Skip to main content

บทสัมภาษณ์ ดร. ฟิลลิป ไลออนส์ Global manager for Aquaculture จาก ออลเทค ไอร์แลนด์

 

ดร. ฟิลลิป ไลออนส์ ดำรงตำแหน่งผู้จัดการระดับโลกด้านการวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของ Alltech โดยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาชีววิทยาน้ำจืดและทะเลประยุกต์จาก Galway-Mayo Institute of Technology ในไอร์แลนด์ ปริญญาโทและปริญญาเอกสาขาโภชนศาสตร์สัตว์น้ำจากมหาวิทยาลัย Stirling ในสก็อตแลนด์ ปริญญาเอกของ ดร. ไลออนส์ เน้นศึกษาผลกระทบจากปัจจัยด้านอาหารที่มีต่อโครงสร้างและการทำงานของไมโครไบโอมในลำไส้ของปลาในกลุ่ม Salmonid ที่เพาะเลี้ยงในฟาร์ม เมื่อสำเร็จการศึกษาในปีค.ศ. 2016 ดร. ไลออนส์ได้ย้ายไปที่ประเทศเนเธอร์แลนด์เพื่อเข้าร่วมทีมวิจัยและพัฒนาของ Alltech Coppens (ออลเทค คอปเปนส์) ในตำแหน่งนักวิจัยด้านโภชนาการ ต่อมาในปีค.ศ. 2018 จึงได้ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้จัดการระดับโลกด้านการวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของ Alltech บทบาทหน้าที่ของเขาใน Alltech คือการพัฒนา ดำเนินงาน และประสานงานโครงการวิจัยด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำระดับโลกของบริษัทฯ ปัจจุบัน ดร. ไลออนส์ประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่สาขายุโรปของ Alltech ที่เมือง Dunboyne ประเทศไอร์แลนด์

 

คุณเลือกมาทำงานในด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและโภชนศาสตร์สัตว์น้ำได้อย่างไร?

จากการที่ผมเติบโตขึ้นในไอร์แลนด์ ทำให้มีโอกาสได้ใช้เวลาอยู่กลางแจ้งบ่อยๆ และทะเลสาบในภาคกลางและทางตะวันตกของไอร์แลนด์ก็ทำให้ผมเกิดความหลงใหลในด้านวาริชศาสตร์ (การศึกษาเกี่ยวกับชลทรัพยากร) ผมได้เรียนรู้การตกปลาด้วยเหยื่อแมลงปลอมและการดำน้ำลึกตั้งแต่ยังเด็กมากๆ ซึ่งนั่นเป็นตัวจุดประกายให้ผมเกิดความสนใจในชีววิทยาของปลาอย่างมาก ผมจึงศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในไอร์แลนด์ ต่อด้วยระดับบัณฑิตศึกษาที่มหาวิทยาลัย Stirling ในสก็อตแลนด์ ผลงานศึกษาและงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาที่ได้ทำมาทำให้ผมมีความรู้ถึงระดับที่ว่าโภชนาการประเภทใดช่วยสนับสนุนชีววิทยาของสัตว์ได้ทุกด้าน และการที่ได้อ่านงานของเหล่าอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมของเราอย่าง ดร. รอน ฮาร์ดี (Ron Hardy), ดร. อัลเบิร์ต ทาคอน (Albert Tacon), ดร. ไซมอน เดวีส์ (Simon Davies), ดร. โยฮัน ชรามา (Johan Schrama) และ ดร. เบรทท์ เกลนครอส (Brett Glencross) เป็นแรงบันดาลใจให้ผมในเรื่องนี้จริงๆ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงตัดสินใจเลือกทำงานด้านโภชนศาสตร์สัตว์น้ำ เนื่องจากเล็งเห็นว่านี่เป็นโอกาสอันดีที่จะเชื่อมโยงความหลงใหลที่ผมมีต่อการวิจัยและวิทยาศาสตร์เข้ากับโอกาสในการสร้างความแตกต่างที่ประเมินค่าได้ในด้านวิธีการเพาะเลี้ยงปลาให้แข็งแรง อันจะเป็นการสร้างความมั่นใจในความมั่นคงทางอาหารเพื่อคนรุ่นหลังครับ ซึ่งในด้านโภชนศาสตร์สัตว์น้ำนี้ ผมรู้สึกว่าเราเพิ่งได้แตะหัวข้อการวิจัยและพัฒนาแบบประยุกต์และพื้นฐานแบบผิวเผินเท่านั้นเอง โดยเฉพาะเมื่อเราเปรียบเทียบโภชนศาสตร์สัตว์น้ำกับของพวกสัตว์กระเพาะเดี่ยวและสัตว์เคี้ยวเอื้องเป็นต้น สายพันธุ์ปลามีมากมายและหลากหลายมาก โดยแต่ละสายพันธุ์ก็มีสรีระ ความต้องการด้านโภชนาการ และระบบสืบพันธุ์ที่แตกต่างกันไป และความหลากหลายตรงนี้นี่แหละที่ทำให้การวิจัยและพัฒนาในด้านนี้น่าตื่นเต้นยิ่งขึ้นไปอีก เราได้ค้นพบความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่องและการนำความรู้ใหม่ที่ว่านั้น มาปรับให้เป็นวิธีการแก้ปัญหาเพื่อลูกค้าของเรา ก็เป็นอะไรที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากครับ

