถูกแบ่งสันปันส่วนไปให้กับระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานมากกว่าและต้องการพลังงานสูงกว่า อีกทั้งยังเป็นที่ตระหนักว่ากรดอะมิโนบางชนิดมีหน้าที่สำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน ด้วยเหตุนี้สัตว์จึงอาจมีความต้องการสารอาหารเพิ่มสูงขึ้นในระหว่างที่กำลังเผชิญปัญหาสุขภาพ กรดอะมิโนกลุ่มนี้เรียกว่าเป็นกรดอะมิโนที่มีศักยภาพ ตัวอย่างเช่น ทรีโอนีนถือเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของมิวซินในระบบทางเดินอาหาร (Wang et al., 2010) เมไทโอนีนเป็นโดเนอร์หมู่เมทิล และทริปโตเฟนมีผลต่อการตอบสนองต่อการอักเสบและเสริมสร้างหน้าที่การปกป้องตนเองของลำไส้ (Liang et al., 2018)

Rodrigues et al. (2021) ได้ทำการกระตุ้นสุกรระยะอนุบาลกลุ่มหนึ่งด้วยเชื้อซาลโมเนลลา และให้อาหารที่มีปริมาณโปรตีนหยาบต่ำหรือสูง พร้อมด้วยสัดส่วนกรดอะมิโนที่แตกต่างกัน 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) สัดส่วนควบคุม หรือ 2) สัดส่วนควบคุมที่มีทรีโอนีน เมไทโอนีน และทริปโตเฟนสูงขึ้น 20% ผู้ทำวิจัยสังเกตเห็นว่า ในสถานการณ์ที่ไม่มีปัญหาด้านสุขภาพ สมรรถภาพของสุกรจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนกรดอะมิโนที่มีศักยภาพแต่อย่างใด ในทางกลับกัน เมื่อสุกรติดเชื้อซาลโมเนลลา สุกรกลุ่มที่ได้รับกรดอะมิโนที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น มีสมรรถภาพดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าระดับโปรตีนจะเป็นเท่าใดก็ตาม ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า สุกรที่มีปัญหาสุขภาพได้ประโยชน์จากสัดส่วนกรดอะมิโนบางประเภทที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าจะต้องศึกษากันต่อไปกับเชื้อโรคชนิดอื่นและขั้นตอนการเจริญเติบโตก็ตาม

ภาพที่ 3 สมรรถภาพของสุกรที่ได้รับกรดอะมิโนที่มีศักยภาพในสัดส่วนที่สูงขึ้นระหว่างที่ติดเชื้อซาลโมเนลลา ดัดแปลงมาจาก Rodrigues et al., 2021

เครื่องมือในฟาร์ม

ในโครงการพัฒนาความสามารถในการรอดชีวิตของสุกร Wensley et al. (2021) ได้ทำการทดลองหลายต่อหลายครั้งเพื่อระบุและวัดระดับประโยชน์ของเครื่องมือในฟาร์ม ผู้วิจัยได้ประเมินการให้อาหารสุกรบนแผ่นรอง (mat feeding) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ทำโดยกระจายอาหารปริมาณน้อยลงบนแผ่นรองใกล้ที่ใส่อาหารสัตว์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นการกินอาหารของสัตว์ จากการใช้กลยุทธ์นี้นาน 10 วันหลังการหย่านม ผลที่ได้คืออัตราการตายและการกำจัดสัตว์ในระยะอนุบาลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การศึกษาที่สองจัดทำขึ้นเพื่อประเมินผลการให้อาหารเลียราง (creep feeding) ซึ่งก็คือการให้อาหารเสริมแก่ลูกสุกรในขณะที่ยังอยู่กับแม่ ผู้วิจัยพบว่าอัตราการตายและอัตราการกำจัดสุกรระยะอนุบาลโดยรวมพัฒนาดีขึ้นจากการให้อาหารเลียรางเป็นเวลา 4 วันก่อนหย่านม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากให้อาหารที่มีลักษณะเป็นเม็ดขนาดใหญ่ การศึกษาทั้งสองครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าการใช้เครื่องมือง่ายๆ ก็มีประสิทธิภาพในการปรับปรุงอัตราการตายของสุกร แม้จะจำเป็นต้องพิจารณาถึงแรงงานที่ต้องเพิ่มเข้ามาเพื่อการปรับใช้กลยุทธ์นี้อย่างถูกต้องก็ตาม

สรุป

อัตราการตายของสุกรถือเป็นปัญหาใหญ่ในอุตสาหกรรมของเรา โดยถือเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนซึ่งต้องพึ่งความรู้จากหลายสาขาวิชาและการดำเนินการร่วมกัน และต้องพิจารณาถึงสุขภาพของสุกร การบริหารจัดการ โภชนาการ และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ในฐานะนักโภชนาการ เรามีเครื่องมือให้เลือกใช้มากมาย แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องเข้าใจและทำการประเมินระดับโปรตีนหยาบ การใช้ประโยชน์จากใยอาหาร ประโยชน์ที่เป็นไปได้ของอาหารจากถั่วเหลือง และการใช้กรดอะมิโนที่มีศักยภาพในระดับสูงขึ้นเสียใหม่ นอกจากนั้นยังควรพิจารณาถึงกลยุทธ์ที่ใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ เช่น การให้อาหารบนแผ่นรองและการให้อาหารเลียรางด้วย สุดท้ายคือ เราต้องพิจารณาว่าแต่ละระบบมีความเฉพาะตัวกับแต่ละปัญหา นักโภชนาการจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนโซลูชั่นต่างๆ ให้เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์

 

Loading...