 

บริษัท Alltech มีพัฒนาการในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและอาหารปลาอย่างไรบ้างในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้?

ถึงแม้ว่าแต่เดิม Alltech จะเน้นที่โภชนศาสตร์สัตว์กระเพาะเดี่ยวและสัตว์เคี้ยวเอื้อง แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เราก็ได้พัฒนาขึ้นในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยความรวดเร็วอย่างน่าทึ่ง นวัตกรรมหลักของเราคือการหมักยีสต์ และเทคโนโลยีสารเสริมอาหารสัตว์ที่เราได้พัฒนาขึ้นจากกระบวนการนี้ เช่น Biomos, Actigen และ แร่ธาตุอินทรีย์ Bioplex ส่งผลให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพปลาในฐานลูกค้าของเราทั่วโลกอย่างมหาศาล ในปี 2016 และ 2017 เราได้เข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารปลาด้วยการเข้าซื้อกิจการบริษัทผู้ผลิตอาหารปลา 2 แห่ง อันได้แก่ Coppens International ในเนเธอร์แลนด์และ Guabi ในบราซิล ซึ่งเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญสำหรับเรา เนื่องจากเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นในแวดวงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อย่างเช่น Alltech Coppens ปัจจุบัน ทำให้เรามีศูนย์วิจัยระดับโลกในเนเธอร์แลนด์ พร้อมระบบเพื่อการวิจัยด้านโภชนศาสตร์สัตว์น้ำประยุกต์ถึง 8 ระบบ เพื่อให้เราเป็นแนวหน้าในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ ส่วนสำนักงานใหญ่ของเราในเมืองเล็กซิงตัน สหรัฐอเมริกา เราก็ยังมีศูนย์วิทยาศาสตร์ชีวภาพที่ทุ่มเทศึกษาด้านโภชนพันธุศาสตร์ (Nutrigenomics) โดยเฉพาะ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจว่าสารเสริมอาหารจะช่วยส่งเสริมสุขภาพสัตว์ในระดับยีนได้อย่างไร ความสามารถที่เราต้องนำมาผนวกรวมกับองค์ประกอบเชิงประยุกต์และพื้นฐานของโภชนศาสตร์สัตว์ในธุรกิจของเรานั้น จึงเป็นจุดแข็งที่สำคัญของบริษัทเรา ดังนั้น Alltech จึงได้พัฒนาเติบโตในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จากบริษัทที่เน้นเพียงสารเสริมอาหารอย่างเดียว มาสู่บริษัทที่เน้นโภชนาการรอบด้าน โดยรูปแบบการวิจัยที่เราได้พัฒนาขึ้นเพื่อสะท้อนถึงพัฒนาการนี้ เป็นตัวบ่งบอกได้ว่าเราคือผู้นำเสนอแนวทางด้านโภชนาการประยุกต์ที่ไม่มีใครเทียบได้ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาอันเร่งด่วนที่สุดที่อุตสาหกรรมนี้อาจกำลังประสบอยู่

 

อะไรคือ 3 สิ่งที่คุณมองว่าได้รับการแก้ปัญหา สำหรับโภชนศาสตร์สัตว์น้ำ และเพราะสาเหตุอะไร?

ให้เลือกแค่ 3 อย่างก็ยากเหมือนกันนะครับ! โภชนศาสตร์สัตว์น้ำมีตัวแปรต่างๆ มากมายซึ่งผมคิดว่าเราต้องจัดลำดับความสำคัญกันสักหน่อย อย่างไรก็ตาม อย่างแรกคือ ผมคิดว่าความรู้ของพวกเราเกี่ยวกับการสันดาปพลังงานในปลาหลากหลายสายพันธุ์ยังสามารถก้าวหน้าไปได้มากกว่านี้ เมื่อเร็วๆ นี้ เราเพิ่งพัฒนาโมเดลชื่อ Net Energy สำหรับปลาเทราต์ขึ้นมา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรมนี้ และโมเดลที่ว่านี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐาน สำหรับวิธีการกำหนดสูตรอาหารสัตว์สำหรับสายพันธุ์นั้น ๆ ผมเชื่อว่าโมเดลแบบนี้สามารถนำไปปรับใช้กับปลาสายพันธุ์อื่นๆ ได้ ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ควรได้รับการศึกษาต่อไปอีกในอนาคตต่อจากความรู้ด้านโภชนศาสตร์สัตว์กระเพาะเดี่ยวที่พัฒนาขึ้น เพราะการพัฒนาโมเดลในลักษณะนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเราเห็นแล้วว่าในอนาคตเราต้องมีความยืดหยุ่นมากเพียงใดในการเลือกวัตถุดิบที่จะใช้ในอาหารปลาอย่างมีความรับผิดชอบ เนื่องจากวัตถุดิบต่างๆ ที่เราใช้อยู่นั้น อาจมีความยากง่ายในการหาได้ไม่เหมือนเดิม อย่างที่สองคือ ผมคิดว่าความน่ากินและปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อปริมาณการกินอาหารของปลาหลายสายพันธุ์ ยังมีการศึกษาน้อยกว่าที่ควรและมีความเข้าใจผิดๆ อยู่มาก ซึ่งเป็นอะไรที่น่าประหลาดใจมากเมื่อพิจารณาดูว่าปริมาณอาหารที่สัตว์กินเข้าไปนั้นมีบทบาทมากเพียงใดต่อสมรรถภาพของสัตว์ การพัฒนาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับผลจากการใช้สารเสริมอาหารหรือวัตถุดิบต่างๆ ที่มีต่อปริมาณอาหารที่สัตว์ที่กินเข้าไป จะเป็นก้าวที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมในแง่ของวิธีการใช้ส่วนผสมอาหารเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพอาหารสัตว์และสมรรถภาพในฟาร์ม อย่างสุดท้ายคือ ผมต้องขอบอกว่าทั้งอุตสาหกรรม เรายังมีอะไรที่ต้องศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีหาปริมาณและบริหารจัดการความสูญเปล่าจากการผลิตในระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอีกมาก ทั้งความสามารถในการหาปริมาณและลักษณะมูลที่มีคุณภาพ และความเชื่อมโยงระหว่างการสูญเสียสารอาหารที่ย่อยไม่ได้ และผลกระทบต่อระบบไบโอฟิลเตอร์ ดังนั้น สุขภาพปลาในระบบการผลิตจะเพิ่มประสิทธิภาพของฟาร์มอย่างค่อนข้างน่าพอใจ และผมยังมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ควรพัฒนาความรู้ให้มากขึ้นอีกด้วยครับ

 

ผลกระทบที่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมคือประเด็นที่เป็นที่กล่าวถึงในช่วงนี้ บริษัทของคุณกำลังทำอะไรบ้างในประเด็นนี้ครับ?

บริษัทของเราสร้างขึ้นด้วยวิสัยทัศน์ ACE ของ ดร. เพียร์ส ไลออนส์ (Pearse Lyons) เมื่อ 40 ปีที่แล้ว หลักการ ACE มาจากวิสัยทัศน์ที่ว่าผลิตภัณฑ์ของเราควรช่วยส่งเสริมสุขภาพสัตว์ (Animal) ผู้บริโภค (Consumer) และสิ่งแวดล้อม (Environment) ดังนั้น เรื่องความยั่งยืนจึงเป็นหัวใจหลักของบริษัทของเราเสมอ วันนี้ วิสัยทัศน์ดังกล่าวนั้นได้พัฒนากลายเป็น “Planet of Plenty” ซึ่งเป็นแนวทางแก่ธุรกิจของเราในทุกทาง ด้วยการนำแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีและยั่งยืนขึ้นมาใช้ทั่วทั้งอุตสาหกรรมโภชนศาสตร์สัตว์ สำหรับ Alltech เรามองหาพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน และเราได้พัฒนาให้เกิดการร่วมมือกันที่แข็งแกร่งกับบริษัทต่างๆ จำนวนมากเพื่อต่อยอดแนวคิดนี้ไปอีกไกล จากการที่เราโฟกัสด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยเฉพาะ เมื่อเร็วๆ นี้ เราจึงได้พัฒนาโปรแกรมหนึ่งขึ้นมา ซึ่งไม่ได้พูดถึงหัวข้อความยั่งยืนในภาพกว้างเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อตรวจวัดอย่างแม่นยำว่าวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์สำเร็จรูปของเรามีความยั่งยืนเพียงใด ดังนั้น ใน Alltech Coppens จึงได้พัฒนาระบบจัดอันดับอาหารสัตว์ทุกชนิดของเราตามดัชนีความยั่งยืนที่วัดค่าได้ ตามข้อมูลที่ได้จากการประเมินวงจรชีวิตของวัตถุดิบที่แตกต่างกันจากฐานข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลจาก Global Feed LCA Institute (GFLI) พร้อมด้วยฐานข้อมูลภายในและภายนอกอื่นๆ ที่ปรับให้เหมาะสมตามลักษณะพิเศษของธุรกิจเรา อาหารสัตว์แต่ละประเภทที่เราผลิตขึ้นมาถูกปรับแก้ให้ได้ค่า FCR ตามที่คาดไว้ ซึ่งเป็นการเพิ่มมิติให้แก่ระบบการให้คะแนนและทำให้ปรับใช้กับลูกค้าของเราในฟาร์มได้ด้วย เราจะพัฒนาระบบการให้คะแนนนี้ต่อไปเรื่อยๆ เมื่อเราได้ข้อมูลส่วนผสมต่างๆ ที่เราใช้ไปอย่างละเอียดเพิ่มเติมจาก LCA พร้อมกับข้อมูลที่เราได้จากศูนย์ชีววิทยา โรงงานผลิต และจากการร่วมมือกับลูกค้าและผู้ผลิตวัตถุดิบของเรา

 

การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำระบบน้ำหมุนเวียน (Recirculation farming) มีแนวโน้มที่จะได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภคมากกว่าการเพาะเลี้ยงปลาในบ่อ แม่น้ำ หรือชายฝั่งหรือไม่ เรามีเทคโนโลยีที่จะรักษาระบบน้ำหมุนเวียนอย่างไม่มีขีดจำกัดไหม?

ผมคิดว่าคำถามนี้เจาะจงเฉพาะตลาดแต่ละภูมิภาคและสายพันธุ์มากเลยนะครับ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า RAS (การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำระบบน้ำหมุนเวียน) มีข้อดีกว่าระบบอื่นๆ อย่างมากในหลายๆ กรณีในแง่ของความสามารถในการควบคุมคุณภาพน้ำและสุขภาพสัตว์น้ำ เราเชื่อมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยี RAS สำหรับการทำฟาร์มปลาหลากหลายสายพันธุ์ เช่น แซลมอน เทราต์ ปลาดุกแอฟริกา และสเตอร์เจียน และเราได้พัฒนาฐานความรู้อย่างละเอียดในการผลิตอาหารสำหรับการเลี้ยงระบบ RAS สำหรับสายพันธุ์ต่างๆ ขึ้นในแผนกอาหารสัตว์ของเรา ผมเชื่ออย่างหนักแน่นว่า RAS จะเติบโตต่อไป แต่อาจจะมีแนวโน้มที่พัฒนาให้สอดคล้องไปกับรูปแบบการผลิตปลาแบบดั้งเดิมที่เหมาะสมกับภูมิศาสตร์เฉพาะทางและสภาพตลาดในแต่ละภูมิภาค อุตสาหกรรมนี้กำลังเรียนรู้วิธีที่ดีที่สุดในการทำระบบ RAS ขนาดใหญ่ และตื่นเต้นที่จะได้เห็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและได้ถูกนำไปปรับใช้กับสัตว์น้ำสายพันธุ์ต่างๆ เพิ่มขึ้น อีกทั้งผมยังเชื่อว่าการนำ big data มาใช้ในการวิเคราะห์ รวมถึงการมอนิเตอร์ด้วยกล้องและเซ็นเซอร์ในฟาร์มที่พัฒนาขึ้น จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อการเติบโตของ RAS ทั่วโลกครับ

Loading...